ผู้ใช้ไฟฟ้าหลายรายต้องปวดหัวกับ กรณี ถูกเก็บเงินเป็นค่าธรรมเนียมต่อไฟฟ้า 107 บาทเนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ค่าไฟ จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จนเกิดความรู้สึกค้างคาใจกับความอยุติธรรมที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจหยิบให้กับผู้บริโภค มีคำถามตามมามากมายกับพฤติกรรมดังกล่าว
มีผู้ใช้ไฟฟ้าหลายรายที่ร้องเรียนและพูดคุยผ่านสื่อมวลชน เช่น รายการแลบ้านแลเมือง ทางวิทยุ มอ. 88 MHz. ถูกเรียกเก็บเงินเนื่องจากการไปชำระค่าไฟฟ้าผิดนัดจากที่กำหนดในใบเสร็จแจ้งค่าไฟ ที่ถูกนำมาเสียบไว้ตามตู้เก็บใบเสร็จ
หากย้อนไปในอดีตการเก็บเงินค่าไฟฟ้าจะดำเนินการผ่านพนักงานเก็บค่าไฟที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะเป็นคนว่าจ้าง เพื่อไปเดินเก็บเงินตามบ้านเรือนภายในหมู่บ้านรับผิดชอบแต่ละราย แต่มาในปัจจุบันที่ ยุคที่การไฟฟ้าอ้างไว้ว่า เพื่อความสะดวกจึงให้ชาวบ้านไปชำระหนี้ผ่านเค้าท์เตอร์เซอร์วิสอันเป็นคู่สัญญากับร้านสะดวกซื้อชื่อดังที่รวมกันแล้วไม่ถึง 30 (7+11=28) หากวิเคราะห์ความเป็นเหตุเป็นผลที่ทาง กฟภ.คิดระบบของการชำระเงินผ่านเค้าท์เตอร์เซอร์วิส ก็ถือว่าดีเป็นการอำนวยความสะดวก แต่หากมองอีกด้านหนึ่งของผลกระทบตามมา ก็พบว่าเป็นการเอาเปรียบและเพิ่มภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ากลายๆ เนื่องจากเมื่อก่อนหากเก็บผ่านพนักงานเก็บเงิน ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ แต่ กฟภ.เป็นคนจ่ายค่าจ้างพนักงานเก็บเงิน แต่ขณะนี้ไม่ใช่เสียแล้ว เพราะกลายเป็นว่าภาระค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายผ่านเคาท์เตอร์เซอร์วิส ถูกผลักให้เป็นภาระแก่ผู้ใช้ไฟ หากคำนวณเป็นรายได้ที่เค้าเตอร์เซอร์วิสได้รับจากธุรกิจรับชำระค่าไฟฟ้าที่ครัวเรือนต้องจ่ายให้แก่เค้าเตอร์เซอร์วิส พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนครัวเรือน 18.3 ล้าน ครัวเรือน(ข้อมูลปี 2552 จากงานทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย) X ด้วย 10 บาท(ค่าธรรมเนียมที่จะต้องเสียให้กับเคาเตอร์เซอร์วิส) มีมูลค่าเท่ากับ 183 ล้านบาท ต่อเดือน ถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อยเลย แล้วใน 1 ปี (12 เดือน) คิดเป็นมูลค่า 2196 ล้านบาท โอ้โห.....ไม่น้อยเลยครับ แต่ที่ต้องคิดต่อไปว่าผลประโยชน์เหล่านี้ตกอยู่กับใคร?....แต่ขอให้มั่นใจได้ว่าคงมิใช่ตาสี ตาสา หรือ ยายมา คนรับจ้างเก็บค่าไฟอีกต่อไป
ข้อมูลผลประกอบการของ กฟภ.ก็ต้องยอมรับว่ามีกำไรจากการประกอบการแต่ละปีมหาศาล ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ เกรด เอ หากยังไม่ลืมเลือน...คงจะจำได้ว่า ถึงกับเคยมีนโยบายการนำเอาหุ้น กฟภ.เข้าขายในตลาดหุ้น...และให้สิทธิพิเศษกับพนักงาน กฟภ.ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าที่ชาวบ้านเค้าซื้อกัน ...แต่ฝันต้องล่มสลาย...เพราะศาลมีคำสั่งยกเลิกห้ามนำ กฟภ.ไปแปรรูปเสียก่อน ....ชวด...เลย บางครั้งนำเงินส่วนนี้ไปลงทุนในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม แต่ไม่มีการนำเอาผลกำไรส่วนเล็กน้อยมาสนับสนุนเป็นค่าบริการของผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ชำระเงินผ่านเคาท์เตอร์เวอร์วิส ในมื่อท่านบอกว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีธรรมภิบาล แต่จากพฤติกรรมที่เกิดขึ้นกลับเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภคแทน
นอกจากความเอาเปรียบข้างต้นแล้ว ก็ยังเอาเปรียบต่อที่ 2 อีก คือ การเรียกเก็บเงินเป็นค่าธรรมเนียม เมื่อผู้ใช้ไฟผิดชำระเงินค่าไฟฟ้ารายเดือน ซึ่งต้องจ่ายเงินเพิ่ม 107 บาท คล้ายกับกรณี ของโทรศัพท์มือถือที่เมื่อก่อนจะมีประกาศของ กทช.ห้ามเก็บเงินเพิ่ม 107 บาท เพื่อเป็นค่าต่อสัญญาณ แต่ กฟภ.อ้างเหตุผลว่าเพื่อเป็นค่าต่อจ้างช่างไปตัดมิเตอร์ไฟ บางคนบอกว่า เอ๊ะ...ไม่เห็นจะไปตัดตามที่เก็บเงินไปแล้ว ผู้ใช้ไฟส่วนใหญ่ก็คงจะไม่กล้าโต้เถียงหรือแย้งว่า...เค้ามีสิทธิ์เก็บหรือไม่
มีผู้บริโภคท่านหนึ่งซึ่ง ทำงานเป็นอาจารย์สอนกฎหมาย ได้ทำการทักท้วงกับ กฟภ.เมื่อถูกเรียกเก็บเงิน 107 บาท เนื่องจากผิดชำระหนี้ค่าไฟฟ้าไป 4 วัน เนื่องจากไปทำธุระต่างจังหวัด เมื่อเกิดการทักท้วง โต้เถียงถึงความชอบธรรม หรือมีกฎระเบียบมารองรับ พนักงานการไฟฟ้าถึงกับอ้ำอึ้ง...ตอบไม่เต็มปากเต็มคำ สุดท้าย กฟภ.หาดใหญ่กลับไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว ซึ่งก็มีคำถามชวนให้สงสัยว่า แล้วกับผู้ใช้ไฟที่เป็นตาสีกับตาสา ที่ไม่มีความรู้และไม่ทักท้วงกลับถูกเรียกเก็บเงิน ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา จึงใคร่ขอตั้งคำถามกับหน่วยงานอย่าง กฟภ.ดังนี้
1. การกระทำของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สามารถกระทำได้หรือไม่ และเป็นอำนาจที่ชอบตามกฎหมายหรือระเบียบฉบับใด
2. พฤติกรรมการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายการเอารัดเอาเปรียบกับผู้บริโภคหรือไม่
ทั้งนี้เนื่องจากเกณฑ์ที่กำหนดว่า ต้องเก็บเงินเป็นค่าธรรมเนียม 107 บาทจากผู้ผิดนัดชำระหนี้ค่าไฟฟ้า จะไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะถือเป็นการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ คือร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่เกิดการผิดนัดชำระหนี้จากผู้ใช้ไฟฟ้า
3. แนวทางของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เกี่ยวกับการตัดมิเตอร์ไฟฟ้า นั้นถือเป็นการขัดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หรือไม่
เพราะถือเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดหาสาธารณูปโภคแก่ประชาชน ซึ่งในต่างประเทศนั้นมีการกำหนดสิทธิผู้บริโภคไว้ ว่าผู้บริโภคมีสิทธิเข้าถึงสาธารณูปโภค และถือเป็นหน้าที่ของรัฐอันพึงต้องดำเนินการ
คำถาม 3 ข้อนี้ขณะนี้ทางศูนย์ฯได้มีหนังสือถามไปยัง เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อสอบถามไปยัง กฟภ.หน่วยงานที่เป็นคู่กรณี ความคืบหน้าทางศูนย์ฯจะนำมาเล่าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกท่านได้ทราบในโอกาสต่อไป
เรียบเรียงโดย เภสัชกร สมชาย ละอองพันธุ์ ผู้ประสานงานศูนยืพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ