เห็นโฆษณากันมากมายเหลือเกิน สำหรับผลิตภัณฑ์ สารสกัดจากเมล็ดองุ่น ทั้งทางเคเบิลทีวี อินเทอร์เน็ต บรรยายสรรพคุณสารพัด แล้วข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างไร
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ อธิบายว่า สารสกัดจากเมล็ดองุ่นที่เป็นยอดปรารถนา คือ “โอพีซี” หรือ โอลิโกเมอริค โปรแอนโทรซัยยานิดิน (Oligomeric Proanthocyanidins) สารนี้มีสีม่วง ขอเรียกว่าเป็น “ธาตุม่วงแก้ร่วงโรย” เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นธาตุต้านสนิมแก่ หรือ แอนตี้ออกซิแดนท์” ที่สำคัญตัวหนึ่งซึ่งมีฤทธิ์แรงกว่าวิตามินอีกับวิตามินซีราว 30-50 เท่า แต่สรรพคุณของมันก็เฉกเช่นสารต้านอนุมูลอิสระทั่วไป คือ 1.ต้านสนิมแก่ ด้วยคุณสมบัติข้อนี้ เขาจึงชอบเอาไปโฆษณาว่าทำให้ผิวใสกิ๊ก 2.ต้านเซลล์ผิดปกติในร่างกาย จำพวกเนื้องอก มะเร็ง และ 3.ต้านเซลล์เสื่อมในร่างกาย จึงถูกเอามาใช้เกี่ยว กับเรื่องต้านชรา
โอพีซี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่มีในผักผลไม้สีม่วง สารนี้สกัดพบเมื่อราวปี ค.ศ. 1936 โดย ดร.จ๊าคมาสเกอลิแยร์ ชาวฝรั่งเศส ตอนแรกมีชื่อเรียกเล่นว่า “วิตามินพี” มีผลงานวิจัยว่าใช้ดีในโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแข็ง โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันสูง บำรุงผิวพรรณ และโรคชราอื่น ๆ
เมื่อปี ค.ศ. 2008 ที่ผ่านมาวารสารประสาท วิทยา (Journal of neuroscience) ได้ตีพิมพ์ผลของสารสกัดเมล็ดองุ่นที่ช่วยลด “ตะกรันสมองแก่” ในสัตว์ทดลองซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของการหาวิธีป้องกันอัลไซเมอร์ ส่วนเมื่อต้นปี ค.ศ. 2009 วารสารวิจัยมะเร็งทางคลินิก (Clinical cancer research) รายงานว่าสารเมล็ดองุ่นกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดลิวคีเมียทำลายตัวเองได้ในห้องปฏิบัติการ
โฆษณาอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งราคาค่อนข้างแพง จะแนะนำผู้บริโภคอย่างไร ? นพ.กฤษดา กล่าวว่า ความจริงไม่จำเป็นต้องซื้อกินแพงก็ได้ เพราะสามารถกินจากอาหารผักผลไม้สีม่วงแทน ซึ่ง ผัก ผลไม้ บ้านเรามีธาตุม่วงให้เลือกเยอะกว่าฝรั่งมาก เช่น มันม่วง ลูกหว้า ชมพู่ ส้มโอสีชมพู อัญชัน หรือแม้ข้าวเหนียวดำ
ถ้าเมล็ดองุ่นมีสารที่เป็นประโยชน์จริง เวลากินองุ่นควรกินเมล็ดด้วยหรือไม่ ? นพ.กฤษดา กล่าวว่า ดีเลยครับ กินทั้งเปลือกทั้งเมล็ดได้ถือว่ายอด ส่วนเมล็ดที่ขมฝาดหน่อย นั่นแหละคือธาตุม่วงต้านร่วงโรย นอกจากกินเมล็ดแล้ว อยากให้กินทั้งเปลือกด้วย เพราะที่เปลือกก็มีธาตุช่วยคุมความดันเลือด ถ้ากินธาตุม่วงแล้วอาหารที่ควรกินไปด้วยช่วยให้ดูดซึมยิ่งดีขึ้นคือ ส้ม มะนาว มะเขือเทศ ส้มโอ บรอกโคลี พริกหยวก แคนตาลูปและผักสีเข้มจัด
อยากให้แนะนำสูตรลับสำหรับให้ได้ธาตุม่วงต้านร่วงโรย ? นพ.กฤษดา กล่าวว่า ให้กินของม่วง ได้แก่ ลูกเบอรี่ต่าง ๆ ของ ฝรั่ง กะหล่ำม่วง มะเขือม่วง องุ่นแดง อัญชัน ลูกหว้า ลูกตะขบ หอมแดง ถั่วดำหรือแม้แต่ข้าวเหนียวดำถ้าเลือกกินจากน้ำองุ่น ก็ขอให้เลือกน้ำองุ่นแดงดีกว่าน้ำองุ่นเขียว ถ้าเป็นไวน์ก็เป็นไวน์แดงดีกว่าไวน์ขาว โดยอาหารเหล่านี้เหมาะกับผู้ที่สูบบุหรี่ ตรากตรำทำงานหนัก นอนดึกเพราะเป็นไลฟ์สไตล์ที่เปี่ยมไปด้วยอนุมูลอิสระต้องใช้ธาตุม่วงนี้เข้าไปต้าน
นพ.กฤษดา กล่าวด้วยว่า องุ่นแดงกับองุ่นดำ จะมีสารโอพีซี หรือธาตุม่วงต้านร่วงโรย มากกว่าองุ่นเขียว ส่วนองุ่นเขียวมีกากหรือ ไฟเบอร์เป็นวุ้นนิ่มช่วยขับล้างขยะในลำไส้ แต่จะมีแคลอรีสูงกว่าองุ่นดำแดง ถ้าจำเป็นต้องเลือกขอให้เลือกองุ่นสีเข้มดำดีที่สุดตามหลักอายุรวัฒน์ที่ว่าพืชผักเลือกกินต้องสียิ่งเข้มปี๋แสดงว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระเข้มข้น นอกจากนี้ในน้ำองุ่นก็มีธาตุม่วงด้วย โดยเฉพาะน้ำองุ่นแดง ส่วนในไวน์ก็ต้องเป็นไวน์แดงจะได้มีธาตุม่วงนี้มากกว่าไวน์ขาว.
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)