บทความ

น้ำตาเทียม..เลือกใช้อย่างไร

by twoseadj @April,01 2010 09.36 ( IP : 202...252 ) | Tags : บทความ
photo  , 400x300 pixel , 15,362 bytes.

โดยปกติน้ำตาตามธรรมชาติของคนเราสามารถให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตาเพียงพออยู่แล้ว แต่ในบางกรณีที่ทำให้ความชุ่มชื้นของดวงตาน้อยกว่าปกติ อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมเพื่อช่วยหล่อลื่นและเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา

น้ำตาเทียมจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติในการสร้างน้ำตาตามธรรมชาติ ทำให้มีน้ำตาน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยบางรายที่ปิดตาได้ไม่สนิท ผู้ที่มีความผิดปกติของเยื่อบุตาหรือกระจกตา ผู้ที่มีอาการตาแห้ง อาจเนื่องมาจากความเครียด ซึ่งพบว่าเป็นสาเหตุ 50% ของผู้ป่วยที่มีตาแห้ง ในสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้น้ำตาระเหยง่าย เช่น แสงแดดจัด ร้อนจัด ลมแรง ความชื้นต่ำเช่นในห้องปรับอากาศ หรือมีสิ่งระคายเคืองต่างๆ เช่น ฝุ่นละออง เขม่าควัน การใช้คอนแท็กเลนส์ รวมทั้งการใช้สายตาเป็นเวลานานๆ เช่น อ่านหนังสือหรือทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์

น้ำตาเทียมจะช่วยหล่อลื่นดวงตาและเพิ่มความชุ่มชื้นแก่กระจกตาและเยื่อบุตาขาว เพื่อบรรเทาอาการตาแห้ง ซึ่งจะมีอาการแสบตา เคืองตา รู้สึกว่าตาแห้งฝืด บางครั้งมีขี้ตาเป็นเส้นๆ เมือกๆ ทำให้ลืมตายาก อาการมักเป็นมากในช่วงบ่ายๆ เย็นๆ หากมีอาการเรื้อรัง ขี้ตาเป็นเมือกติดแน่นที่กระจกตา ทำให้ผิวตาดำไม่เรียบ ติดเชื้อง่าย จะทำให้เกิดแผล หากไม่ได้รับการรักษาที่ดี จะทำให้แผลอักเสบถึงขั้นตาบอดได้

น้ำตาเทียมเป็นสารสังเคราะห์ที่ผลิตขึ้นโดยให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด มีส่วนประกอบที่สำคัญ ดังนี้

  • ส่วนผสมที่ช่วยเพิ่มความหนืดเพื่อให้ฉาบอยู่บนกระจกตาได้นานขึ้น แต่หากเป็นน้ำตาเทียมที่มีความหนืดมาก ระยะเวลาที่น้ำตาเทียมฉาบอยู่บนกระจกตานานๆ อาจทำให้มีอาการตามัว มองไม่ชัดหลังหยอดตาในระยะแรก

  • สารกันเสีย ช่วยให้น้ำตาเทียมคงสภาพอยู่ได้นาน และป้องกันการเติบโตของเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนเข้าไปขณะหยอด ทำให้สามารถเก็บได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด

  • ส่วนผสมที่ช่วยปรับสมดุลขององค์ประกอบอื่นในน้ำตาเทียม ปรับความเป็นกรดด่างให้พอเหมาะ ไม่แสบตาเวลาหยอด และช่วยคงสภาพของน้ำตาเทียม

  • ส่วนประกอบอื่นๆ เพื่อให้น้ำตาเทียมมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำตาธรรมชาติมากที่สุด เช่น ไกลซีน แมกนีเซียมคลอไรด์ โซเดียมคลอไรด์ แคลเซียมคลอไรด์ โซเดียมบอเรต และซิงค์

น้ำตาเทียม มีอยู่ 2 ประเภท คือ

  1. น้ำตาเทียมที่ใส่สารกันเสีย จะบรรจุในขวดใหญ่ ประมาณ 3 - 15 ซีซี สามารถใช้ได้นานประมาณ 1 เดือนหลังจากเปิดขวด มีข้อเสียคือสารกันเสียอาจทำให้เกิดการแพ้ระคายเคืองต่อเยื่อบุตา หรือเกิดการปนเปื้อนในกรณีที่เก็บไว้นานๆ

  2. น้ำตาเทียมที่ไม่ใส่สารกันเสีย จะบรรจุในหลอดเล็กๆ หลอดละ 0.3 - 0.9 ซีซี มีตั้งแต่ 20 - 60 หลอดต่อ 1 กล่อง แต่ละหลอดเมื่อเปิดใช้แล้ว ต้องใช้ให้หมดภายใน 24 ชั่วโมง ข้อดีคือผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพ้เลย แต่จะมีราคาสูงกว่า

ปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำตาเทียมโดยใช้สารกันเสียที่สามารถสลายตัวได้เองเมื่อถูกแสงแดด กลายเป็นเกลือที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อเยื่อบุตา

ควรเก็บน้ำตาเทียมไว้ที่อุณหภูมิ 2 - 25 องศาเซลเซียส แต่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน หากเก็บไว้นอกห้องที่มีเครื่องปรับอากาศ ก็ควรเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำตาเทียม และไม่ควรใช้หลังจากหมดอายุที่ระบุไว้บนกล่อง

การเลือกใช้น้ำตาเทียม

การเลือกใช้น้ำตาเทียมนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น ผู้ที่มีอาการตาแห้งธรรมดาโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ผู้ที่ใส่คอนแท็กเลนส์ สัมผัสกับแสงแดด ลมแรง หรือใช้สายตานานๆ ก็สามารถเลือกใช้น้ำตาเทียมชนิดขวดใหญ่ที่มีสารกันเสียก่อนได้ หรือในบางราย เพียงแค่ปรับสภาพแวดล้อมหรือปรับพฤติกรรมตัวเองให้ดี อาการตาแห้งที่เป็นอยู่ก็อาจดีขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียม

แต่หากมีอาการตาแห้งรุนแรง ต้องหยอดน้ำตาเทียมมากกว่า 4 ครั้งต่อวันเป็นเวลานานๆ หรือผู้ที่มีโรคของผิวกระจกตา เซลล์ของผิวกระจกตาไม่สมบูรณ์ หรือมีประวัติแพ้สารกันเสีย ก็ควรใช้น้ำตาเทียมหลอดเล็กๆ ชนิดที่ไม่มีสารกันเสีย

เราสามารถใช้น้ำตาเทียมได้บ่อยครั้งโดยไม่มีผลแทรกซ้อน ยกเว้นกรณีแพ้สารกันเสีย แต่การใช้น้ำตาเทียมก็ควรพิจารณาถึงความจำเป็นว่ามีปัญหาของน้ำตามากน้อยเพียงใด จะได้ไม่สิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น และหากมีอาการตาแห้ง ควรไปตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์อย่างละเอียด ไม่ควรซื้อน้ำตาเทียมมาใช้เองเป็นเวลานานๆ โดยไม่หาสาเหตุที่แท้จริง

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง