จากกรณีที่มีข่าวนักเรียนโรงเรียนบ้านกุดดินจี่ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู 15 คน เข้ารักษาในโรงพยาบาล ด้วยอาการปวดท้องและปวดศีรษะ หลังจากซื้อเครื่องดื่มที่มีลักษณะเป็นสเปรย์กลิ่นผลไม้ ฉลากแสดงภาพเด็กแลบลิ้นสีแดงและมีข้อความภาษาอังกฤษคำว่าฟรุ๊ต แฟลเวอร์ (Fruits Flavor) หรือกลิ่นรสผลไม้ เด็กซื้อมาจากร้านค้านอกโรงเรียนราคาขวดละ 5 บาท นำมากินโดยการฉีดเข้าไปในปาก จากการตรวจสอบพบเป็นเครื่องดื่มบรรจุในขวดพลาสติกหลายสี ไม่พบเครื่องหมายอย. เมื่อฉีดใส่ปากจะทำให้ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีตามที่ซื้อมา และมีกลิ่นรสผลไม้ ทำให้เด็กชอบและนิยมซื้อมากิน เด็กบางคนดื่มเข้าไปมากถึง 3 ขวด ซึ่งหลังจากที่ครูประกาศเตือนอันตรายจากเครื่องดื่มชนิดดังกล่าว ปรากฏว่ามีเด็กนำส่งครู 110 ขวด
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังและออกตรวจสอบตามแหล่งที่น่าจะมีวางขาย เช่นในหมู่บ้าน ตลาดนัด ตลาดทั่วไป รวมทั้งบริเวณหน้าโรงเรียน หากพบให้ดำเนินการตามกฎหมายผู้ค้าอย่างเฉียบขาด เพราะถือว่าไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ขายสินค้าที่เป็นภัยต่อผู้บริโภค และขอย้ำเตือนให้ครูและผู้ปกครองช่วยกันสอดส่องการลักลอบกระทำผิด หากพบขอให้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ และแจ้งสายด่วน อย. 1556 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ที่พบผลิตภัณฑ์
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สิ่งที่เป็นกังวลเกี่ยวกับน้ำหวานรสผลไม้ที่ใส่สี มี 2 เรื่องใหญ่คือ การลักลอบใส่สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหารแต่ใช้ในการย้อมผ้า ย้อมกระดาษ ซึ่งมีโลหะหนัก ทำให้เป็นมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ รวมทั้งยังมีพิษจากโลหะหนักที่ผสมในสีประเภทนี้ ทำให้เป็นโรคโลหิตจาง และไตวายได้ หรือในกรณีที่ใช้สีผสมอาหาร อาจมีปริมาณสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งอย. ได้กำหนดไม่เกิน 50-70 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม อาหารที่มีสีเกินมาตรฐาน เมื่อกินเข้าไป สีเหล่านี้จะไปเคลือบที่ผนังกระเพาะอาหาร ทำให้ระบบการดูดซึมสารอาหารไม่ดี หากเด็กเล็กที่กินอาหารเหล่านี้ติดต่อกันอาจเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร ส่งผลให้การเจริญเติบโตช้าได้
นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อปัญหาการใส่วัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน ซึ่งเป็นอันตรายต่อไต โดยอย. กำหนดให้ใส่ในอาหารทั่วไปได้ไม่เกิน 200 ส่วนใน 1 ล้านส่วน หรือ 200 พีพีเอ็ม (PPM.) ซึ่งอาหารดังกล่าวเป็นอาหารที่ฝ่าฝืนกฎหมายมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)