อย.เฉียบ !! สั่งระงับโฆษณาขายยาจิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง ทางเคเบิลทีวีทุกช่อง รวมทั้งที่โฆษณาผ่านทางแผ่นปลิวนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ หลังพบโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ว่า สามารถรักษาโรคได้สารพัด ขณะที่มีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่ อย.จำนวนมาก เหตุไม่สามารถรักษาโรคได้ตามที่โฆษณา วอนอย่าได้หลงเชื่อ เตือนผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย/ผู้โฆษณา อย่าละเมิดคำสั่ง หากพบมีการโฆษณาดังกล่าวอีก จะถูกดำเนินคดีทั้งมีโทษจำและปรับ รวมทั้งอาจถึงขั้นเพิกถอนทะเบียนตำรับยา
ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคหลายราย ให้ อย.ตรวจสอบยาสมุนไพร “จิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง” ที่ซื้อมากินแล้วไม่ได้ผลตามสรรพคุณที่กล่าวอ้าง อย.จึงได้ตรวจสอบ พบมีการโฆษณาขายยาสมุนไพรจิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง ผ่านทางเคเบิ้ลทีวีหลายช่อง และเว็บไซต์ พร้อมกันนี้ ยังพบการโฆษณาทางแผ่นปลิว นิตยสาร และหนังสือพิมพ์บางฉบับ โดยทุกสื่อที่ตรวจพบ ปรากฏว่า มีการโฆษณาในลักษณะเดียวกัน คือ อวดอ้างรักษาได้สารพัดโรค อย่างเช่น ข้อความโฆษณา “....สุขภาพดีแข็งแรงและแข็งแกร่งด้วยสมุนไพรจีนโบราณต้องปู่เซิน เป็นยาบำรุงร่างกาย มีสรรพคุณในการฟื้นฟูตับไต รักษาเบาหวาน ความดัน โรคเกาต์ รูมาตอยด์ ต่อมลูกหมากอักเสบ บำรุงระบบเลือด กระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย เสริมสมรรถภาพทางเพศ” เป็นต้น รวมทั้งทางสื่อเคเบิลทีวีมีการนำตัวอย่างบุคคลที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคภูมิแพ้ เลือดลมไม่ดี ไมเกรน ฯลฯ โดยอ้างว่าหลังจากบริโภคยาดังกล่าวทำให้อาการของโรค หรือโรคที่เป็นอยู่ดีขึ้น อย.ขอชี้แจงว่า ไม่เคยอนุญาต หรือรับรองว่า ยาสมุนไพรจิ่วเจิ้งปู่เซินเจียวหนัง มีสรรพคุณ หรือคุณประโยชน์ในทางรักษาโรค ในลักษณะที่ผู้จำหน่ายหรือผู้ขายนิยมไปโฆษณาทางสื่อต่างๆ เนื่องจากไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยที่เชื่อถือได้ยืนยัน จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าได้หลงเชื่อ โดยยาดังกล่าวมีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนตำรับไว้ คือ บำรุงร่างกาย เท่านั้น
ปัจจุบัน อย.กำลังดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งจะมีโทษข้อหาโฆษณาขายยาโดยแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จหรือเกินจริง และโฆษณาโดยแสดงสรรพคุณยาว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรืออาการของโรคที่รัฐมนตรีประกาศ จะถูกระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และได้มีหนังสือสั่งระงับการโฆษณาขายยาดังกล่าวในทุกสื่อทันที อีกทั้งขณะนี้ อย.ได้จัดทำหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการมิให้มีการโฆษณาผิดกฎหมายเช่นนี้ซ้ำ มิฉะนั้น หากตรวจพบอีก จะนำเข้าคณะกรรมการยา เพื่อพิจารณาเพิกถอนทะเบียนตำรับยาดังกล่าว
รองเลขาธิการ อย.กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้ประกอบการทุกรายเห็นแก่ความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่าโฆษณาด้วยวิธีต่างๆ ในลักษณะที่เกินเลยความเป็นจริง มิเช่นนั้น อย.จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด สำหรับผู้บริโภคขอให้ช่วยเป็นหูเป็นตา และอย่าหลงเชื่อง่าย นอกจากซื้อยาดังกล่าวในราคาแพงแล้ว อาจไม่ได้ผลในการรักษา แถมเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายโดยไม่รู้ตัวได้ หากพบการโฆษณาขายยาโอ้อวด เกินจริงให้แจ้งร้องเรียนได้ที่ ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชั้น 1 ตึก อย.หรือ สายด่วน อย.1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th หรือ ตู้ ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี 11004
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 26 มีนาคม 2553 14:15 น
Relate topics
- กรณีศึกษา อย.เตือนยาคีไตรโซนผิดมาตรฐาน-อันตราย สั่งเก็บทุกสถานพยาบาล
- กรณีศึกษา อย.เผยพบแบคทีเรียปนเปื้อน “น้ำยาบ้วนปากออรัล-บี” เตือน ปชช.ระงับใช้
- กรณีศึกษา สลด!! ว่าที่ "นิสิตเภสัช" ม.มหาสารคาม กินยาลดความอ้วนดับ น้องสาวเผยกลัวใส่ชุดไม่สวย
- กรณีศึกษา สั่งถอนยา "บีเวลล์" แก้เซ็กซ์เสื่อมอาจมีผลข้างเคียงถึงตาย!
- กรณีศึกษา ธนาคารมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมอย่างอื่นนอกเหนือจากดอกเบี้ยหรือไม่