อย.เก็บตัวอย่างชาเขียวชื่อดังตรวจหาสาเหตุ พบสิ่งปลอมปนในเครื่องดื่มว่าเกิดจากผู้ผลิต หรือผู้ขาย คาดเกิดจากขั้นตอนการขนส่ง ปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตเกิดขึ้นได้น้อย
นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีมีผู้ร้องเรียนพบสิ่งแปลกปลอมในเครื่องดื่มชาเขียวยี่ห้อหนึ่งว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและเก็บตัวอย่างสินค้าจากร้านค้าปลีกที่ผู้ร้องเรียนซื้อมา และนำไปตรวจสอบว่าสิ่งที่ปนเปื้อนเกิดขึ้นจากสาเหตุใด แต่จากประสบการณ์และการร้องเรียนที่ผ่านมา พบว่าโอกาสในการปนเปื้อนจากกระบวนการผลิตเกิดขึ้นได้น้อย และสาเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากการขนส่ง เก็บผลิตภัณฑ์ เช่น เมื่อเกิดรอยร้าว กระแทกจากการขนส่ง ทำให้ออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกิริยาและเกิดตะกรันหรือเมือกขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องตรวจสอบสินค้าในล็อตเดียวกันที่มีการร้องเรียนเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงด้วยว่าเกิดจากอะไร
“ที่ผ่านมาซึ่งเคยมีการร้องเรียนในอดีตเมื่อตรวจสอบแล้วยังไม่พบว่าเกิดการปนเปื้อนจากการผลิต แต่เกิดจากขั้นตอนอื่น ซึ่งมีการแก้ไขด้วยการหุ้มพลาสติกที่ฝาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ง่ายขึ้น โดยผู้บริโภคควรตรวจดูที่ฝาผลิตภัณฑ์เพื่อความมั่นใจ”นพ.พิพัฒน์ กล่าว
นพ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันขั้นตอนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์มีความรัดกุมขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้ผลิตเครื่องดื่มที่ใช้ขวดเพทจะไม่นำขวดมาใช้ซ้ำทำให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนน้อยลง แต่ยังพบการร้องเรียนเรื่องการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ประเภทขวดแก้วที่มีการนำมาใช้ซ้ำได้บ้าง แต่เมื่อตรวจสอบส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้เกิดจากขั้นตอนการผลิต ซึ่งการเกิดตะกรันจากการผลิตอาจเกิดขึ้นได้หากการฆ่าเชื้อไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้ หากตรวจสอบว่าเกิดจากการผลิตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท แต่หากเกิดจากผู้ขาย เช่น มีการเปิดฝาไว้ก่อนเพื่อการใดๆ ก็จะมีโทษจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ซึ่งมีโทษเดียวกับผู้ผลิต
ที่มา:ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 มีนาคม 2553
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)