บทความ

การนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพมาประยุกต์ใช้ระดับพื้นที่ กรณีศึกษา: การสร้างนโยบายสาธารณะด้านคุ้มครองผู้บริโภค

by twoseadj @June,08 2010 13.26 ( IP : 202...244 ) | Tags : บทความ
photo  , 1280x800 pixel , 223,217 bytes.

ปัญหาผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ เป็นหนึ่งในปัญหาด้านสุขภาพและส่งผลกระทบต่อสุขภาวะใน 4 มิติ กล่าวคือ มีผลกระทบต่อสภาวะทางกาย ด้วยการได้รับอันตรายต่อชีวิตสุขภาพอนามัย การส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางจิต นำมาซึ่งความเครียด วิตกกังวลของผู้บริโภค ส่งผลกระทบสุขภาวะทางสังคมด้วยการนำมาซึ่งความขัดแย้งแตกแยกระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบสุขภาวะทางปัญญา นำมาซึ่งความกลัว ไม่กล้าเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามที่กฎหมายรับรองไว้ ความเชื่อมโยงของปัญหาผู้บริโภคต่อสุขภาพ จำเป็นต้องอาศัยการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการสร้างนโยบายสาธารณะด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของระดับพื้นที่ อันจะทำให้ผู้บริโภคได้รับการเข้าถึง เสมอภาค ความปลอดภัย และเป็นธรรม

สถานการณ์ปัญหาคุ้มครองผู้บริโภคของพื้นที่เทศบาลตำบลปริกมีลักษณะคล้ายคลึงเช่นเดียวกับปัญหาในระดับชาติ คือผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในหลักการคุ้มครองผู้บริโภค เห็นว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเกิดปัญหาจากการถูกละเมิดสิทธิ ผู้บริโภคร้อยละ 65 เลือกวิธีการจัดการปัญหาโดยวิธีการทิ้งหรือนิ่งเฉยไม่ดำเนินการร้องเรียนตามสิทธิของตนเอง ซึ่งเหตุผลของการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะร้องเรียนที่หน่วยงานใด หรือเมื่อร้องเรียนไปแล้วกลัวการไม่ได้รับการแก้ไขหรือความล่าช้าในการแก้ไข (สมชาย ละอองพันธุ์;2551) ความรุนแรงของปัญหาผู้บริโภคในระดับพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นด้านความไม่ปลอดภัยจากการบริโภคอาหาร เช่น น้ำมันทอดซ้ำที่มีสารโพลาร์ก่อมะเร็ง สินค้าหนีภาษีที่ไม่มีคุณภาพและความเปลอดภัย อันเป็นสภาพทั่วไปของพื้นที่ที่มีอาณาเขตติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น แต่ก็ตามอย่างไร การที่ภาครัฐที่ทำน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค คือ สำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มีแนวนโยบายการถ่ายโอนภารกิจด้านงานคุ้มครองผู้บริโภคแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อและหนุนเสริมการพัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภคของเทศบาลตำบลปริกให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กระบวนการสมัชชาสุขภาพเป็นสิ่งที่เทศบาลตำบลปริกนำมาใช้ในผลักดันให้เกิดสุขภาวะของผู้บริโภคในพื้นที่ มีวัตถุประสงค์เพื่อการสร้างนโยบายสาธารณะด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของเทศบาลตำบลปริก

 คำอธิบายภาพ : pic4c28d42985ce7  คำอธิบายภาพ : pic4c28d5489e512

สมัชชาผู้บริโภคฉลาดซื้อ(Smart consumer Assembly)
เทศบาลตำบลปริกได้พัฒนางานคุ้มครองผู้บริโภค ผ่านกระบวนการของสมัชชาที่เรียกว่า “สมัชชาผู้บริโภคฉลาดซื้อ เทศบาลตำบลปริก” ซึ่งมีก้าวย่างและข้นตอนดังนี้

1.มีกลไกที่ใช้พลังจากการมีส่วนร่วมแบบพหุภาคี ในกระบวนการจัดสมัชชาผู้บริโภคฉลาดซื้อ เทศบาลตำบลปริก ซึ่งอาจจะจัดกลุ่มภาคีเป็น 3 ภาคส่วนสำคัญ คือ
ภาคประชาชนและชุมชน มีประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านค้าในพื้นที่ นักเรียนในฐานะผู้บริโภครุ่นเยาว์จากชุมชนของเทศบาลตำบลปริกมาเข้าร่วมกระบวนการสมัชชาอย่างหลากหลาย จำนวน 100 กว่าคน
ภาครัฐ มีภาคการเมืองระดับท้องถิ่น คือ สมาชิกเทศบาลและกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อันเป็นผู้นำชุมชนเข้าร่วมในการจัดสมัชชา

ภาควิชาการวิชาชีพ  มีนักวิชาการจากสถาบันการจัดการะบบสุขภาพภาคใต้ ม.สงขลานครินทร์(สจรส.มอ.)  โต๊ะอิหม่าม ผู้นำทางศาสนาในพื้นที่เข้าร่วม
กลวิธีที่ใช้การเชื่อมประสานผู้คนในภาคส่วนต่างๆให้มามีส่วนร่วมในสมัชชาผู้บริโภคฉลาดซื้อจะใช้แบบผสมผสานกัน คือ แบบไม่เป็นทางการ เช่น การเดินทางไปบอกกล่าว การลงพื้นที่ไปพบปะก่อนการจัดสมัชชาจริงของคณะทำงานจัดสมัชชาผู้บริโภคของเทศบาลตำบลปริก มีการให้โจทย์ในเรื่องการจัดระดมความคิดเห็น

ส่วนรูปแบบอย่างเป็นทางการ ทางเทศบาลตำบลปริกยังได้แต่งตั้งคณะทำงานด้านการจัดสมัชชาผู้บริโภคฉลาดซื้อ  มีกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน มีนักวิชาการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้เป็นภาคียุทธศาสตร์

2.เน้นกระบวนการแบบมีส่วนร่วมและตัดสินใจด้วยความสมานฉันท์ สมัชชาผู้บริโภคฉลาดซื้อ เทศบาลตำบลปริกเน้นให้ทุกคนร่วมระดมความคิดเห็น เรื่องปัญหาผู้บริโภคที่ประชาชนในพื้นที่ได้พบเจอจากประสบการณ์จริง โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ปัญหาผู้บริโภคจากการกิน ปัญหาผู้บริโภคจากการใช้สินค้า และปัญหาจากการใช้บริการ พร้อมกันนี้มีการแลกเปลี่ยนความรู้จากการสำรวจสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคและรวบรวมสถิติเรื่องร้องเรียนจากหน่วยงานในระดับพื้นที่ของจังหวัดสงขลา ซึ่งดำเนินงานโดยนักวิชาการของ สจรส.มอ. ร่วมกันวิเคราะห์สาเหตุและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ร่วมตัดสินใจเลือกแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยการนำเสนอเป็นนโยบายสาธารณะที่มีความเหมาะสมของพื้นที่ต่อไป
 คำอธิบายภาพ : prik41  คำอธิบายภาพ : prik21  คำอธิบายภาพ : prik11  คำอธิบายภาพ : prik61
3.การก่อเกิดนโยบายาธารณะด้านการคุ้มครองผู้บริโภค กลวิธีที่นำมาใช้ คือ การลงนามในแบบบันทึกความร่วมมือ(MOU)ด้านการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคในเทศบาลตำบลปริก ซึ่งเป็นการทำร่วมกัน ปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดสงขลา รองนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่  นายกเทศบาลตำบลปริก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้ามและควนรู โดยเนื้อหา คือ การมีคณะทำงานด้านการพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงาน

ขอบเขตงาน ประกอบด้วย

การจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกในการรับเรื่องร้องเรียน เจราไกล่เกลี่ย และแก้ไขปัญหาผู้บริโภคในระดับพื้นที่

การเสริมสร้างศักยภาพผู้บริโภคทั้งในด้านความรู้ในการบริโภค การพิทักษ์สิทธิอันชอบธรรม เช่น การจัดสมัชชา การจัดประชุม การอบรม การเสวนา ตลอดจนการสร้างปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้ในระดับพื้นที่

การสร้างและขยายเครือข่ายผู้บริโภคในระดับพื้นที่ เช่น การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครคุ้มครองผู้บริโภค พัฒนาให้เกิดสภาผู้บริโภค

การพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ผ่านระบบการสื่อสารสาธารณะของพื้นที่

รูปธรรมของนโยบายสาธารณะด้านคุ้มครองผู้บริโภคสู่การปฏิบัติ

1.การจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคเทศบาลตำบลปริก มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับทิศทางการทำงาน เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเป็นคณะทำงานศูนย์ฯร่วมกับเทศบาลตำบลปริก พร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการด้านคุ้มครองผู้บริโภค ผลักดันและบรรจุเข้าสู่งบประมาณของกองทุนสุขภาพระดับตำบล พัฒนาสู่รูปแบบองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป

2.การพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค โดยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการร่วมกับนักวิชาการในพื้นที่ และฝึกทักษะที่จำเป็น เช่น การจัดโครงการตาสับปะรด การอบรมคณะกรรมการศูนย์ฯ การจัดโครงการเฝ้าระวังเรื่อง ลวดดัดฟันแฟร์ชั่น เป็นต้น

3.การพัฒนาและการสร้างเครือข่ายผู้บริโภค โดยการจัดตั้งชมรมคุ้มครองผู้บริโภคสะเดา การจัดสมัชชาผู้บริโภคฉลาดซื้อ
ปี 2 ตอน โชว์ของห่วย เป็นต้น

4.การประชาสัมพันธ์ผ่านระบบสื่อสารสาธารณะของพื้นที่ เช่น รายการผู้บริโภคของวิทยุชุมชน ต้นปริกเรดิโอ เป็นต้น

เขียนโดย :เภสัชกรสมชาย ละอองพันธุ์ ผู้ประสานงานด้านวิชาการ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง