สธ.เผยผลตรวจวิเคราะห์ ปลาร้า ปลาเค็ม ปลาแห้ง ปูเค็ม หอยดอง และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตปลาร้ากว่า 100 ตัวอย่าง พบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในปลาร้าถึง13% เตือนหากผู้บริโภคได้รับสารนี้จะทำให้รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงและอาจรุนแรงถึงขั้นชักหมดสติ แนะเลือกซื้อปลาร้าจากแหล่งจำหน่ายที่สะอาดหรืออยู่ในภาชนะบรรจุมีฝาปิดและควรบริโภคปลาร้าที่ปรุงสุก
นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยว่า ปลาร้าเป็นอาหารหมักที่มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูงที่เป็นผลมาจากความสามารถในภูมิปัญญาของคนไทยถือเป็นการถนอมอาหารประเภทหนึ่งทำให้อาหารเก็บไว้รับประทานได้นานและนำมาดัดแปลงหรือแปรรูปเป็นอาหารได้มากมาย เช่น ส้มตำปลาร้า น้ำพริกปลาร้า ปลาร้าหลน ปลาร้าทรงเครื่อง อีกทั้งยังสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย สำหรับกรรมวิธีการผลิตปลาร้านิยมนำปลาไปหมักในภาชนะ เช่น โอ่ง ไหหรือถังมีทั้งภาชนะมีฝาปิดมิดชิดและภาชนะปากกว้างที่ฝาปิดไม่สนิทพอทำให้ช่วงขณะที่หมักใช้เวลาตั้งแต่ 5-8 สัปดาห์จนถึงนานเป็นปี ทำให้อาจมีแมลงวันตอมโดยเฉพาะที่ทำเป็นอุตสาหกรรมเป็นเหตุให้เกิดหนอน แมลงวันขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการจึงหาวิธีในการกำจัดแมลงวันโดยใช้ยาฆ่าแมลงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์อาจทำให้เกิดการตกค้างของยาฆ่าแมลงในปลาร้าได้
นางพรรณสิริ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ปลาร้า ปลาเค็ม ปลาแห้ง ปูเค็ม หอยดอง และวัตถุดิบที่ใช้ผลิตปลาร้า เช่น เกลือ รำและข้าวคั่วทางห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 123 ตัวอย่าง ตรวจพบไตรคลอร์ฟอนตกค้าง ในปลาร้า จำนวน 16 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13 โดยปริมาณการตรวจพบสูงสุด 12.41 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมและปริมาณการตรวจพบต่ำสุด 0.11 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
นายแพทย์จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไตรคลอร์ฟอน (Trichlorfon) หรือ ดิพเทอร์เร็กซ์ เอสพี จัดเป็นสารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสฟอรัสที่มีอันตรายต่อร่างกาย หากผู้บริโภคได้รับสารนี้จากการหายใจเข้าไปมากจะมีอาการเหงื่อออกมาก คลื่นไส้ มึนงง มีน้ำลายออกมากกว่าปกติ เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ หายใจไม่สะดวกและอาจชักหมดสติได้ และหากได้สารพิษนี้เข้าทางปากอาจมีอาการท้องร่วง ปวดท้อง และอาเจียน นอกจากการตกค้างของยาฆ่าแมลงในปลาร้าแล้ว กรรมวิธีการหมัก การขนส่งหรือการจำหน่ายที่ไม่สะอาดถูกสุขอนามัยก็อาจทำให้มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิดที่ทำให้เกิดโรคต่อร่างกายได้ เช่น สแตฟไฟโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) คลอสตริเดียม เปอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens) และบาซิลลัส ซีเรียส (Bacilluscereus) ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ ดังนั้นหากประชาชนต้องการบริโภคปลาร้าให้ปลอดภัย ควรเลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่สะอาดหรืออยู่ในภาชนะบรรจุมีฝาปิดสนิทและควรบริโภคปลาร้าที่ปรุงสุก
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)