“เยอะ เยอะมาก เยอะกว่าที่ที่เป็นสำนักงาน ส่วนราชการ ที่มีลูกจ้างเสียอีก” เยอะในที่นี้หมายถึงเรื่องร้องเรียนที่มีเข้ามาแต่ละวันๆในรอบขวบปีที่ผ่านมา มาขอคำปรึกษา รวมทั้งไกล่เกลี่ยปัญหาให้กับคู่กรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ สัญญา ประกันภัย ไฟฟ้า ประปา ไปจนถึงเรื่องเห็ดหลินจือ! ที่ที่ว่าก็คือสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร ซึ่งคุณพรพรรณ ช่างสลัก หรือน้องรุ้ง หนึ่งในเจ้าหน้าที่ประจำสมาคมฯ อาสาเข้ามาทำงาน-ทำงานโดยได้รับเงินเดือนบ้าง ไม่ได้รับเงินเดือนบ้าง กระทั่งได้ตัดสินใจมาพักอาศัยเสียที่นี่เสียเลย-เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานบอกเล่าให้ฟัง นี่คือเรื่องราวของกลุ่มคนเล็กๆ ทั้งหนุ่มสาวและผู้อาวุโสในวัยเกษียณที่มีจิตอาสาในการทำงานสร้างเสริมศักยภาพการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร .......................................................................................
หลังจดทะเบียนเป็นสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร ในเดือนมีนาคม 2552 ทางสมาคมก็ได้ทำเรื่องขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดใช้อาคารสื่อสารของจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณสถานีตำรวจภูธรจังหวัดชุมพร เป็นที่ทำการในปัจจุบัน
ก่อนนั้นสมาคมฯทำงานอยู่ในนาม ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2547 โดยใช้สำนักงานกฎหมายของ พ.ต.ท.นรันดร์ เพชรมาตย์ ประธานชมรมฯ เป็นที่ทำการ
ในการทำงาน 5 ปีที่ผ่านมานั้นมีการร้องเรียนทั้งหมดจำนวน 57 เรื่อง นับตั้งแต่เรื่องการละเมิดสิทธิ เรื่องประกันภัย เรื่องซื้อขาย เรื่องมาตรฐานสินค้า และเรื่องเกี่ยวกับการผิดสัญญาซึ่งมีมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 42.1
ในการนี้ทางชมรมฯได้ดำเนินการช่วยเหลือจนประสบความสำเร็จได้ถึงร้อยละ 75 นับได้ว่าส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมเป็นจำนวนไม่น้อย
.......................................................................................
พงษ์ธร เพชรมาตย์ ผู้ช่วยเลขานุการสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร บอกเล่าให้ฟังถึงการทำงานของสมาคมที่ผ่านมากระทั่งวันนี้ว่า...
“ปัจจุบันการทำงานของสมาคมก็ไม่ได้มีงบสนับสนุนใดๆ ทางออกก็คือกรรมการสมาคมก็ช่วยกันออก มีการเรี่ยไรจากผู้มีจิตศรัทธาบ้าง ผู้ที่มาร้องเรียนบริจาคบ้าง ที่ผ่านมาตอนที่เป็นชมรมฯก็ได้จัดกิจกรรมวิ่งการกุศล ได้เงินมาก้อนหนึ่งซึ่งก็ใช้ในการบริหารจัดการ และค่าใช้จ่ายต่างๆ หมดไปแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ตั้งสมาคม ตรงนี้เป็นปัญหาในการบริหารสมาคม ตอนนี้ก็พยายามโทรไปปรึกษาสคบ.ส่วนกลางว่าจะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร และทำสติ๊กเกอร์ขายกัน”
การได้จดทะเบียนเป็นสมาคม และมีที่ทำการเป็นเอกเทศ ดูเหมือนว่าจะทำให้การทำงานต่างๆสะดวกขึ้น เช่น สมาคมมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ดำเนินการฟ้องร้องคดีต่างๆแทนผู้บริโภคได้ สามารถทำโครงการขอทุนสนับสนุนกับสคบ.ส่วนกลางได้โดยตรง เป็นต้น
แต่ว่าประเด็นปัญหาที่แท้จริงก็คือเรื่องงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ส่งผลให้อีกหลายๆกิจกรรมไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เช่นการให้ความรู้ การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงเรื่องของสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการดำเนินงานของชมรมด้านกฎหมาย หรือการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยทางด้านบริการและสินค้าต่างๆ
ซึ่งต่างเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง ครอบคลุม และมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นต่อไป เกิดคำถามว่าจะจัดการกับส่วนนี้อย่างไร พบว่า...
การรวมตัวกันเป็นเครือข่ายน่าจะเป็นคำตอบอีกประการหนึ่ง
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิในการคุ้มครองผู้บริโภคให้แก่ผู้บริโภค รวมทั้งสมาชิกของชมรมเอง
โดยการจัดทำชุดความรู้ ฐานข้อมูล เช่นโป๊สเตอร์ แผ่นพับ ไวนิลต่างๆ อย่างน้อยก็ให้เกิดสมาชิก และแนวร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นจำนวนหนึ่ง เริ่มจากกลุ่มเป้าหมายประมาณ 240 คน เกิดเป็นเครือข่ายในการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดชุมพร และเกิดศูนย์รับเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคในสถานีวิทยุชุมชนขึ้นมา
และนั่น...เป็นที่มาและแผนการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร เพื่อหวังว่าจะเสริมสร้างศักยภาพในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของสมาคมตามที่หวังและตั้งใจ
.......................................................................................
“คาดหวังว่าจะให้มีการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ให้มีคนรู้จัก ประชาชนได้ความรู้ ให้สมาคมเข้มแข็งขึ้นไปเรื่อยๆ ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 200 คน และจะมีการทำบัตรให้สมาชิก ถ้ามีเรื่องร้องเรียนก็จะประสานงานให้ และตอนนี้ก็พยายามสร้างแกนนำ อสม.ที่เป็นสมาชิกในแต่ละอำเภอ เพื่อช่วยในการปะชาสัมพันธ์ต่างๆ โดยมีการจัดอบรมต่างๆให้ประมาณ 3-4 ครั้ง บางครั้งทางท้องที่อบต.ก็เชิญเรามา นัดสมาชิก ให้เราไปอบรมให้ความรู้ เพราะตอนนี้ท้องถิ่นเองก็มีกฎหมายส่งเสริมสนับสนุนให้มีศูนย์ร้องเรียนสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคอะไรต่างๆขึ้นในชุมชน”
นั่นคือความคาดหวัง-ตั้งใจของพงษ์ธร เพชรมาตย์ ผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร
และในวันนี้พวกเขาก็พบอีกแนวทางและแนวร่วมในการก้าวเดินไปพร้อมกัน...
เพราะว่าอย่างไรก็ตามการทำงานตามปกติของสมาคมก็ยังจะดำเนินไป ถึงแม้จะประสบกับอุปสรรคปัญหาข้างต้น แต่คนที่มาทำงานตรงนี้ต่างมีใจอาสาเสียสละกันเต็มที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือกรรมการ อย่างน้อยก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเข้าเวรทำงานทุกวัน พูดคุยปรึกษากันถึงทิศทางการทำงาน รับเรื่องราวร้องเรียนของผู้บริโภคในแต่ละวัน
“ส่วนใหญ่เรื่องร้องเรียนที่นี่จะจบลงที่การไกล่เกลี่ย โดยมีกรรมการของสมาคม ทนายความ ข้าราชการบำนาญ ผู้ร้อง และผู้ถูกร้อง มาทำความตกลงไกล่เกลี่ยกันถ้าไม่สำเร็จ มีข้อพิพาทเกิดขึ้น ปัจจุบันก็มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค (พรบ.วิธีพิจารณาผู้บริโภค 2551) ก็แนะนำให้ไปฟ้องที่ศาลได้โดยตรง ซึ่งทางเราก็จะช่วยตรวจเอกสารหลักฐานต่างๆให้”
.......................................................................................
ทนายธเนศ คุณพงษ์ธร พ.ต.ท.นรันดร์ คุณบัลลังก์ และคุณลุงบัญชา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บุคลากร นิติกร กรรมการ ที่ปรึกษาของสมาคมเหล่านี้อย่างน้อยผลัดเปลี่ยนกันมาทุกวัน เข้ามาเซ็นชื่อ เซ็นหนังสือออก-รับ มานั่งพูดคุยกันว่าทำอย่างไรสมาคมจึงจะอยู่ได้ มีคดีเข้ามาก็แบ่งหน้าที่กันไป เข้าร่วมไกล่เกลี่ยเป็นที่ปรึกษาหารือกัน
คุณลุงบัญชา ประชา หนุนเฟื่อง อุปนายกสมาคมคนที่ 1 รองประธานที่ปรึกษาโครงการฯ บอกว่าเรื่องร้องเรียนต่างๆเข้ามามากมาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องบริการนับแต่เรื่องมอเตอร์ไซค์ เรื่องล้างรถนำรถไปขับเฉี่ยวชนแล้วไม่ยอมรับผิดชอบ เรื่องสัญญาเช่าซื้อแล้วบริษัทบิดเบี้ยว ผู้บริโภคบางรายเพิ่งซื้อพัดลมมาใช้วันเดียวแล้วมอเตอร์ไหม้ เพราะเปิดทิ้งไว้ทั้งวันทางร้านจึงไม่ยอมให้เปลี่ยน กระทั่งบางรายเจ้าตัวต้องไปร้องเรียนถึงรัฐสภาก็มี
“เมื่อทราบว่าเกิดจากปัญหาอะไร เราก็แนะนำในเบื้องต้นว่าต้องอ่านรายละเอียดต่างๆให้ชัดเจนหรือเก็บใบเสร็จหลักฐานต่างๆเวลาซื้อเอาไว้ให้ดี เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง ก็จะมีเรื่องราวต่างๆเหล่านี้มาร้องเรียน เราก็รับไปดำเนินการให้ไม่เว้นแต่ละวัน”
ในการดำเนินงานต่างๆเหล่านี้มีมากมายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าบำรุงอาคารสถานที่ เรื่องเอกสารการจัดการต่างๆจิปาถะ กระทั่งเรื่องค่าน้ำค่าไฟ นอกจากแต่ละคนจะมาทำงานด้วยใจอาสาไม่ได้มีค่าตอบแทนใดๆแล้ว ยังต้องควักกระเป๋าช่วยเหลือสมาคมกันอีกต่างหาก อย่างน้อยก็ไว้สำหรับเป็นเงินเดือนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่มาทำงานบ้าง อย่างน้อยก็เดือนละสี่ซ้าห้าพัน แม้จะได้ไม่ประจำทุกเดือนก็ตาม
“การทำงานของทางสมาคมเราจำเป็นจะต้องมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำ ในลักษณะของงานอาสานิดๆ ซึ่งทางเราก็เห็นว่าภาระหน้าที่ค่อนข้างจะหนักและมีค่าใช้จ่ายต่างๆมาก อย่างน้อยจะช่วยกันช่วยเหลือในเรื่องค่าน้ำมันค่าเดินทางค่าต่างๆให้บ้าง”
.......................................................................................
น้องรุ้ง พรพรรณ ช่างสลัก คือเจ้าหน้าที่ประจำสมาคมฯ ผู้ร่วมจัดทำโครงการฯ อาสามาทำงานให้กับสมาคมตั้งแต่เริ่มก่อนตั้งชมรมฯขึ้นในช่วงแรก ประมาณปี 2548 เล่าท้าวความให้ฟัง
“เคยโดนละเมิดสิทธิของตัวเอง ทำให้เราไม่ได้รับอะไรที่ควรจะเป็นของตัวเองเลย”
ขณะเดียวกัน น้องรุ้งบอกว่าในท้องที่ที่เธออยู่ แม้แต่ในหมู่บ้านชุมชนเองก็พบเห็นการทุจริต เอารัดเอาเปรียบอะไรต่างๆกันมาก ทำให้เกิดความสะท้อนใจถึงตัวเอง จึงได้ตัดสินใจไปเรียนเกี่ยวกับด้านกฎหมาย เพื่อเรียนรู้เรื่องคดีความ การละเมิดอะไรต่างๆ
“เมื่อมีความรู้ทางด้านนี้แล้วจึงนำไปเผยแพร่ให้กับพี่น้อง โดยการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนอะไรต่างๆ”
ส่วนหนึ่งจากการชักชวนของประธานชมรมฯ แต่เหตุผลหนึ่งจากการประสบพบด้วยตัวเธอเอง เคยไปติดต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ทำงานประเภทเช้าชามเย็นชาม บางครั้งก็แสดงความไม่พอใจ น้องรุ้งบอกว่าไม่อยากให้คนที่ไปร้องเรียนไปแล้วไม่สบายใจเพราะเขาเองก็มีเรื่องทุกข์ใจอยู่แล้ว เราอยากช่วยเขา อยากช่วยเหลือดูแล มาทำงานที่นี่ ถึงไม่สะดวกสบายก็-ไม่เป็นไร
“ต้องเสียค่าน้ำมัน แถมยังต้องซื้ออุปกรณ์ พัดลม เก้าอี้เอามาเอง แต่เราก็คิดว่า ... ช่วยสร้างความดี ให้กับคนที่ไม่มีความรู้ ไม่มีโอกาส ได้บ้างไม่ได้บ้างก็-ไม่เป็นไร”
ทำงานจันทร์-ศุกร์ ก็เลยตัดสินใจมาพักเสียที่สมาคม เพื่อประหยัดค่าเดินทางอีกทาง เหตุผลอีกอย่างเธอว่าบางครั้งมีงานต่อเนื่อง บางครั้งผู้ร้องเรียนมาเย็นย่ำแล้วเขาเดือดร้อนก็ต้องอยู่รับเรื่องหรือให้คำปรึกษา
เธอว่าเมื่อก่อตั้งสมาคมฯที่นี่ไม่ถึงขวบปีก็มีคนมาปรึกษามาก เราก็แนะนำ รับเรื่องต่างๆ ประมาณวันละ 2-3 เรื่อง และต้องพยายามแก้ไขไกล่เกลี่ยเองให้จบให้ชัดเจน หรือได้ไม่ได้อย่างไรก็ต้องแจ้งผลไปให้ทราบ เพราะเธอเคยพบว่าแม้แต่ส่วนราชการที่รับผิดชอบโดยตรง ยิ่งถ้าไม่มีความรู้หรือเรื่องเอกสารหลักฐานขั้นตอนต่างๆไม่พร้อมจะทำให้เสียเวลา และเสียอารมณ์ สำหรับการทำงานประที่นี่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องละเมิดสิทธิ์ของผู้ประกอบการ เรื่องสัญญา ประกันภัย และเรื่องจิปาถะ ประปา ไฟฟ้า อาหาร บริการรถเมล์ เอไอเอ สินค้าหมดอายุ ก็จะให้คำปรึกษาทุกวัน
เธอยกตัวอย่าง กรณีไกล่เกลี่ยคดีความล่าสุดเรื่องรถยนต์ที่ผู้บริโภคซื้อมาแล้วเกิดยางบวม ผู้ร้องขอให้บริษัทชดใช้ ผู้ประกอบการบอกว่าอาจจะเกิดจากการขับกระแทก เมื่อบริษัทประกันมาทำเคลมตรวจพิสูจน์แล้วให้พบว่าถ้าจากสาเหตุดังกล่าวจริงล้อแม็คจะต้องเป็นรอยเสียหาย ดังนั้นบริษัทตัวแทนขายจึงแจ้งไปยังบริษัทผู้ผลิตยางโดยประนีประนอมกับผู้ร้องที่ขอให้ชดใช้ทั้งหมด 4 เส้น เป็น 1 เส้น และทำสัญญารับประกันทั้ง 4 เส้นให้ 2 ปี หรือ 2 หมื่นกิโลเมตร จึงเป็นที่ตกลงกัน
อีกกรณีที่เธอบอกว่าน่าสนใจคือคดี “เห็ดหลินจือ”ซึ่งผู้เสียหายถือเอกสารต่างๆไปร้องแล้วทางจังหวัดไม่รับเรื่อง ทางชมรมในขณะนั้นภายใต้สคบ.ส่วนกลางเป็นเจ้าหน้าที่ฟ้องแทน สุดท้ายโทษปรับบริษัทดังกล่าว 2 แสน ซึ่งขณะนั้นผู้ร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 8 ล้านบาท เพราะต้องผ่าตัดลำไส้ เสี่ยงชีวิตเป็นตาย เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ท้องที่หาดใหญ่และจบลงที่ศาลเมื่อปี 2549
37 คดีที่ได้รับการไกล่เกลี่ย 13 คดีดำเนินการเสร็จสิ้น และ 7 คดีอยู่ระหว่างพิจารณาดำเนินการ ซึ่งยังไม่นับรวมคดีเล็กๆที่มีผู้มาปรึกษาหารือ เธอบอกว่าเยอะกว่าสำนักงานส่วนราชการที่มีลูกจ้างเสียอีก อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นสมาคมแล้ว ก็จะทำเอกสารหลักฐานเอาไว้เป็นส่วนเอกเทศ หากมีองค์กรหรือหน่วยงานใดๆต้องการข้อมูลไปใช้งานใช้ประโยชน์เหมือนเมื่อก่อนก็จะได้ทำหนังสือมาขอสมาคมฯได้
.......................................................................................
เมื่อมีเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้บริโภคหลากหลายกลุ่มเข้ามามาก เธอบอกว่าก็เริ่มมองเห็นเครือข่าย โดยส่วนหนึ่งคือการทำกิจกรรมโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดชุมพร โดยทำแผ่นพับให้ความรู้แจก ให้กับกลุ่มอสม.ให้กับศูนย์ต่างๆ ในชุมชน
นอกจากการสร้างเครือข่ายในระดับจังหวัด ตามแนวทางของโครงการฯโดยทางสมาคมก็ลงไปให้ความรู้ซึ่งจัดขึ้นในทุกอำเภอ 2 ครั้ง ให้กับเครือข่าย อสม.ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่อนามัย โดยมีกรรมการ ทนายความของสมาคมร่วมเป็นวิทยากร
“ในส่วนของวิทยุชมชน เริ่มที่ทุกตำบลของอำเภอปะทิว เช่นคลื่นวิทยุชุมชน FM 85.0 MHz ในช่วงรายการ-สุขภาพเพื่อชุมชน จัดโดยคุณสุนีย์ กับช่วงของคุณปราโมทย์ซึ่งพูดถึงเรื่องสิทธิผู้บริโภคโดยตรง ทางสมาคมฯอาจจะมีสคริปรายการให้ ช่วงเย็นๆก็มีข่าวของกลุ่มอสม. สสส.สปสช.ภาคประชาชนต่างๆ ประชาสัมพันธ์สอดแทรกเข้าไป หรือใครต้องการอนุโมทนาบุญก็ให้มาทำกับสมาคม”
ประเด็นก็คือว่าสิ่งนี้คือความหวัง ถ้ามีมากๆ ก็ได้ช่วยเหลือชาวบ้านได้ทั่วถึงมากกว่านี้
.......................................................................................
เมื่อกลับมามองที่สมาคมอีกครั้ง ปัญหาอุปสรรคคือมีบุคลากรที่พร้อมจะทุ่มเททำงานเต็มร้อย แต่ขาดเครื่องมือ ขาดงบประมาณในการเปิดเครือข่าย เพราะจริงๆแล้วทางสมาคมพร้อมที่จะทำงานให้ทุกฝ่ายโดยไม่ได้คิดอะไร
งานประจำในแต่ละวันอาจจะไม่เป็นปัญหานักได้แก่...รับเรื่องร้องเรียนเมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากผู้ประกอบการต่างๆ / ประสานงานกับผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนเพื่อขอทราบข้อเท็จจริง/ประสานงานกับผู้ร้องและผู้ถูกร้องเพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ย/ประสานงานกับหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ได้รับการร้องเรียน/รวมทั้งการให้คำปรึกษาให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องสิทธิของผู้บริโภค ร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆในการออกตรวจมาตรฐานสินค้าและบริการ เพียงแต่...
“ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ แสตมป์ กระดาษ ค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าวิทยากร แม้แต่กรรมการที่มาสมาคมทุกวันอยู่บ้านไกลๆซึ่งจริงๆแล้วก็ต้องมีค่าเดินทาง อย่างน้อยก็ต้องมีชา กาแฟ ผลไม้”
น้องรุ้ง พรพรรณ ช่างสลัก เจ้าหน้าที่ประจำสมาคม ฯผู้ร่วมจัดทำโครงการฯ บอกอีกครั้ง ณ วันนี้ว่าทางออกก็คือผู้บริหารจะช่วยกันหางบ จัดงานจัดกิจกรรม
“คิดกันว่าจะทำสติ๊กเกอร์ เพื่อหางบประมาณในการเปิดเครือข่ายใน 8 อำเภอ เพราะการทำงานเป็นเสมือนการผูกมัด เป็นการสร้างงานให้เกิดขึ้น ไม่ใช่ผ่านเลย เขียนโครงการขึ้นมาแล้วมีความผูกพัน สุขใจที่ได้ทำ คนเรา...ชีวิตอยู่ไม่ถึงร้อยปี ช่วยกันสร้างความดีดีกว่า”
Relate topics
- เทป สงขลาโมเดล เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ลุงประสิทธิ เชิงแส
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรโอเดียน ประจำเดือนตุลาคม 58 ณ ห้างฯโอเดียน เมือวันเสาร์ที่ 3 ต.ค.58 ลูกค้าคึกคักทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
- สจรส.ม.อ.ร่วมงานสนับสนุนเทศกาลกินเจ หาดใหญ่ 2558 กินเจ ถูกปาก ถูกใจ ถูกอนามัย ไร้แอลกอฮอล์ โดยมีงานแถลงข่าว เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 24 ก.ย.58 ณ วัดถาวรวร
- คณะศึกษาดูงานจากเทศบาลตำบลกำแพงเพชร ณ ตลาดเกษตร ม.อ.
- อาจารย์มนทิรา คณะอุตสาหกรรมเกษตร ลงพื้นที่สวนกง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อเตรียมอบรมเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารทะเลแปรรูป