เขียนโดย เภสัชกร สมชาย ละอองพันธุ์ ผู้ประสานงานวิชาการศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา
ปัญหาผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิมีสถานการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้น ตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เน้นแบบบริโภคนิยม ดังจะเห็นได้ว่าสถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคผ่านหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคต่างๆที่เพิ่มสูงขึ้น2 แนวคิดการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคส่งผลต่อประสิทธิผลของงานคุ้มครองผู้บริโภค โดยในอดีตที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐมักจะยึดถือตัวบทกฎหมายที่แตกต่างกันเพื่อประกอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค อันส่งผลต่อการทำงานที่ขาดมิติและการบูรณาการงานระหว่างหน่วยงาน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าการใช้วิธีการทำงานที่กำหนดกรอบงานหรือคำสั่งการจากบนสู่ด้านล่าง(Top-to-Down)ไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภคจึงมีแนวคิดการถ่ายโอนภารกิจงานคุ้มครองผู้บริโภคแก่หน่วยงานระดับท้องถิ่นอันเป็นหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับผู้บริโภคและสภาพปัญหามากที่สุดและน่าจะสามารถดำเนินการแก้ปัญหาได้
ภาพรวมระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่หลากหลาย
1.ระบบคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ
1.1มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคตามแนวทางของสหประชาชาติ
- การคุ้มครองผู้บริโภคจากอันตรายที่มีผลต่อสุขภาพและความปลอดภัย
- การส่งเสริมและคุ้มครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค
- การเข้าถึงข้อมูลที่เพียงพอของผู้บริโภค
- การให้การศึกษาแก่ผู้บริโภค
- การจัดให้มีการชดเชยแก่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ
- การมีสิทธิและเสรีภาพที่จะจัดตั้งกลุ่มหรือองค์กรของผู้บริโภค
- การส่งเสริมแบบแผนการบริโภคที่ยั่งยืน
1.2 มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคของกลุ่มประเทศยุโรป
มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคแบ่งออกได้ 2 มาตรการ คือ
มาตรกำกับการก่อนที่สินค้าจะเข้าสู่ตลาด (Pre-market Control Measure) และมาตรการกำกับหลังจากที่สินค้าเข้าสู่ตลาดแล้ว (Post-market Control Measure)
สำหรับมาตรการกำกับก่อนที่สินค้าจะเข้าสู่ตลาด (Pre-market Control Measure) นั้น ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานจริยธรรม (Code of Conduct) ของผู้ประกอบการ และการกำหนดมาตรฐาน (Standard) ของกระบวนการผลิตและมาตรฐานของสินค้าที่จะผลิตขึ้น ซึ่งบังคับให้ผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดเท่านั้น
เทคนิคในการกำหนดมาตรฐานสินค้านั้นแบ่งออกได้เป็น 2 เทคนิค คือ
-การกำหนดมาตรฐานสินค้าตามประเภทของสินค้า (by item) และการกำหนดมาตรฐานสินค้ากลาง (general standard) สำหรับการกำหนดมาตรฐานสินค้าตามประเภทของสินค้าจะทำให้รัฐหรือหน่วยงานกำหนดมาตรฐานเอกชนต้องทำงานตลอดเวลาเนื่องจากสินค้านั้นมีจำนวนมาก และเป็นการดำเนินงานในลักษณะกำหนดมาตรฐานหลังจากที่มีการผลิตสินค้านั้นขึ้นแล้ว แต่การกำหนดมาตรฐานสินค้ากลางจะลดภาระดังกล่าวได้มาก ทั้งยังกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าไปในตัว ตัวอย่าง มาตรฐานกลางที่ใช้กันอยู่ เช่น EU Directive on Product Safety (1995) ที่กำหนดว่าสินค้าที่จะวางจำหน่ายในท้องตลาดได้ต้องเป็นสินค้าที่ปลอดภัยเท่านั้น (Only safe product can be placed on the market) เป็นต้น
ส่วนมาตรการหลังจากที่สินค้าเข้าสู่ตลาดแล้ว (Post-market Control Measure) นั้น แยกเป็นการควบคุมระบบการจัดจำหน่าย (Supply chain) การตรวจสอบคุณภาพของสินค้า (Product Quality Control) การให้ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าอย่างถูกต้องและพอเพียง (Product Information, Labeling) การควบคุมการโฆษณา การคุ้มครองอิสระในการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค การเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า (Compensation) และการเรียกคืนสินค้าที่ไม่ปลอดภัยคืนจากผู้บริโภค (Product Recall Measure)
ในด้านการค้าระหว่างประเทศ มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคมีผลอย่างสำคัญต่อความเชื่อถือของผู้บริโภค เพราะหากมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศเป็นที่ยอมรับในระดับโลก ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศย่อมมั่นใจในคุณภาพของสินค้าที่ผลิตขึ้น อันเป็นผลดีต่อภาคการผลิตและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศโดยตรง
1.3 ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย
เป็นระบบที่เน้นดำเนินนโยบายที่จะควบคุมหรือให้มีการควบคุม วิธีการกระบวนการ และมาตรฐานของผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้โฆษณา เพื่อเกิดความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าหรือบริการ การป้องกันอันตราย และพิทักษ์ประโยชน์ของผู้บริโภคโดยบทบาท (Function) ของระบบคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ ต้องทำให้ผู้บริโภคได้รับความปลอดภัยต่อสุขภาพจากการบริโภคสินค้าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีองค์ประกอบ หรือกลไกที่สำคัญอยู่ 5 องค์ประกอบดังนี้
1) การควบคุมกำกับและดูแลก่อนที่ผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาด (Pre-marketing Control)
เป็นการดำเนินงาน ควบคุม กำกับ และดูแลการผลิตผลิตภัณฑ์ ยา เครื่องสำอาง วัตถุอันตราย วัตถุเสพติด และเครื่องมือทางการแพทย์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และมีความปลอดภัยในการบริโภค โดยผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการขออนุญาตเกี่ยวกับสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ และข้อมูลข่าวสารที่จะโฆษณา หรือเผยแพร่ให้กับผู้บริโภค และสาธารณชนตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสินค้า หรือผลิตภัณฑ์จะได้รับการพิจารณา ทั้งด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริโภค
2)การติดตามตรวจสอบและกำกับเมื่อผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดแล้ว (Post-marketing Control)
เป็นการติดตามตรวจสอบ (Monitoring Control) เพื่อให้ผู้ประกอบการปฏิบัติในการผลิตสินค้าโฆษณาให้บริการและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง ไม่เบี่ยงเบนไปจากที่ได้รับการอนุญาตไว้ โดยการสุ่มตรวจสถานที่ผลิตสินค้าเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการตรวจสอบคุณภาพของสถานที่และอุปกรณ์ที่ใช้ สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดส่งตรวจวิเคราะห์เพื่อตรวจวิเคราะห์ถึงคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย และตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ผ่านทางสื่อโฆษณาทุกประเภท ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
3) การเฝ้าระวังความปลอดภัย (Surveillance Program for Consumer Safety)
เป็นการเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันปัญหา หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบริโภค โดยดำเนินการศึกษาและรายงานข้อมูลทางด้านระบาดวิทยา รวมทั้งข้อมูลสถิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยการดำเนินการเองและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การจัดตั้งศูนย์ติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ การจัดตั้งศูนย์ประสานงานว่าด้วยความปลอดภัยด้านเคมีวัตถุ การประเมินความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพจากสารเคมีตกค้าง และการเฝ้าระวังความปลอดภัยในผักสดปลอดสารพิษ การเฝ้าระวังและควบคุมการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ ณ ด่านอาหารและยา และการเฝ้าระวังความปลอดภัยและควบคุมคุณภาพของอาหาร โดยหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ (Mobile Units) เป็นต้น
4) การเผยแพร่ความรู้ และพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน(Consumer Education) รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพของผู้บริโภค (Consumer Empowerment)
การใช้มาตรการควบคุม หรือบังคับใช้กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ไม่อาจบรรลุเป้าหมายที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงจำเป็นต้องให้ประชาชนรู้จักพิทักษ์ประโยชน์ของตน โดยต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตื่นตัวในการรู้จักเลือกซื้อ และให้สามารถแยกแยะได้ว่า สิ่งใดเป็นประโยชน์ต่อการบริโภค สิ่งใดทำให้เกิดโทษและเกิดความสิ้นเปลือง รวมทั้งตระหนักถึงการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานในกลไกนี้อาจสามารถทำได้ โดยการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้สู่ประชาชนผ่านทางสื่อต่าง ๆ ทั้งเอกสารวิชาการ ข่าวสาร บทความ รายการทางสื่อวิทยุและโทรทัศน์ และโครงการรณรงค์ รวมทั้งผ่านเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครูฝึกที่ได้รับการอบรมแล้ว และกลุ่มนักเรียนที่เป็นอาสาสมัคร (อย. น้อย)
5) การส่งเสริมและประสานงานทางวิชาการ และความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น(Technical Support and Cooperation with Other Agencies)
เป็นการดำเนินงานทางวิชาการ เพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมให้คุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ในความรับผิดชอบทุกประเภทดียิ่งขึ้น การดำเนินงานในกลไกนี้ สามารถทำได้โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการยกระดับมาตรฐานการผลิตของอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยใช้หลักการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร เช่น วิธีปฏิบัติที่ดีในการเกษตร (Good Agricultural Practice: GAP) สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเล ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์บก และไร่นาสวนป่า หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) และระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (Hazard Analysis and Critical Control Points: HACCP) สำหรับโรงงานผลิตอาหารแปรรูป โรงฆ่าสัตว์ และสถานที่ปรุง ประกอบ และจำหน่ายอาหาร เป็นต้น การส่งเสริมให้มีการนำความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในอุตสาหกรรมภายในประเทศ การส่งเสริมให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรในองค์การคุ้มครองผู้บริโภค และการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น การจัดประชุม อบรม สัมมนาวิชาการ รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันพิจารณาข้อกำหนด กฎระเบียบ และมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร ยา และเครื่องสำอาง
แนวคิดการการกระจายอำนาจและการถ่ายโอนภารกิจในงานคุ้มครองผู้บริโภค
1.พระราชบัญญัติการกระจายอำนาจ พ.ศ. 2542
หลังจากได้มีการปรับปรุงระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างภาครัฐ ประชาชนและท้องถิ่น ภารกิจให้หลายด้านจากหลายกระทรวง กรม ได้ถูกกำหนดให้เป็นภารกิจถ่ายโอน โดยใช้เวลาและความพร้อมเป็นกรอบใหญ่ในการถ่ายโอนภารกิจโดยจะกำหนดประเภทภารกิจที่จะถ่ายโอนดังนี้คือ
1) ภารกิจที่ทำเลือกโดยอิสระ
2) ภารกิจที่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ
โดยภารกิจด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคจะไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าจัดเป็นภารกิจประเภทใด ซึ่งทำให้หน่วยงานส่วนท้องถิ่น จึงกำหนดให้เป็นประเภทภารกิจที่เลือกทำโดยอิสระและพยายามแทรกการทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคบางเนื้องานเข้าไปเกี่ยวข้องกับภารกิจที่ต้องทำ เช่น งานด้านสุขาภิบาลที่เกี่ยวข้องกับดูแลตลาด พิทักษ์สิทธ์ผู้บริโภคในตลาดโดยตรวจสารปนเปื้อน รับข้อร้องเรียน เป็นต้น แต่การดำเนินงานจะทำได้มากน้อยเพียงใดมีตัววัดความสำเร็จของการถ่ายโอนอย่างไรยังไม่ได้มีการกำหนดไว้ในเรื่องนี้
2.การถ่ายโอนภารกิจในงานคุ้มครองผู้บริโภค
2.1การถ่ายโอนภารกิจงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตามแผนปฏิบัติการขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้กำหนดกรอบภารกิจที่จะถ่ายโอนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังนี้
1)การผลิตสื่อ และหรือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสารด้านอาหารและยา
2)การเสริมสร้างศักยภาพผู้บริโภค ความรู้ในการบริโภค และเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรม
3)การสร้างและขยายเครือข่าย การมีส่วนร่วมในงานคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสาธารณสุข (คบส.) ของผู้บริโภคในท้องถิ่น
4)การตรวจสอบติดตามคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ในสถานที่จำหน่ายตามที่ระบุใน พ.ร.บ.แต่ละประเภท
ในการถ่ายโอนภารกิจให้แก่เทศบาลนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้มีกิจกรรมที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 โดยมีการอบรมเทศบาลนครและเทศบาลเมือง และได้ขยายผลในการเตรียมความพร้อมองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อรองรับการกระจายอำนาจด้านอาหาร ในปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือ เรื่อง การถ่ายโอนภารกิจงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพกับเทศบาลเมืองท่องเที่ยว 8 แห่ง ได้แก่ เมืองพัทยา เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองป่าตอง เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร และเทศบาลตำบลเกาะสมุย อีกทั้งได้มีการจัดอบรมเทศบาลทุกระดับ เรื่อง การตรวจสอบฉลากอาหาร ณ สถานที่จำหน่าย โดยภายหลังการอบรมเจ้าหน้าที่เทศบาลได้มีการฝึกปฏิบัติการตรวจสอบอาหาร ณ สถานที่จำหน่าย ในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลชุมชน
ในส่วนปี 2550 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองและเทศบาลนครทั่วประเทศให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่
จากข้อมูลสรุปความก้าวหน้าของการถ่ายโอนภารกิจด้านสาธารณสุขให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พบว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กำลังทยอยถ่ายโอน 4 ภารกิจ ซึ่งตั้งงบประมาณน้อยมากจนขาดความชัดเจนเรื่องประมาณที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับและมีความแตกต่างกันของกิจกรรมตามภารกิจงานที่ทำการถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
2.2การถ่ายโอนภารกิจงานคุ้มครองผู้บริโภคสำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค
คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบมอบภารกิจการคุ้มครองผู้บริโภคให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ตามแผนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 และแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 2 ประกอบกับคำสั่งคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 3/2552 ลงวันที่ 20 เมษายน 2552 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาล และคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 4/2552 ลงวันที่ 20 เมษายน 2552 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีอำนาจในการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการซื้อสินค้าหรือบริการและดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยได้ ตามอำนาจหน้าที่ที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานกรรมการคุ้มครอง ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
สำหรับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งประกอบด้วย นายกเทศมนตรีหรือนายก อบต.กำนันท้องที่หัวหน้าส่วนราชการ ที่นายกฯ แต่งตั้ง ผู้แทนจากภาคประชาชน ที่นายกฯ แต่งตั้ง ปลัดเทศบาลหรืออบต.และนิติกร หรือพนักงาน เทศบาลอบต.ที่นายกฯ แต่งตั้ง
มีอำนาจหน้าที่รับพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบ ธุรกิจในเรื่องเกี่ยวกับการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมใน การซื้อสินค้า เครื่องอุปโภค บริโภค หรือบริการที่มีการซื้อขายกันในท้องตลาดในเขตพื้นที่,เจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทเพื่อ หาข้อยุติในเบื้องต้นหากคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ให้สอบถามหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอเรื่องต่อคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภค ประจำจังหวัดพิจารณาดำเนินการ,ติดตามและสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคและอาจจัดให้มีการทดสอบหรือ พิสูจน์สินค้าหรือบริการใดๆ ตามที่เห็นสมควรและจำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค,สั่งให้บุคคลหนึ่ง บุคคลใดส่งเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องที่มีผู้ร้องทุกข์หรือเรื่อง อื่นใดที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมาพิจารณาได้ ในการนี้ จะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยก็ได้,ประสานงานกับส่วนราชการหรือ หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองละเมิดสิทธิ ของผู้บริโภค,ดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดมอบหมาย และให้รายงานผลการปฏิบัติงานในรอบเดือนให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดทราบ
ให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
1.รับและพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคในเขตพื้นที่ ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ ในเรื่องเกี่ยวกับการถูกเอารัดเอาเปรียบหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการซื้อสินค้า เครื่องอุปโภคบริโภค หรือบริการที่มีการซื้อขายกันในท้องตลาด
2.เจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาทเพื่อหาข้อยุติในเบื้องต้น หากคู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ให้สอบสวนหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อเสนอเรื่องต่อคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคประจำจังหวัดพิจารณาดำเนินการ
3.ติดตามและสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคและอาจจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าหรือบริการใดๆตามที่เห็นสมควรและจำเป็น เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
4.สั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดส่งเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับเรื่องที่มีผู้ร้องทุกข์หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมาพิจารณาได้ ในการนี้ จะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยก็ได้
5.ประสานงานกับส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค
6.ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนและสร้างเครือข่ายความเข้มแข็งของประชาชนเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค
7.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดมอบหมาย
8.รายงานผลการปฏิบัติงานในรอบเดือนให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดทราบ
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ