กรมควบคุมโรคลุยแก้ กม.บุหรี่ 2 ฉบับ หลังใช้นาน 18 ปี ล้าสมัย ไม่ทันกลยุทธ์บุหรี่รูปแบบใหม่ๆ เสนอตั้งหน่วยงานดูแลโดยตรง รับสธ.ไม่มีอำนาจเอาผิด “เครื่องมวนบุหรี่” โยนกรมสรรพสามิตจัดการ
วันที่ 7 พฤษภาคม นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวได้มีการประกาศใช้มากว่า 18 ปี แล้ว ซึ่งในสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมากจึงควรที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายทั้งสองฉบับเพื่อให้มีความเป็นปัจจุบันให้ทันกับสถานการณ์ ซึ่งล่าสุดพบว่ามีการโฆษณาบุหรี่ในรูปแบบใหม่ เช่น การโฆษณาผ่านอินเตอร์เน็ต รวมทั้งยังมีผลิตภัณฑ์บุหรี่ในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น บุหรี่อิเล็กทรอนิคส์ ซึ่งยังไม่มีกฎหมายควบคุม จึงจำเป็นจะต้องปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาการทั้งในเรื่องของโฆษณาและผลิตภัณฑ์บุหรี่ด้วย
“ในส่วนการควบคุมเครื่องมวนบุหรี่นั้น การปรับปรุงกฎหมายคงไม่มีขอบเขตไปถึง เพราะกฎหมายดังกล่าวจะควบคุมผลิตภัณฑ์ และสุขภาพของประชาชน แต่ไม่ได้ควบคุมไปยังการผลิต ซึ่งการใช่เครื่องมวนบุหรี่ก็เปรียบเหมือนการผลิตบุหรี่เอง ซึ่งจะต้องอยู่ในการดูแลของกรมสรรพสามิต ขณะเดียวกัน ในส่วนบทลงโทษคงจะยังไม่มีการปรับบทลงโทษให้รุนแรงมากขึ้น แต่จะมีการหารือเพื่อบังคับใช้โทษที่มีอยู่ให้เกิดผลมากกว่า เพราะปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายในส่วนของบทลงโทษยังไม่ค่อยเกิดผลเท่าที่ควร” นพ.ประพนธ์ กล่าว
นพ.ประพนธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในการปรับปรุงพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ จะมีการดำเนินการในลักษณะที่ใกล้เคียงกับการดำเนินงานของพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาควบคุมโดยเฉพาะ พร้อมทั้งตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลในเรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ และยาสูบโดยตรง ส่วนแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายที่มีการระบุว่าอาจจะมีการรวม พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนั้น คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายทั้งสองฉบับมีเจตนารมณ์ที่ต่างกัน คงจะนำมารวมกันไม่ได้ ซึ่งในขณะนี้ความคืบหน้าในการปรับปรุงกฎหมายทั้งสองฉบับกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมาย และจากนั้นกรมควบคุมโรคจะสรุปเสนอ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เพื่อพิจารณาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
“การปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมมากขึ้น อีกทั้งการบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับก็มีการใช้มาเป็นเวลานานแล้ว แต่ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับบุหรี่มีการพัฒนาอยู่ตลอด จึงจำเป็นต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น” นพ.ประพนธ์ กล่าว
ที่มา:ASTVผู้จัดการออนไลน์ 7 พฤษภาคม 2553
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)