ผลวิจัยพบผู้สูงอายุ 55% เลือกใช้บริการบัตรทอง สาเหตุเพราะฟรี ประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนการรักษาอยู่ในเกณฑ์ดี รับได้ แต่ 21% เลือกรักษาที่รพ.เอกชน เพราะเชื่อว่ามีแพทย์รักษาดีกว่า และไม่อยากรอคิวนาน ที่เหลือ 24% เลือกใช้บริการแบบผสม หากเจ็บป่วยฉุกเฉินค่อยไป รพ.เอกชน เพราะรวดเร็ว เข้ารักษานอกเวลาราชการได้
รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัยการเงินการคลังสำหรับการดูแลระยะยาวผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพฯและภูมิภาค เปิดเผยผลวิจัยการศึกษาเชิงลึกด้านการใช้บริการทางด้านสุขภาพของผู้สูงอายุในกรุงเทพมหานครและเทศบาลนครอุบลราชธานี เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้บริการและสถานการณ์การใช้สิทธิด้านการรักษาพยาบาลของผู้สูงอายุ สนับสนุนโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) พบว่า มีผู้สูงอายุที่ใช้บริการสุขภาพในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง มากถึงร้อยละ 55 ผู้สูงอายุที่ไม่ใช้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลือกที่จะจ่ายเงินค่าบริการด้วยตนเอง ร้อยละ 21 ส่วนผู้สูงอายุที่ใช้บริการด้านสุขภาพทั้งสองแบบหรือแบบผสมคิดเป็นร้อยละ 24
รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้สูงอายุเลือกใช้สิทธิบัตรทอง ส่วนใหญ่ระบุว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและอยู่ใกล้บ้าน ทำให้ประหยัดเงินค่ารักษาพยาบาลได้จำนวนมาก ขณะที่ผู้สูงอายุบางคนไม่มีประกันสังคม เมื่อถามถึงการบริการของสถานพยาบาล ส่วนใหญ่เห็นว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ส่วนผู้สูงอายุที่ไม่เลือกใช้สิทธิบัตรทอง ระบุสาเหตุเพราะไม่มั่นใจในการรักษาพยาบาล และคิดว่ายาที่ได้รับ ไม่มีมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงพยาบาลเอกชนหรือคลินิกนอกเวลา รวมทั้งยังไม่สามารถเลือกแพทย์ที่จะทำการรักษาได้
“ผู้ที่ไม่เลือกใช้ใช้บริการบัตรทองบอกว่า แม้โครงการบัตรทองจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรอคิวนาน และมีแพทย์น้อย เพราะคนไข้มีจำนวนมาก ทำให้การรักษาพยาบาลไม่สะดวกรวดเร็วเหมือนโรงพยาบาลเอกชน การให้บริการก็ไม่น่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาทของแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ซึ่งต่างจากของโรงพยาบาลเอกชนโดยสิ้นเชิง” รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว
รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า ที่น่าสนใจคือผู้ที่เลือกใช้บริการแบบผสม ส่วนใหญ่ระบุว่าหากเจ็บป่วยกรณีเป็นโรคเรื้อรัง ก็จะเลือกใช้สิทธิบัตรทอง เพราะไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะการรักษาโรคเรื้อรังต้องรักษาเป็นประจำ จึงไม่อาจแบกรับภาระได้ทั้งหมด แต่หากในกรณีที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน จะเลือกใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชน เพราะสะดวกรวดเร็ว บริการดี เข้ารักษานอกเวลาราชการได้
รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าวว่า การสำรวจยังได้สอบถามความพึงพอใจต่อโครงการบัตรทอง พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ค่อนข้างพอใจ และเห็นว่าการให้บริการของสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯอยู่ในเกณฑ์ดี และมีความเชื่อมั่นในตัวแพทย์ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ผู้สูงอายุบางคนเห็นว่าแพทย์ให้บริการไม่ตรงใจ เช่น ไม่ค่อยตรวจอาการป่วย เพียงฟังอาการที่เล่า แล้วสั่งยาให้รับประทาน หรือบางกรณีผู้สูงอายุได้พบเห็นการพูดจาไม่ดีทำให้บางคนที่พอจะมีกำลังทรัพย์ หันไปใช้บริการของเอกชนแทน หรือหากไม่มั่นใจในการก็จะไปตรวจรักษาเพิ่มเติมที่สถานพยาบาลอื่นๆ ที่ตนเองเชื่อมั่นมากกว่า โดยจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนนั้นด้วยตนเอง
“ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นว่าแม้การใช้บริการบัตรทอง จะเป็นการรักษาพยาบาลตามสิทธิ ไม่ต้องเสียเงิน แต่การกำหนดคิวนัดหมายในการรักษาพยาบาลค่อนข้างช้า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องรอคิวนาน ผู้สูงอายุบางคนอาจไม่สามารถรอได้ ซึ่งปัญหาการกำหนดคิวนัดหมายนี้เอง เมื่อเปรียบเทียบกับการให้บริการของสถานพยาบาลภาคเอกชนจะความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้มีผู้สูงอายุส่วนหนึ่งเลือกที่จะรับบริการทางด้านสุขภาพแบบผสม” รศ.ดร.วรเวศม์ กล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)