นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 พ.ค.ถึงการจับกุมโรงงานผลิตน้ำปลาปลอม ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับการร้องเรียนเรื่องโรงงานผลิตน้ำปลาไม่ได้คุณภาพ ซึ่งพบมากในเขตภาคกลาง โดยเป็นแหล่งใหญ่ที่กระจายน้ำปลาไปยังจังหวัดใกล้เคียง จึงได้แจ้งให้สำนักงานปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ไปสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี จากการตรวจสอบพบว่า โรงงานผลิตน้ำปลาที่มีการร้องเรียน คือ โรงงานน้ำปลาบุญเทือง ตั้งอยู่เลขที่ 39/1 หมู่ 4 ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ผลิต 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ตรา 3 แมงดา ตราดีเด่น และตราปลาไส้ตันคู่ระยอง เบื้องต้นพบเป็นน้ำปลาผสม ไม่ได้มาตรฐาน โดยมีค่าไนโตรเจนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 4 กรัมต่อลิตร แต่กลับพบเพียง 0.7 กรัมต่อลิตร เข้าข่ายอาหารปลอม และยังพบมีสารกันปูดเกินค่ามาตรฐาน 1,000 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่กลับพบสูงถึง 3,400-4,000 มิลลิกรัมต่อลิตร
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า หากผู้บริโภครับประทานเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดสารตกค้าง ส่งผลต่อไต อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้มีการส่งตัวอย่างน้ำปลาตรวจสอบอีกครั้ง เพื่อหาเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน และได้มีการยึดผงสีขาวที่ใช่ในกระบวนการผลิต ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นผงปรุงรสตรวจสอบเพิ่ม เนื่องจากเกรงเป็นสารอันตราย นอกจากนี้ ยังได้อายัดเครื่องจักรจำนวน 32 แรงม้า และน้ำปลา ขวดเปล่า และจากการตรวจสอบข้อมูลของโรงงานพบว่า มีการกระทำผิดกระบวนการผลิตซ้ำซากไม่ได้มาตรฐาน แม้จะได้รับการตักเตือนถึง 8 ครั้ง โดยมูลค่าของกลางที่ยึดได้รวม 7 ล้านบาท
"สำหรับบทลงโทษ ได้แก่ 1. ผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2. สถานที่ผลิตไม่ผ่านหลักเกณฑ์ GMP มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ3. หากผลตรวจพบเชื่อจุลินทรีย์และสิ่งปนเปื้อน จะได้รับโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และหากพบผลตรวจตกเรื่องคุณค่าทางอาหาร เข้าข่ายอาหารปลอมได้รับโทษจำคุก ตั้งแต่ 6 เดือน -10 ปี และปรับ 5,000 บาท -100,000 บาท" รัฐมนตรี สธ. กล่าว
ด้านนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย. กล่าวว่า โรงงานดังกล่าวมีการผลิตน้ำปลา และจำหน่ายน้ำปลาส่วนใหญ่ในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ในราคาถูกกับผู้ค้า เพียงขวดละ 2 บาท ทำให้มีคนนิยมซื้อ เพราะราคาถูก ทางที่ดีที่สุด ประชาชนไม่ควรบริโภคน้ำปลาที่มีราคาถูกมากเกินไป เพราะอาจเป็นข้อที่ไม่ได้คุณภาพ แต่ควรเลือกซื้อน้ำปลาที่ได้มาตรฐาน โดยเลือกจากยี่ห้อที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด มีสีที่ไม่เข้มจนเกินไป ไม่มีตะกอนที่ขวด และในอนาคตเตรียมนำรายซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานและผ่านการรับรองขึ้นเว็บไซด์ของ อย. เพื่อแจ้งให้ผู้บริโภคทราบ
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)