สปสช.ชี้บัตรทองไม่ทำรพ.เจ๊ง เผย7ปีค่าใช้จ่ายลดลง1% คนไทย47ล้านเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น
ระบบ"บัตรทอง"เจ๋ง ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น สปสช.ชี้ไม่ทำให้ รพ.ล้มละลาย เผยข้อมูล 7 ปี เงินสดคงเหลือมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หักลบแล้วสอดคล้องกับหนี้สินของโรงพยาบาล ขณะที่ค่าใช้จ่ายสุขภาพคนไทยลดลงร้อยละ 1 สะท้อนให้เห็นความพึงพอใจจากผู้รับและผู้ให้
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ว่า ขณะนี้พบว่ามีประชาชนกว่า 47 ล้านคน เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 8 รัฐบาลในแต่ละสมัยได้จัดงบฯหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 224 และจากข้อมูลการเงินหน่วยบริการ กลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พบว่าโรงพยาบาลสังกัด สธ. มีแนวโน้มเงินสดคงเหลือในปี 2545-2552 สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2545 มีเงินสดคงเหลือ 14,605 ล้านบาท และในปี 2552 มีคงเหลือ 42,968 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่หนี้สินของโรงพยาบาลเหล่านี้ ปี 2552 พบประมาณ 16,000 ล้านบาท เมื่อหักลบแล้วยังถือว่าสอดคล้อง
"ข้อมูลนี้สะท้อนว่าการมีระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้ทำให้โรงพยาบาลทั้งระบบเป็นหนี้ และประสบภาวะล้มละลาย เนื่องจากมีเงินเข้าระบบมากขึ้น แม้จะมีรายจ่ายมากขึ้น แต่ก็ยังสามารถจัดการได้" นพ.วินัยระบุ
นพ.วินัยกล่าวอีกว่า สำหรับประชาชนนั้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนลดลง โดยก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพในปี 2533-2544 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนเทียบกับรายได้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 8.17 แต่หลังจากมีระบบในปี 2545-2549 ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลดลงเหลือร้อยละ 1.27 เท่านั้น ข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้สะท้อนผ่านการสำรวจความพึงพอใจจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการ โดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ซึ่งสำรวจตั้งแต่ปี 2546-2552 พบว่าปี 2552 ในส่วนของผู้รับบริการ มีความพึงพอใจร้อยละ 89.3 เพิ่มจากปี 2545 ที่มีความพึงพอใจร้อยละ 83 สำหรับผู้ให้บริการมีความพึงพอใจร้อยละ 60.3 เพิ่มจากปี 2545 ที่มีความพึงพอใจ ร้อยละ 45.6
เลขาธิการ สปสช.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2552 มีการใช้บริการ ผู้ป่วยนอก 140.7 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2545 ร้อยละ 32 และจำนวนการใช้บริการผู้ป่วยในปี 2552 จำนวน 5.21 การดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพนั้น สปสช.มีการดำเนินการเรื่องการเข้าถึงโรค ค่าใช้จ่ายสูง เช่น มีเครือข่ายบริการโรคหัวใจ 62 แห่ง จัดตั้งเครือข่ายเคมีบำบัด เครือข่ายการส่งต่อ-ส่งกลับบริการโรคมะเร็ง ช่องทางด่วนรับบริการโรคหลอดเลือดสมอง การให้ยาต้านไวรัสผู้ติดเชื้อเอชไอวี การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น การจัดทำโครงการโรคเฉพาะ เช่น การผ่าตัดตาต้อกระจก ผ่าตัดข้อเข่าเทียม และการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)