เลขา สปสช.โต้ ระบบบัตรทองไม่ใช่ปมปัญหาจ่ายยาเกิน อัดเละระบบราชการแบบปลายเปิดเอื้อต่อการใช้งบสั่งจ่ายยาสูง ด้านหลักฐานการวิจัยชี้ชัด ไทยใช้เงินซื้อยาพุ่ง 1.8 แสนล้านบาท
วันนี้ (2 ก.ค.) นพ.วินัย สวัสดิถาวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่สมาคมผู้วิจัยและผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า (PReMA) กล่าวถึงปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็นนั้น อาจเกิดจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ของ สปสช.ที่ดูแลคนไทยส่งผลให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ความจริงแล้วระบบการเงินหรือการคลัง ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทองนั้น มีการใช้รูปแบบงบเหมาจ่ายรายหัวให้แก่หน่วยบริการ ดังนั้นย่อมไม่เอื้อต่อการที่แพทย์จะสั่งจ่ายยาแก่ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกินความจำเป็นได้อย่างแน่นอน เนื่องจากต้องมีการบริหารและควบคุมงบประมาณในการสั่งจ่ายยาให้มีประสิทธิภาพภายใต้งบประมาณที่ได้รับ ดังนั้น ที่พรีม่าออกมากล่าวอ้างนั้น จึงไม่เป็นความจริง สำหรับระบบการจ่ายเงินในสวัสดิการข้าราชการนั้น สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ โดยสามารถนำหลักฐานการเข้าใช้บริการรวมทั้งใบเสร็จมาเบิกค่าใช้จ่ายกับกรมบัญชีกลางได้ในภายหลังซึ่งส่วนนี้เป็นการเอื้อให้แพทย์สามารถสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็นได้ เพราะไม่มีระบบการเงินการคลังควบคุมไว้ เนื่องจากเป็นระบบปลายเปิด ปัญหาดังกล่าวสะท้อนถึงระบบข้าราชการที่กำลังมีปัญหาอย่างชัดเจน ทั้งงบประมาณที่พุ่งสูงขึ้นและการจ่ายยาเกินจำเป็น
“อย่างไรก็ตาม ระะบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยังคงเน้นการสร้างสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วย การส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับการรักษาพยาบาลเมื่อยามต้องซ่อมสุขภาพ จึงขอให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพของตัวเอง” นพ.วินัย กล่าว
นพ.วินัย กล่าวต่อว่า เนื่องจากประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอกับประชากร จึงส่งผลให้ผู้ป่วยล้น รพ.และต้องรอคิวนาน ดังนั้นหากไม่เจ็บป่วยจริงๆ ไม่มีประชาชนอยากมา รพ.เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะได้พบหมอ แม้ไม่ต้องเสียเงินในการเข้ารับบริการก็ตาม แต่ประชาชนซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้น้อย ก็ต้องจ่ายค่าเดินทางมาเอง ทั้งนี้เชื่อว่าแต่สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น คือ ประเทศไทยยังไม่มีระบบข้อมูลสารสนเทศที่ชัดเจนในการกำกับการสั่งจ่ายยาของแพทย์ตามความจำเป็น จึงทำให้กลยุทธ์การส่งเสริมการขายยาของบริษัทยาสามารถดำเนินการไปได้อย่างดี
ทั้งนี้ จากรายงานการวิจัย พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีการบริโภคยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2543 คนไทยมีค่าใช้จ่ายเฉพาะด้านยาทั้งสิ้นประมาณ 100,000 ล้านบาท และปี 2548 เพิ่มเป็นกว่า 186,000 ล้านบาทหรือร้อยละ 42.8 ของรายจ่ายด้านสุขภาพทั้งหมด
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)