28 มิถุนายน 2553 ที่บางกอกกอล์ฟ สปา แอนด์ รีสอร์ท จ.ปทุมธานี ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมหมอพื้นบ้านและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจาก 54 จังหวัดทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 250 คน เพื่อพัฒนาตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านและกระบวนการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งของหมอพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการดูแลรักษาที่มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง ในปี 2552 มีรายงานเสียชีวิตทั่วประเทศ 56,058 ราย มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 77,173 ราย มากที่สุดคือมะเร็งตับ 23,464 ราย รองลงมาคือมะเร็งเต้านม 23,356 ราย ปอด 18,480 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โรคนี้มีกระบวนการรักษาที่ยุ่งยาก เสียค่าใช้จ่ายสูง เพราะยาบางตัวเช่นยาฆ่าเซลล์มะเร็งมีราคาแพงเม็ดละประมาณ 3,000 บาท ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ขาดโอกาสเข้าถึงการรักษา หากรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายแสงทำลายเซลล์มะเร็งจะมีผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ร่างกายอ่อนแอลง ผู้ป่วยส่วนหนึ่งจึงหันไปรักษากับหมอพื้นบ้าน ซึ่งมักใช้สมุนไพรเป็นหลัก จากการสำรวจพบว่าปัจจุบันมีหมอพื้นบ้านที่ครอบครองตำรับยารักษามะเร็ง 228 คน โดยมี 108 คนที่ให้การรักษาผู้ป่วย
ผลการรักษาผู้ป่วยมะเร็งของหมอพื้นบ้านที่ผ่านมา เป็นเพียงการบอกเล่าว่าได้ผล ยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลหรือการศึกษาวิจัยยืนยันอย่างเป็นระบบ ได้มอบนโยบายให้กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ศึกษาวิจัยตามแนวทางมาตรฐานสากล ระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2554-2558 โดยจะทำ 2 เรื่องใหญ่ คือการวิจัยตำรับยาสมุนไพรที่ใช้ และศึกษารูปแบบการรักษา เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เชื่อถือได้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หากพบว่าตำรับยาได้ผลดี ก็จะขึ้นทะเบียนจดตำรับยาให้ จะทำให้หมอพื้นบ้านได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐ และผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับการดูแลรักษาจากระบบที่มีการรับรองทางวิทยาศาสตร์แล้ว
ด้านพญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ผลการสำรวจในปี 2552 พบว่า การรักษาโรคมะเร็งของหมอพื้นบ้านแต่ละภาคคล้ายคลึงกัน โดยร้อยละ 72 มักใช้สมุนไพรตำรับเป็นหลักในการรักษา ร่วมกับการนวด การนั่งสมาธิเพื่อให้จิตใจสงบ โดยผู้ป่วยที่รักษากับหมอพื้นบ้านร้อยละ 97 ผ่านการวินิจฉัยจากแพทย์แผนปัจจุบันว่าเป็นมะเร็ง และ 2 ใน 3 ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ผลการรักษาผู้ป่วยร้อยละ 72 บอกว่าหาย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะต้องศึกษาวิจัยตามหลักวิชาการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและได้รับการยอมรับจากแพทย์แผนปัจจุบันและประชาชน
ตามแผนการศึกษาและพัฒนาการใช้ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ในปี 2553 นี้ จะรวบรวมข้อมูลและคัดกรองหมอพื้นบ้าน วิธีการและตำรับยาที่รักษามะเร็งได้ผลดี น่าเชื่อถือ และในปี 2554 จะลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึกจากหมอพื้นบ้านและผู้ป่วย จากนั้นจะทดสอบความเป็นพิษของตำรับยากับสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการในปี 2555 และในปี 2556-2557 จะพัฒนาตำรับยาให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน และทดลองใช้กับผู้ป่วยเพื่อดูประสิทธิภาพในการรักษา โดยจะประเมินผลการรักษาผู้ป่วยในปี 2558 ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก 3 ส่วน คือ 1.ความเจ็บป่วยลดลง 2.ภูมิต้านทานของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น แข็งแรงขึ้น 3.มีชีวิตยืนยาวขึ้น
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)