ผอ.สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมยันค่าโทรเมืองไทยยังถูกลงได้อีก แม้ กทช.กำหนดค่าโทรใน/นอกเครือข่ายเท่ากัน เหตุปัจจุบันค่าไอซีไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เปรียบซื้อตั๋วเที่ยวเดียวแต่จ่ายแพงกว่าซื้อตั๋วไป-กลับ 4เท่า ชี้ ค่าโทรอัตราเดียวจะดีต่อผู้บริโภค ต้องลดค่าไอซีด้วย
จากกระแสความวิตกกังวลของผู้บริโภคที่เกรงว่าค่าบริการโทรศัพท์จะแพงขึ้น เพราะการกำหนดให้อัตราค่าบริการโทรใน/นอกเครือข่ายคิดอัตราเดียวนั้น นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญมาจากอัตราค่าเชื่อมต่อข้ามโครงข่าย หรือค่าไอซี ที่สูงเกินจริง ดังนั้นทางออกของเรื่องอยู่ที่การต้องลดราค่าไอซีลง เพราะหากอัตราค่าไอซียังคงเดิม เมื่อมีการปรับกติกาให้คิดอัตราค่าบริการโทรใน/นอกเครือข่ายเป็นอัตราเดียว การกำหนดราคาค่าโทรภายในเครือข่ายต่ำๆ ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องเป็นการกำหนดอัตราค่าโทรแบบเฉลี่ยระหว่างการโทรข้ามเครือข่ายกับภายในเครือข่าย
การกำกับดูแลให้ค่าเชื่อมต่อโครงข่ายลดต่ำลงจนใกล้เคียงต้นทุนจริงจึงเป็นคำตอบที่สำคัญ ที่จะทำให้ต้นทุนค่าบริการโทรใน/นอกเครือข่ายมีความแตกต่างกันน้อยลง ค่าบริการโดยรวมก็จะไม่สูงขึ้น หรืออาจต่ำลง หากเป็นเช่นนั้นผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง คำตอบจึงอยู่ที่การกำกับดูแลให้อัตราค่าเชื่อมต่อข้ามโครงข่ายลดต่ำลง
“ถ้าไม่อยากให้ค่าบริการสูงขึ้น ต้องลดค่า ไอซี ยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนนี้ ค่าไอซีระหว่าง 3 เครือข่าย เอไอเอส ดีแทค และทรู อยู่ที่นาทีละ หนึ่งบาท แต่ถ้าคุณและผมใช้เครือข่ายเดียวกัน เสียค่าโทรต่ำสุดแค่นาทีละ 25 สตางค์ได้ ทั้งที่การโทรภายในเครือข่ายเดียวกัน มีต้นทุนครบวงจรทั้งการเรียกสายและรับสาย ยังคิดค่าโทรเพียง 25 สตางค์ได้ แต่ทำไมเมื่อมีการโทรข้ามเครือข่ายและเครือข่ายปลายทางไม่มีต้นทุนค่าโทรออก มีต้นทุนแค่ส่วนรับสาย กลับคิดค่าไอซีสูงถึง 1 บาท เปรียบเทียบได้กับการซื้อตั๋วรถโดยสาร ออนเน็ตเหมือนกับตั๋วไป-กลับ คือมีทั้งส่วนโทรออกและรับสาย ค่าบริการทั้งหมดคิดสลึงเดียว ส่วนออฟเน็ตเหมือนซื้อตั๋วเที่ยวเดียว คือเครือข่ายปลายทางมีต้นทุนแค่รับสาย แต่คิดค่าไอซีบาทนึง กลายเป็นตั๋วไป-กลับคิดสลึง ตั๋วเที่ยวเดียวคิดบาทนึง นี่คือความไม่ยุติธรรม” ผอ.สบท.กล่าว
นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นหากลดค่าไอซีตามต้นทุนจริงให้เหลือราวๆ 20-50 สตางค์ ก็จะทำให้ค่าโทรข้ามเครือข่ายมีราคาต่ำกว่าหนึ่งบาทได้ อาจอยู่ที่ 50-75 สตางค์ต่อนาที ทำให้โดยรวมผู้บริโภคจะจ่ายถูกลง เพราะตอนนี้ต้องจ่ายอยู่ที่ราคา 1-1.50 บาท และค่าไอซีที่ผู้ประกอบการจ่ายกันไปมานั้นคิดกันเป็นวินาที แต่พอเก็บค่าบริการจากผู้บริโภค กลับคิดเป็นนาที เมื่อลดค่าไอซีจึงไม่มีใครขาดทุนอย่างแน่นอน
สำหรับการกำหนดค่าบริการโทรใน/นอกเครือข่ายราคาเดียวนั้น ถือเป็นการทำตามกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 อีกทั้งการกำหนดอัตราค่าบริการที่แตกต่างกันระหว่างโทรใน/นอกเครือข่าย จะเป็นปัจจัยชักจูงให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมการใช้เปลี่ยนไปจากธรรมชาติและผู้ประกอบการรายเล็กจะเสียเปรียบผู้ประกอบการรายใหญ่ซึ่งมีฐานลูกค้ากว้างกว่า สำหรับในเมืองไทยขณะนี้ เอไอเอส ดีแทค และทรู ทั้งหมดไม่ถือเป็นผู้ประกอบการรายเล็กแล้ว นอกจากนี้การกำหนดอัตราค่าบริการโทรใน/นอกเครือข่ายราคาเดียว จะลดปัญหาความสับสนที่เกิดจากการโอนย้ายผู้ประกอบการเมื่อมีบริการคงสิทธิเลขหมายด้วย
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)