ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

แพทยสภาหนุนกม.อุ้มบุญแก้แย่งเด็กน่ารัก-ทิ้งเด็กพิการ ชี้นำ "อสุจิ-ไข่"ทำสเต็มเซลล์ อวดอ้าง ผิดกม.

by twoseadj @May,14 2010 14.09 ( IP : 202...244 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 600x450 pixel , 31,482 bytes.

นายกแพทยสภาเผยการใช้"อสุจิ-ไข่" ทำเป็นสเต็มเซลล์อวดอ้างรักษาโรคผิดกฎหมายยังถือเป็นการฆ่าคน "อุ้มบุญ" เปิดทางให้หญิงที่ตั้งท้องแทนเบิกค่ารักษาได้ แก้ปัญหาแย่งเด็กน่ารักทิ้งเด็กพิการ


ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ... ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพ.) มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนนั้น


เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ศ.นพ.สมศักดิ์ โลห์เลขา นายกแพทยสภา ในฐานะรองประธาน กคพ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาแพทยสภามีการออกประกาศแพทยสภา เพื่อควบคุมมาตรฐานการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยเป็นประกาศแพทยสภา ที่ 1/2540 เรื่อง มาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งมีการกำหนดชัดเจนว่าผู้ที่จะสามารถดำเนินการได้ ต้องเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และใบรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้ที่จะรับการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะต้องเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก รวมไปถึงผู้ที่ยังไม่มีสามีแต่ต้องการมีบุตรก็ได้ด้วย ส่วนหญิงที่จะรับอุ้มบุญ จะต้องไม่ใช่หญิงโสดและผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว เพื่อให้การคลอดบุตรง่าย และต้องเป็นผู้ที่ไม่มีสายเลือดใกล้ชิดกันกับคู่สมรสโดยตรง จึงจะขอรับเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อตัดปัญหาความผูกพันกับทารก 


ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า แต่ปัญหา คือ ประกาศแพทยสภาฉบับนี้ไม่มีบทลงโทษ จะเอาผิดได้ก็เฉพาะแพทย์ ซึ่งต้องมีผู้ร้องเรียน ทำให้เหมือนเป็นหลักเกณฑ์ที่ปราศจากอำนาจ แต่มติ ครม.ที่ออกมาจะเป็นตัวรับรองให้กฎหมายใช้ได้จริง ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภรรยาต้องชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่าหญิงที่รับอุ้มบุญจะไม่สามารถใช้ไข่ของตัวเองผสมกับอสุจิของพ่อได้ เพื่อป้องกันความผูกพัน โดยเนื้อหาจุดนี้จะช่วยให้สามารถเบิกค่ารักษาได้ จากเดิมไม่สามารถดำเนินการได้เลย


"ปัญหาเรื่องการอุ้มบุญพบมานาน โดยเฉพาะการเบิกค่าบำรุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ซึ่งไม่สามารถเบิกได้ เพราะไม่ใช่บุตรที่ออกมาจากท้องของแม่ ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิที่สามารถใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพ อีกทั้ง ยังมีปัญหาทารกที่เกิดน่ารัก จนทำให้หญิงที่รับอุ้มบุญให้ชั่วคราวอยากรับเลี้ยง หรือ เด็กที่เกิดมามีความพิการจนไม่เป็นที่ต้องการของใคร ทำให้เกิดปัญหา" นายกแพทยสภาระบุ


ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการใช้ประโยชน์จากอสุจิ และไข่ของเจ้าของที่ฝากไว้และตายลง โดยนำมาทำเป็นสเต็มเซลล์เพื่ออวดอ้างการรักษาโรค ซึ่งผิดกฎหมาย และยังถือเป็นการฆ่าคนด้วย ซึ่งหากร่างกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้จะช่วยแก้ปัญหาได้ รวมทั้งจะเป็นการป้องกันการรับจ้าง และโฆษณารับอุ้มบุญด้วย


นายกแพทยสภากล่าวว่า ปัจจุบันมีสูตินรีแพทย์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ราว 100 คน ก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ รวมทั้งพ่อ แม่ และหญิงรับอุ้มบุญ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตาม จากนี้ไปจะมีบทลงโทษตามความผิดที่แตกต่างกันไป เช่น จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ทันที เนื่องจากต้องรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าอีกนาน และหากมีการยุบสภาจะต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง