อุบเงียบสงขลาโรคไข้ไทฟอยด์ระบาด ป่วยกว่า 100 ราย สำนักระบาดฯ รับระบาดเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ยันคุมได้แล้วสถานการณ์ไม่น่าห่วง สอบสวนโรคสงสัยเพราะแหล่งน้ำไม่สะอาด ระดับคลอรีนต่ำ แนะกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะดีกว่าฉีดวัคซีน ห่วงเปิดเทอมกลับมาระบาดอีก สั่งเฝ้าระวังเข้มแม่ค้าหน้าโรงเรียน
นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 - มกราคม 2553 พบว่ามีการระบาดของโรคไข้ไทฟอยด์ หรือโรคไข้รากสาดน้อย หรือที่ในอดีตเรียกกันว่า โรคไข้หัวโกร๋นใน จ.สงขลา
โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนของเทศบาลเมืองสงขลา แต่ไม่พบการดื้อยา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงของการระบาด ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคของฝ่ายแบคทีเรียลำไส้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่าหลังจากการระบาดเมื่อปี 2517-2519 ไม่มีรายงานการระบาดเป็นกลุ่มใหญ่ของโรคไข้ไทฟอยด์ในประเทศไทยอีก จนกระทั่งปลายปี 2540 พบการระบาดในศูนย์อพยพชาวกัมพูชา จ.ตราด มีผู้เสียชีวิตร้อยละ 4 และมีการระบาดมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการดื้อยาหลายชนิดอีกด้วย
นพ.จักรธรรม กล่าวต่อว่า ไข้ไทฟอยด์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Salmonella Typhi โดยคนเป็นแหล่งรังโรค ส่วนใหญ่พบว่ามีพาหะที่ปล่อยเชื้อทางอุจจาระได้มากกว่าทางปัสสาวะ ส่วนการติดเชื้อเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนมาจากอุจจาระหรือปัสสาวะของผู้ป่วย และอาจพบเชื้อในหอย ปู กุ้ง ที่จับได้ในแถบชายฝั่งที่มีท่อน้ำเสียระบายลงทะเล ผลไม้หรือผักสดที่ใช้ปุ๋ยอุจจาระรด นมและผลิตภัณฑ์จากนมซึ่งอาจเป็นตัวกลางแพร่เชื้อ ส่วนมากเชื้อจะติดมาจากมือของผู้ที่เป็นพาหะ สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคไข้ไทฟอยด์จะมีไข้สูงเป็นระยะเวลานาน ปวดศีรษะอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ม้ามโต ชีพจรเต้นช้า มีจุดแดง(rose spots) ตามลำตัว ไอแห้งๆ และพบว่า มีอาการท้องผูกมากกว่าท้องร่วง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยนั้นจะรักษาตามอาการ ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข
นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า การดูแลและป้องกันไม่ให้เป็นโรคไข้ไทฟอยด์ได้โดยการฉีดวัคซีนซึ่งจะฉีดให้กับคนที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อที่เกิดจากการประกอบอาชีพหรือคนเดินทางไปในพื้นที่เกิดโรคเป็นประจำรวมถึงคนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีการเป็นโรคมาก อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ ถ้าได้รับวัคซีนหลังจากได้รับเชื้อเป็นจำนวนมาก ดังนั้น วิธีป้องกันที่ดีสุด คือ การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆดื่มน้ำต้มหรือน้ำที่ฆ่าเชื้อแล้ว ล้างมือให้สะอาดก่อนปรุงหรือจับอาหารและหลังจากเข้าส้วม การกำจัดสิ่งปฏิกูลให้ถูกสุขลักษณะเพียงเท่านี้ก็สามารถหลีกเลี่ยงโรคไข้ไทฟอยด์ได้
ด้านนพ.ภาสกร อัศวเสวี ผู้อำนวยการระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การระบาดของโรคไข้ไทฟอยด์ในพื้นที่จ.สงขลา เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยประชาชนในพื้นที่อ.เมือง จ.สงขลาป่วยประมาณ 130-140 คน จากการสอบสวนโรค สงสัยว่าเกิดจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด ระดับคลอรีนในน้ำต่ำ จึงเกิดการปนเปื้อนของเชื้อ เข้าสู่อาหารที่เลี้ยงในโรงเรียนเด็กเล็กและสถานพินิจ ทั้งนี้ โรงพยาบาลในพื้นที่ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 ดำเนินการเก็บตัวอย่างประชาชนที่ต้องสงสัยติดเชื้อเพิ่มเติม จำนวน 2 พันตัวอย่าง ไม่พบเชื้อ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้เรียบร้อยแล้ว และยังไม่น่ากังวลว่าโรคจะแพร่ระบาดไปในพื้นที่อื่น
นพ.ภาสกร กล่าวอีกว่า ภายหลังเกิดการระบาดกรมได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 ดำเนินการแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบอาหารเพิ่มระดับการระมัดระวังเรื่องความปลอดมากขึ้น รวมถึง ตรวจอุจจาระ และอาหารของพ่อค้า แม่ค้าที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งขอความร่วมมือการประปาและโรงน้ำแข็งให้เติมคลอรีนในน้ำในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ตรวจสอบและล้างทำความสะอาดตลาดในพื้นที่ และให้ความรู้เกี่ยวกับสุขศึกษาแก่ประชาชน เช่น การเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น
ด้าน นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 กล่าวว่า การระบาดเริ่มขึ้นในโรงเรียน แม้สถานการณ์ขณะนี้ไม่น่าห่วง แต่ในช่วงเปิดภาคการศึกษาใหม่จำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดต่อไป โดยเฉพาะสุขาภิบาลของแม่ครัวในโรงเรียน และพ่อค้า แม่ค้าที่ขายอาหารหน้าโรงเรียน ซึ่งจะขอความร่วมมือโรงเรียนในการแจ้งให้ผู้ปกครองและนักเรียนหลีกเลี่ยงที่จะซื้ออาหารจากแม่ค้าหน้าโรงเรียน เพราะอาจจะมีการขั้นตอนการผลิตที่ไม่สะอาด
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)