เอเจนซี – ชี้บุหรี่ไม่ได้ช่วยอะไร ในทางกลับกันระดับความเครียดเรื้อรังกลับลดลงเมื่อสิงห์อมควันหันหลังให้มัจจุราชสีเทา
การศึกษาผู้สูบบุหรี่ 469 คนที่พยายามเลิกพฤติกรรมนี้หลังเข้ารับการรักษาตัวด้วยโรคหัวใจ พบว่าคนที่เลิกบุหรี่ได้นานหนึ่งปีมีระดับความเครียดที่สังเกตได้ลดลง
ในทางกลับกัน งานวิจัยจากบาร์ตส์ และลอนดอน สกูล ออฟ เมดิซิน แอนด์ เดนทิสทรีระบุว่า ระดับความเครียดของผู้ป่วยโรคหัวใจที่หวนกลับไปสูบบุหรี่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
รายงานที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารแอดดิกชันสนับสนุนทฤษฎีที่ว่า จริงๆ แล้วการสูบบุหรี่กลับทำให้ความเครียดเรื้อรังคงอยู่ อย่างน้อยสำหรับบางคน
“คนที่สูบบุหรี่มักคิดเอาเองว่าบุหรี่ช่วยจัดการความเครียด และบางครั้งคนที่เลิกไปแล้วก็กลับไปสูบใหม่เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้รับมือกับชีวิตที่กดดันได้” ปีเตอร์ ฮาเจ็ค แกนนำการวิจัยกล่าว
งานวิจัยชิ้นนี้กลับแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่มีแนวโน้มมีความเครียดน้อยกว่าสิงห์อมควัน
เหตุผลอาจไม่เป็นที่ชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าคนที่อ่อนแอต่อความเครียดมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะหันไปพึ่งบุหรี่
ในทางกลับกัน การสูบบุหรี่อาจกระตุ้นให้เกิดความเครียดระยะยาว แม้บางคนรู้สึกว่าสูบบุหรี่แล้วสบายใจขึ้นชั่วคราวจากสถานการณ์บางอย่างก็ตาม
งานศึกษาของฮาเจ็คพบว่า เมื่อเริ่มต้นการศึกษา ผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่คือ 85% จากทั้งหมด 469 คน เชื่อว่าการสูบบุหรี่ช่วยให้ตัวเองรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง ครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ถึงขั้นระบุว่าการสูบบุหรี่ช่วยได้มาก
แต่ผ่านไปหนึ่งปี กลุ่มตัวอย่างถูกสำรวจอีกครั้งและพบว่า 41% ไม่กลับไปสูบบุหรี่อีก
โดยเฉลี่ยแล้วพบว่า คนที่เลิกบุหรี่สามารถลดระดับความเครียดได้ 20% ขณะที่คนที่กลับไปหามัจจุราชสีเทาแทบไม่พบว่าระดับความเครียดเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ความสัมพันธ์ระหว่างการเลิกบุหรี่และระดับความเครียดที่ลดลงชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อายุ และการศึกษาของผู้ป่วย ปริมาณการสูบบุหรี่ก่อนเลิก และระดับความเครียดเมื่อเริ่มต้นโครงการ
นักวิจัยกล่าวว่าการค้นพบนี้สนับสนุนความคิดที่ว่า การพึ่งพิงบุหรี่นั่นเองที่เป็นตัวการของความเครียดเรื้อรัง
“เมื่อคนที่ติดบุหรี่ไม่สามารถสูบบุหรี่ได้ และยิ่งเป็นแบบนั้นนานเท่าไหร่ คนๆ นั้นยิ่งกระสับกระส่าย ทุรนทุรายและหงุดหงิดมากขึ้น
“บุหรี่ช่วยบรรเทาภาวะตึงเครียดนี้ และนี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่สิงห์อมควันคิดว่าการสูบบุหรี่ช่วยขจัดปัดเป่าความเครียดได้”
ตัวอย่างเช่นคนที่สูบบุหรี่วันละ 20 มวน หมายความว่าต้องพบเจอความเครียด 20 ครั้งต่อวัน เมื่อปริมาณนิโคตินในร่างกายลดลง และเมื่อคนๆ นั้นเลิกบุหรี่และผ่านพ้นช่วงถอนยามาได้ เขาจะมีความเครียดในแต่ละวันน้อยกว่า 20 ครั้ง
ฮาเจ็คทิ้งท้ายว่าการเลิกบุหรี่อาจไม่ได้เป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังดีต่อภาวะจิตใจด้วย
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)