สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม’ ชี้ แนวโน้มเรื่องร้องเรียนปัญหาโทรคมนาคมเพิ่มสูงแน่ ติง ร่าง พรบ.กสทช. ต้องเขียนกลไกคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัด รองรับความเดือดร้อนผู้บริโภคในอนาคตด้วย สามารถแก้ปัญหาเชิงระบบ และทำหน้าที่เหมือนอัยการรวบรวมข้อเท็จจริงให้ศาล
เมื่อวันที่ 26-27 เมษายน 2553 ที่โรงแรมริชมอนด์ 11 องค์กรผู้บริโภค อาทิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เครือข่ายคุ้มครองสิทธิจังหวัด ได้จัดการประชุมสมัชชาผู้บริโภค “เงินของเรา สิทธิของใคร” (your money your right) 10 บาท...เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ขึ้น
ช่วงหนึ่งของการประชุมได้มีการประชุมกลุ่มย่อย 6 กลุ่ม หนึ่งในนั้นคือเรื่อง การให้ความเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... (พ.ร.บ.กสทช.) ซึ่งล่าสุด วุฒิสภาได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้วด้วยเสียงข้างมาก และตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณา
หนึ่งในหลายประเด็นที่ที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภคห่วงใย คือ ม. 31 ในร่าง พรบ. ดังกล่าว ที่กำหนดให้กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคมีสถานะเป็นเพียงคณะอนุกรรมการเท่านั้น ซึ่ง นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (ผอ.สบท.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า จากการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พบว่า แนวโน้มของเรื่องร้องเรียนด้านโทรคมนาคมเกือบทุกประเทศเพิ่มสูงขึ้น เช่น ที่ประเทศอังกฤษ ปรากฏว่า ในปี 2551 นั้น 2 ใน 10 อันดับเรื่องร้องเรียนเป็นเรื่องโทรคมนาคม และโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขณะที่สหรัฐอเมริกา ข้อมูลจากสมาคมนักกฎหมายอเมริกาพบว่า เรื่องร้องเรียน 10 อันดับในปี 2550 มีเรื่องโทรคมนาคมอยู่ในอันดับ 4 ส่วนประเทศออสเตรเลียสามเดือนแรกปี 2552 มีเรื่องร้องเรียนถึง 130,000 เรื่อง
ผอ.สบท.กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเทศไทย ในปี 2551 มีจำนวนผู้ร้องเรียน 300 กว่าราย ปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 2,000 กว่าราย เพิ่มขึ้น 7 เท่า จากแนวโน้มการร้องเรียนที่จะเพิ่มสูงขึ้น การทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม จึงจำเป็นต้องมีกลไกในการทำงาน เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะราย และกลไกนี้ต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทั่วทุกภูมิภาค ดังนั้นร่าง พรบ.กสทช. จำเป็นต้องบัญญัติกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในกฎหมาย ให้เป็นกลไกที่สามารถรับเรื่องร้องเรียน แก้ปัญหาในเชิงระบบ เชื่อมโยงหน่วยบังคับใช้กฎหมายและเชื่อมโยงกับประชาชน
“ร่าง พรบ. ดังกล่าวเป็นการเขียนเชิงหลักการ ที่ระบุให้มีคณะอนุกรรมการ แต่ในสถานการณ์จริงแนวโน้มของการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อและด้านโทรคมนาคมจะเพิ่มขึ้น อย่างที่คาดการณ์ว่าในอนาคตทุกประเทศจำนวนผู้ร้องเรียนจะแตะหลักแสน ถ้าถึงขนาดนั้นต่อให้มี 10 อนุกรรมการก็ทำงานไม่ทัน มันคงต้องมีองค์กรและกลไกที่ทำหน้าที่อย่างเต็มรูปแบบ ที่มีหน้าที่กลั่นกรองเรื่อง วิเคราะห์ข้อร้องเรียนเป็น กำหนดประเด็นทางกฎหมายเป็น และเตรียมข้อเสนอในทางเลือกว่า กรณีนี้จะมีทางเลือกในการแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อให้อนุกรรมการเป็นเหมือนผู้ทรงคุณวุฒิที่มาใช้ดุลยพินิจมากกว่า แต่คนที่จะใช้ทักษะในการแสวงหาข้อเท็จจริงและเตรียมสำนวนเป็นชั้นของสำนักงาน เหมือนตำรวจอัยการ เตรียมสำนวนก่อนส่งฟ้องศาล ไม่ใช่ศาลต้องไปสืบสวนสอบสวนทำสำนวนเอง ถ้าอย่างนั้นอนุกรรมการก็จะทำงานไม่ไหว” ผอ.สบท. กล่าว
ที่มา:ประชาไทออนไลน์ วันที่ 28 เมษายน 2553
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)