อย. สั่งฟันโฆษณา “หมอมวลชน” ผิดกฎหมาย แสดงสารพัดข้อความของผลิตภัณฑ์อาหารอ้างรักษาสารพัดโรคทางสื่อสิ่งพิมพ์ โอ้อวดเกินจริงว่าสามารถรักษาโรคได้สารพัด ไม่มีผลการศึกษาวิจัยที่เชื่อถือได้ยืนยัน สั่งห้ามไม่ให้โฆษณาและไม่ได้รับรองประโยชน์
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากเจ้าหน้าที่อย. ได้ตรวจสอบโฆษณาของ “หมอมวลชน” ทางสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะทางหนังสือพิมพ์ ที่แสดงข้อความโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ในทางรักษาโรค อย่างเช่น น้ำมันมะพร้าว คุณค่าอันหลากหลาย! .....ช่วยลดการอักเสบสะเก็ดเงินได้เพียงไร? ... เป็นอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานดื้ออินซูลิน... มีกลไกป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009.. หลายคนที่ดื่มน้ำแมกนีเซียมแล้ว หายจากไมเกรน..ครั้นหยุดดื่มกลับเป็นอีก...เป็นต้น.
อย. ขอชี้แจงว่า การโฆษณาในลักษณะดังกล่าวเป็นการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และ อย.ไม่เคยอนุญาตหรือรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ มีสรรพคุณหรือคุณประโยชน์ในทางรักษาโรค ในลักษณะที่ผู้จำหน่ายหรือผู้ขายนิยมไปโฆษณาทางสื่อต่างๆ เนื่องจากไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เป็นกลางน่าเชื่อถือว่ามีประโยชน์ตามที่มักอวดอ้างสรรพคุณ จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อ ถือเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย โดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ อย. ได้ตรวจสอบร้านศูนย์บริการผลิตภัณฑ์หมอมวลชน ในห้างเดอะมอลล์บางกะปิ พบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ ซึ่งฉลากระบุจัดจำหน่ายโดยบริษัท หมอมวลชน 2000 จำกัด รวมทั้งพบเอกสารโฆษณาสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลักษณะผิดกฎหมาย ไม่ได้ขออนุญาตและอาจมีลักษณะหลอกลวงผู้บริโภค
ตัวอย่างเช่น คุณประโยชน์ของ CoQ10 ในแง่การรักษาโรค โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง...(ผลิตภัณฑ์โคเอ็นไซม์คิวเทน) ; ช่วยลดไขมันไตรกลีเซอไรด์ ช่วยขัดขวางการเกิดชีสต์ช่วยลดอาการริดสีดวงทวาร เป็นสารต้านมะเร็ง...(เพอเฟกฮอทไล น้ำมันปลาชนิดแคปซูล) ; ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ ช่วยให้เส้นเลือดฝอยแข็งแรง ต้านการอักเสบ ลดอาการภูมิแพ้ ป้องกันสมองเสื่อม ป้องกันมะเร็ง...(ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โอพีซี) เป็นต้น
อย. จึงได้มีหนังสือสั่งระงับการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวในทุกสื่อทันที หากฝ่าฝืนจะถูกระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ และให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละไม่น้อยกว่าห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินหนึ่งพันบาท ตลอดเวลาที่ยังพบการโฆษณาอยู่ แต่หากภายในสามเดือนนับตั้งแต่มีคำสั่งให้ระงับโฆษณา ยังมีการโฆษณาผิดกฎหมายเช่นนี้ซ้ำผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย จะถูกดำเนินคดีขั้นสูงสุด นอกจากโทษปรับและจำคุกแล้ว อาจถึงขั้นมิให้มีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในท้องตลาดอีกด้วย
นอกจากนี้ อย. ยังได้เฝ้าระวังตรวจสอบการโฆษณาแฝงในลักษณะต่างๆ ของหมอมวลชนอย่างใกล้ชิด เพื่อ มิให้มีการหลอกลวงผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ของหมอมวลชนรักษาโรคต่างๆ ได้สารพัด ซึ่งความคืบหน้าจะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป
เลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอเตือนมายังประชาชนผู้บริโภค หากพบเห็นการแสดงข้อความอวดอ้างคุณประโยชน์ของสรรพคุณอาหารต่างๆ ว่าบรรเทาหรือช่วยรักษาโรคต่างๆ แม้จะมีการแสดงสัญลักษณ์ให้เข้าใจว่ามีแพทย์เป็นเจ้าของ อย่างเช่นกรณีโฆษณาที่มีสัญลักษณ์หมอมวลชน อย่าได้หลงเชื่อ ขอให้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อย่าเข้าใจว่ารักษาโรคได้เป็นอันขาด เพราะผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปไม่ใช่ยา จึงไม่มีผลในการป้องกัน บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค ซึ่งสามารถสังเกต
ฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ อย.ระบุให้แสดงข้อความว่า “ไม่มีผลป้องกันหรือรักษาโรค” อย่างไรก็ตาม อย.จะเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดในการตรวจสอบการโฆษณาแฝงในลักษณะดังกล่าว เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัย รวมทั้งได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม ซึ่งหากพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารและสงสัยว่าเกินจริง ขอให้แจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)