เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ชมรมผู้ป่วยโรคไต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ได้จัดการเสวนาเรื่อง "การเกิด พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข จะทำให้หมอถูกฟ้องอาญาจริงหรือ" ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 5 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
โดยมี นส.บุญยืน สิริธรรม จากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เข้าร่วมในการเสวนาครั้งนี้ โดยได้มีการออกแถลงการณ์เพื่อแสดงเจตนารมย์ ในการยืนยันกฏหมายคุ้มครองผู้ป่วยที่เสียหาย เพื่อการลดการฟ้องร้องแพทย์ ดังนี้
"เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ชมรมผู้ป่วยโรคไต เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) ยืนยัน "ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข " ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้า (เดือนสิงหาคมนี้) เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ โดยจะช่วยไม่ให้เกิดการฟ้องแพทย์ เพราะคนไข้ที่ได้รับความเสียหายได้รับการชดเชยจากความเสียหายที่เกิดขึ้น
ดังนั้นผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากกฏหมายฉบับนี้ คือ คนไทยทั้งประเทศ 65 ล้านคน ซึ่งรวมทั้งแพทย์และผู้ป่วย ที่ผ่านมา มีข่าวและความเห็นที่สร้างความเข้าใจผิดในสาระสำคัญอย่างมากซึ่งอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อกลุ่มแพทย์และสาธารณชนโดยรวม ทั้งนี้ กฏหมายฉบับนี้ มีหลักการสำคัญ 3 ประการคือ
กองทุนชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข เพื่อลดการฟ้องร้องระหว่างแพทย์และคนไข้ที่ครอบคลุมผู้รับบริการในทุกสิทธิการรักษา เพราะเป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั่วโลกว่า ความผิดพลาดทางการแพทย์ (Medical Error) นั้น สามารถเกิดขึ้นได้
คณะกรรมการกลาง และสำนักงานที่เป็นอิสระ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการ ให้มีองค์ประกอบจากผู้แทนสถานพยาบาล และผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานคุ้มครองสิทธิด้านบริการสุขภาพ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้แทนจากสมาคมวิชาชีพหรือสภาวิชาชีพ เพราะบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมการ คือการพิจารณาว่าเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับบริการสาธารณสุขจริงหรือไม่ โดยไม่ได้พิสูจน์ถูกผิด และไม่เกี่ยวพันกับการสอบสวนหรือลงโทษโดยสภาวิชาชีพ เพื่อให้การชดเชยเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรม และต้องใช้หัวใจของความเป็นมนุษย์
พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานระบบบริการสาธารณสุขในประเทศไทยปัญหาเรื่องความกังวลในเรื่องการฟ้องอาญาแพทย์นั้น หากดูจากข้อเท็จจริงไม่พบว่ามีคนไข้ที่อยากฟ้องอาญาแพทย์
จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งหมด 33 ราย ในปี 2552 ผู้ป่วยทั้ง 100 % ไม่มีความประสงค์จะฟ้องอาญาแพทย์ หรือจากข้อมูลของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ที่มีผู้เสียหายเข้ามาปรึกษากว่า 600 ราย มีเพียงไม่ถึง10 ราย ที่จำเป็นต้องฟ้องอาญา เพราะการพิจารณาคดีโดยแพทยสภาล่าช้า จนทำให้เกิดปัญหาการหมดอายุความของคดี ผู้เสียหายอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องเลือกฟ้องเพื่อทำให้อายุความเพิ่มขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้การฟ้องร้องส่วนใหญ่ เป็นการฟ้องร้องโรงพยาบาลหรือกระทรวงสาธารณสุข ไม่ใช่การฟ้องแพทย์แต่อย่างใด ดังนั้นแพทยสภา ควรเปิดเผยข้อมูลการร้องเรียนที่ชัดเจน ไม่ใช่การสร้างความตระหนกให้เกิดในหมู่แพทย์โดยที่ไม่มีข้อมูลและข้อเท็จจริง
เครือข่ายประชาชนข้างตน ขอตั้งข้อสังเกตว่า การต่อต้าน "ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข " และขบวนการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนขณะนี้ ที่มีการเคลื่อนไหวเป็นระบบอย่างผิดปกตินั้น มีความเกี่ยวเนื่องกับการหาเสียงเลือกตั้งแพทยสภาชุดใหม่ที่กำลังจะมีขึ้นในต้นปีหน้าหรือไม่
นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนข้างต้น ยังขอให้สาธารณชนจับตาและตรวจสอบการคัดค้านการจ่ายเงินสมทบของโรงพยาบาลเอกชนนั้น เกี่ยวพันกับการที่โรงพยาบาลไม่ต้องการเปิดเผยรายได้ที่แท้จริงหรือไม่
สุดท้าย เครือข่ายประชาชน ขอเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจในการปฏิรูปการเมืองและสังคม ด้วยการผลักดัน "ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข" ฉบับนี้ เพราะนี่คือรูปธรรมของการปฏิรูปสังคมที่แท้จริง
ผศ.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข กล่าวว่าสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัตินี้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนไทยทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่ได้รับความเดือดร้อนจากการรักษาพยาบาล โดยกล่าวว่า กระบวนการฟ้องอาญาแพทย์ไม่ได้เกิดมาจากสาระสำคัญซึ่งภาคประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อน และนักกฎหมายคณะกรรมการกฤษฎีกาบางคน ก็ได้ให้ความเห็นว่านี่คือสิทธิพื้นฐานของประชาชนในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย การฟ้องอาญาเป็นเรื่องที่สามารถทำได้อยู่แล้วโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มารองรับแต่อย่างใด และไม่มีผู้ป่วยคนใดที่ต้องการฟ้องแพทย์อย่างแน่นอน แต่หากทำไปเพราะเกิดจากสถานภาพจำยอม
เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมนอกศาลซึ่งก็คือแพทยสภา ซึ่งผู้ป่วยคาดหวังว่าจะสามารถพึ่งพาได้อย่างเป็นธรรมและรวดเร็ว ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องทำการฟ้องอาญาเพื่อที่จะคงสภาพของอายุความไว้
แพทยสภาในปัจจุบันนี้ควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นนี้ให้มากขึ้น โดยที่ไม่จำเป็นต้องกังวลต่อการที่ผู้ป่วยจะมาทำการฟ้องร้อง แต่นำความผิดพลาดมาพัฒนาระบบความปลอดภัยให้ผู้ป่วย บุคลากรทางสาธารณสุขในปัจจุบันเป็นที่พึ่งของประชาชนโดยแท้จริง การออกมาแสดงความเชื่อหรือไม่เชื่อในสิ่งที่รับฟังนั้นควรใช้วิจารณญาณ เนื่องจากปัจจุบันเรามีร่างกฏหมายจำนวน 7 ฉบับ ซึ่งรอการพิจารณาจากสภา บุคลากรจึงจำเป็นต้องศึกษาสาระสำคัญด้วยตนเอง และไม่เอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง"
นส.สุภัทรา นาคะผิว กล่าวว่า การมีหรือไม่มีกฏหมายฉบับนี้ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นในเรื่องของการฟ้องคดีอาญากับแพทย์แต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้ เราเคยมีกองทุนลักษณะนี้ในมาตรา 41 พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นกองทุนที่ถูกจัดตั้งขึ้นในเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ
เจตนารมย์หลักของกฏหมายฉบับนี้ คือการขยายการคุ้มครองผู้เสียหายที่ไปรับบริการทางสาธารณสุขให้ไปถึงผู้ที่อยู่ในกองทุนอื่นด้วย เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งนั่นหมายถึงคนไทยทั้งหมด จะได้รับประโยชน์จากกองทุน
โดยพบว่าปัญหาของกองทุนในมาตรา 41 ที่มีผู้ร้องเรียนนั้น ได้รับการชดเชยเป็นจำนวนเงินประมาณ 73 ล้านบาท ความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์จากการได้ข้อมูลที่ผิดนั้น ไม่ได้เกิดจากภาคประชาชนเพื่อหวังที่จะให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ให้มากขึ้น และแพทย์จะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลประโยชน์จากกฏหมายฉบับนี้
ส่วนสิทธิในการฟ้องร้องคดีอาญาหรือคดีในทางแพ่งอื่นๆ เป็นสิทธิของประชาชนทุกคนที่ได้รับความเสียหายอยู่แล้ว นอกจากนั้นกฏหมายฉบับนี้ยังต้องการที่จะให้มีการคุ้มครองแบบย้อนหลัง โดยคนที่มีปัญหาฟ้องร้องกับแพทย์และต้องการใช้สิทธิในกองทุนนี้ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ในกรณีที่ย้อนหลังไป 120 วัน ซึ่งจะช่วยลดคดีความต่างๆในศาลด้วย
นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา กล่าวว่า การใช้กฏหมายเดิมมาแก้ไขปัญหา ไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งสองฝ่าย บุคลากรทางการแพทย์เกิดความตระหนกและหวั่นไหว ในขณะที่ทางผู้ป่วยถูกปิดกั้นหนทางในการแสวงหาความยุติธรรมในทุกรูปแบบ จึงมีการเคลื่อนไหวเพื่อขอให้รัฐบาลหาทางแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด
จนกระทั่งอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล ณ สงขลา ได้ส่งให้มีการยกร่างฉบับนี้ ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มเครือข่ายฯเท่านั้นที่เป็นผู้ร่างกฏหมาย แต่ประกอบด้วยหน่วยงานหลายภาคส่วน โดยผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการแพทยสภาก็ได้เข้าร่วมด้วยทุกครั้ง แต่ก็ยังออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแคลงใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนี่คือทางออกเดียวของคนไข้ ซึ่งคงไม่มีความสามารถในการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาได้แน่นอน ส่วนสาเหตุที่ทางเครือข่ายต้องอกมาทำการเรียกร้อง เกิดจากสาเหตุ อาทิ
- หน่วยงานต่างๆมักจะดึงเวลา จนหมดอายุความทางแพ่ง จึงจำเป็นต้องแจ้งความเพื่อนำเอาอายุความที่ยาวกว่ามาใช้การฟ้องร้องคดีแพ่ง
- การเจรจาใช้เวลาในการไกล่เกลี่ยนานเกินไป และไม่สามารถเจรจาจบได้ในครั้งเดียว ซึ่งทำให้ความคับแค้นใจก่อตัวเพิ่มขึ้น การมีพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยลดระยะเวลาความเจ็บป่วยของผู้ป่วย ลดแรงปะทะระหว่างสถานบริการทางการแพทย์และผู้รับบริการ โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีข้อดีในการชดเชยความเสียหายไม่เพียงเฉพาะตัวเงินเท่านั้น แต่เป็นการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
เนื่องจากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนเรื่องคดีอาญานั้น ก็แทบจะไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด โดยเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จะยุติบทบาทในทันที หากพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะไม่มีการฟ้องร้องแพทย์และไม่มีการรวมตัวเคลื่อนไหวอีกต่อไป เนื่องจากไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนใดๆให้สังคมอีก หากกลุ่มใดต้องการเรียกร้อง ก็ควรจะทำการเคลื่อนไหวในสภา ซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)