บอร์ด สปสช.พิจารณาปัญหาและทางออกของ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หลังพบมีการเบิกใช้สิทธิจากองทุนผู้ประสบภัยไม่ถึงร้อยละ 50 ส่งผลภาระงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ แนะให้ยึด 3 หลักการสำคัญคือ การประกันสุขภาพภาคบังคับ ไม่พิสูจน์ถูกผิด และบริหารโดยกลไกรัฐ
วันนี้ (10 พ.ค.) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรื่อง สถานการณ์ปัญหาและทางออกของมาตรา 12 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535
นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากกรณีปัญหาการเบิกจ่ายกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นั้น พบว่า มีการเบิกจ่ายจากกองทุนไม่ถึงครึ่ง เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและซับซ้อน หรือต้องรอการพิสูจน์ถูกผิดในส่วนค่าชดเชย ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน ส่งผลให้เป็นภาระงบประมาณกับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทนโดยไม่จำเป็น ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้ และจากการศึกษาวิจัยของ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และเครือข่ายวิจัยระบบสุขภาพ ได้ศึกษาวิจัยเพื่อประเมินการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาอย่างต่อเนื่อง ผลค้นพบที่สำคัญ คือ 1.ผู้ประสบภัยจากรถใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ไม่ถึงร้อยละ 50 เนื่องจากขั้นตอนยุ่งยาก ทำให้ไปใช้สิทธิตามระบบหลักประกันสุขภาพที่ตนเองมีอยู่แทน 2.สัดส่วนการจ่ายชดเชย มีเพียงร้อยละ 40 ของเบี้ยประกัน 3.ค่าใช้จ่ายในการบริหารระบบเฉลี่ยร้อยละ 40 ของเบี้ยประกัน โดยร้อยละ 12 เป็นค่าการตลาด (ค่าบำเหน็จ) ซึ่งไม่มีความจำเป็น
“ผลจากการประชุมของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพในวันนี้ จึงมีความเห็นว่า ให้มีการปฏิรูปการประกันสุขภาพภาคบังคับ การชดเชยโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด และการบริหารโดยใช้กลไกภาครัฐ ซึ่งมติที่ประชุมได้มอบให้อนุกรรรมการการเงินการคลัง สวรส.องค์กรภาคประชาชน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกันพิจารณาแนวทางปรับแก้กฎหมายว่าจะเสนอแนวทางแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้การดำเนินการต้องมีความเป็นไปได้ โดยให้นำกลับมาพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว
นายแพทย์ พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการ สวรส.กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ยกร่าง พ.ร.บ.ขึ้นใหม่ โดยใช้แนวคิดจากงานวิจัย คือ บริหารระบบโดยใช้หน่วยงานของรัฐทั้งหมด ใช้หลักการชดเชยโดยไม่พิสูจน์ถูกผิดในการชดเชยค่ารักษาพยาบาล ที่ผ่านมาเคยมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นใหม่ มี ดร.ไพศาล จันทรภักดี เป็นประธาน มี สวรส.เป็นเลขาฯ ความคืบหน้า คือ มีความเป็นไปได้ในการดำเนินการตาม ร่าง พ.ร.บ.ที่ยกร่างขึ้นสมัย สนช.แต่เห็นควรปรับกลไกบริหารไปยังหน่วยงานอื่นที่มิใช่กรมบัญชีกลาง ทั้งนี้ มีความเห็นว่าหลักการสำคัญของการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่สำคัญ คือ 1.การประกันสุขภาพภาคบังคับ 2.การชดเชยโดยไม่พิสูจน์ถูกผิด 3.การบริหารโดยใช้กลไกภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ที่มา:ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 พฤษภาคม 2553
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)