เชื่อว่าเครื่องสำอางที่คุณสาวๆ มีมากที่สุด และใช้บ่อยที่สุดคงหนีไม่พ้นเจ้าลิปสติกสีสวย ก็เพราะผู้หญิงกับความสวยความงามเป็นของคู่กัน และเรียวปากที่มีสุขภาพดีและสีสันสวยงามก็เป็นเสน่ห์ประการหนึ่งที่มัดใจคุณผู้ชายได้ดียิ่งนัก แต่หากใช้ลิปสติกที่ไม่มีคุณภาพอาจกลายเป็นฝันร้ายของคุณสาวๆ ในพริบตาหากต้องเจอกับอาการแพ้หรือสารตะกั่วที่มีมากเกินไป
ลิปสติกเป็นเครื่องสำอางที่มักจะมีการกลืนกินเข้าไปในร่างกายได้มากที่สุด จากสถิติแล้วคุณผู้หญิงอาจกลืนลิปสติกเข้าไปถึง 5 กิโลกรัมตลอดช่วงชีวิต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องใส่ใจเลือกลิปสติกที่มีคุณภาพและความปลอดภัยเป็นพิเศษเพื่อป้องกันสารปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกาย ส่วนใหญ่แล้วลิปสติกจะมีส่วนผสมของกากปิโตรเลียม สีจากสารเคมีและกลิ่นสังเคราะห์ จึงควรเปลี่ยนมาใช้ลิปสติกที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติจะดีกว่า
ในเรื่องของสารตะกั่วนั้น ข้อมูลจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา หรือ FDA เผยว่า สิปสติกมีส่วนผสมของตะกั่วในสารทำสีจริง โดยมีการควบคุมระดับมาตรฐานที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 0.1 ในล้านส่วน (ppm) ซึ่งเป็นค่าที่ทาง FDA ทดลองแล้วว่าไม่มีอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภคและเด็ก แต่จากการสำรวจล่าสุดของ FDA พบว่าในลิปสติกที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน มีสารตะกั่วเพิ่มมากขึ้นประมาณ 0.01 – 3.06 ppm ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึงสี่เท่า
สำหรับในประเทศไทยนั้น แฟชั่นใหม่ที่วันรุ่นนิยมกันคือ เจลทินท์ทาปาก ซึ่งควรต้องเพิ่มความพิถีพิพันในการเลือก หากใช้สีที่ไม่มีคุณภาพตามที่กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้ในลิปสติก อาจเกิดอันตรายจากการกลืนลิปสติกที่มีสารตะกั่วได้มากกว่า การใช้ทินท์อันตรายกว่าลิปสติกทั่วไป เพราะจะแต้มเข้าไปในริมฝีปากด้านในทั้งบนและล่าง ซึ่งเป็นเยื่อที่บอบบางมาก
นอกจากนี้ยังอาจเกิดอันตรายหากสาวๆ ท่านใดเกิดอาการแพ้สารเคมีบางประเภทในลิปสติก เช่น แพ้สี น้ำหอม สารกันเสีย สารกันแดด อาการแพ้ลิปสติก ได้แก่ ริมฝีปากแห้ง เป็นขุย ลอก คัน บวมแดง ริมฝีปากมีสีดำ บางรายเป็นตุ่มพอง อักเสบ สาวๆ นอกจากจะห่วงความสวยแล้ว ควรสังเกตตัวเองให้ดี ถ้ามีความผิดปกติใดๆ ต้องหยุดใช้ลิปสติกทันที หากหยุดใช้แล้วยังไม่หายควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรต่อไป
สรุป ข้อแนะนำในการเลือกซื้อและใช้ลิปสติก
ฉลากต้องมีข้อความภาษาไทย บอกรายละเอียดชื่อเครื่องสำอาง ประเภทหรือชนิด เช่น ลิปมัน ลิปกรอส ส่วนประกอบ ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ผู้นำเข้า วิธีใช้ ปริมาณสุทธิ และ วันเดือนปีที่ผลิต
ลิปสติกที่อ้างสรรพคุณป้องกันแสงแดด ต้องบอกส่วนประกอบของสารควบคุม ครั้งที่ผลิต และต้องแสดงคำเตือน
สังเกตลักษณะภายนอกลิปสติกต้องมีผิวเรียบเนียน ไม่เยิ้ม กลิ่นไม่เหม็นหืน และไม่ควรซื้อครั้งละมากๆ เพราะถ้าเก็บไว้จนเก่าจะเสื่อมคุณภาพได้
ไม่ควรใช้ลิปสติกร่วมกับคนอื่น เพราะอาจเกิดการติดเชื้อได้ ก่อนทาลิปสติกทุกครั้ง ควรทำความสะอาดริมฝีปากก่อน หากใช้พู่กันควรทำความสะอาดพู่กันหลังใช้ทุกครั้ง
หากลิปสติกมีสี กลิ่นหรือสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม ควรหยุดใช้ทันที เพราะแสดงว่าลิปสติกนั้นเสื่อมคุณภาพแล้ว
ที่มา:
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
Lipstick and Lead:Questions and Answers ของ FDA
www.healthy.in.th
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)