บทความ

องค์กรอิสะด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

by twoseadj @October,14 2008 17.13 ( IP : 222...169 ) | Tags : บทความ
photo  , 300x450 pixel , 19,070 bytes.

วรรคสองของมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ได้บัญญัติว่า "ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค

ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย" และตามมาตรา 302 ของบทเฉพาะกาลให้กำหนดว่าให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

จากบทบัญญัติดังกล่าวทำให้ต้องจัดตั้ง "องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" เพื่อทำหน้าที่ตามหน้าที่และกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งถึงเวลานี้แม้จะมีความคืบหน้าไปบ้างแต่ก็ยังเป็นเพียงร่างกฎหมายการจัดตั้งองค์การอิสระฯเท่านั้น เพราะยังมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในหลายประเด็น

ความจริงตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ก็มีบทบัญญัติเช่นนี้แล้วในมาตรา57 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค" แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบตามรัฐธรรมนูญ ประกอบกับภาครัฐเห็นว่าควรนำเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่องค์กรภาคเอกชน (NGO) เห็นว่าควรแยกเป็นกฎหมายต่างหากออกมา ดังนั้น จึงไม่ได้มีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ ขณะนี้มีร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯอยู่ 2 ฉบับ ฉบับแรก ชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค จัดทำโดยกลุ่ม NGO หลายองค์กร เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ คณะกรรมการองค์การจะคัดเลือกจากองค์กรที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ต้องทำงานเต็มเวลา และต้องไม่เป็นผู้บริหารหรือพนักงานในบริษัทหรือองค์กรที่แสวงหากำไร เว้นแต่จะพ้นตำแหน่งมาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยมีหน้าที่ให้ความเห็น ตรวจสอบ รายงาน ส่งเสริมให้มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด และจัดประชุมสมัชชาตัวแทนองค์กรผู้บริโภค รวมถึงให้มีสำนักงานคณะกรรมการเพื่อทำงานด้านธุรการ การศึกษาวิจัย และอื่นๆ

อีกฉบับหนึ่ง ชื่อว่า พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จัดทำโดยหอการค้าไทย โดยมีสาระสำคัญ คือ คณะกรรมการองค์การจะคัดเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนขององค์กรผู้บริโภค โดยมีหน้าที่รับฟังความคิดเห็น ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและเผยแพร่ความรู้แก่ผู้บริโภค จัดประชุมสมัชชาตัวแทนองค์กรผู้บริโภค และทำรายงานสถานการณ์ผู้บริโภค รวมถึงให้มีสำนักงานคณะกรรมการเพื่อทำงานด้านธุรการ การศึกษาข้อมูล และอื่นๆ

ความแตกต่างสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับมีนัยสำคัญยิ่ง เพราะเป็นความแตกต่างของแนวคิด เนื่องจากฉบับร่างของภาคสังคมต้องการตีกรอบค่อนข้างเข้มงวดโดยพยายามกีดกันการมีส่วนร่วมของภาคเศรษฐกิจ แต่ร่างของหอการค้าไทยต้องการที่จะแก้ความเข้มงวดดังกล่าวเพราะเห็นว่าทุกคนในประเทศเป็นผู้บริโภคและขณะเดียวกันทุกคนก็เป็นผู้ผลิตด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า พ.ร.บ. นี้ต้องรวมทุกภาคส่วนให้มีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อการบริหารและใช้กฎหมายนี้อย่างได้ผลสูงสุด จึงหวังว่า พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับจะต้องมีการพิจารณาควบคู่กันไปในสภาผู้แทนราษฎรและคลอดเป็นกฎหมายที่ดีฉบับหนึ่ง

ความเข้มงวดของสังคมต่อการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ทุกท่านต้องให้ความสนใจ เนื่องจากภาคการผลิตได้มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติอย่างมากและไม่มีมาตรการฟื้นฟูอย่างเพียงพอตลอดหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมาจนเกิดปัญหาต่างๆ เช่น ภาวะโลกร้อน หรือ โรคใหม่ๆหรือโรคที่หายสาบสูญไปแล้วกลับมาระบาดใหม่อีก การสร้างสมดุลให้กับธรรมชาติควบคู่ไปกับการสะสมความมั่งคั่งจึงเป็นมิติใหม่ของการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจ กฎระเบียบใหม่ๆจะมีการผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องภาคธุรกิจจึงไม่ควรจะมองปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นเรื่องการกีดกันทางการค้ารูปใหม่แต่ต้องมองว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงปรัชญาในการผลิต การค้าและการบริโภคเพื่อนำไปสู่สังคมโลกที่มีความสุขและมั่งคั่งในเวลาเดียวกัน ข้อที่ได้เปรียบของไทยคือว่าได้มีการทำลายธรรมชาติน้อยกว่าที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ จึงเสนอให้คิดว่าจะใช้เงื่อนไขนี้ในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยได้อย่างไร?

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง