บทความ

รางปลั๊กไฟ ไร้คุณภาพ เสี่ยงไฟช็อต ไฟไหม้บ้าน

by คุณนาย @March,14 2008 14.04 ( IP : 222...250 ) | Tags : บทความ
photo  , 350x209 pixel , 18,114 bytes.

ย่างเข้าสู่ปี พ.ศ.2551  กันแล้วนะคะ  เปลี่ยนปีเปลี่ยนพ.ศ.ใหม่มีอะไรดีๆเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาบ้างคะ  สำหรับเรื่องราวของผู้บริโภคคงมีประเด็นให้ติดตามกันต่อไป  ปี พ.ศ.เปลี่ยนไปปัญหาผู้บริโภคก็ยิ่งซับซ้อน(ซ่อนเงื่อน) มากขึ้น  สำหรับฉบับนี้อยากนำเสนอเกี่ยวกับเรื่องรางปลั๊กไฟ  หรือปลั๊กไฟพ่วงที่เราเสียบสายต่อมาจากปลั๊กไฟหลัก         หลายคนอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเล็กทำไมต้องทำให้ใหญ่โตด้วย  แต่บางคนก็บอกว่าสงสัยมานานแล้วว่ารางปลั๊กไฟที่ใช้กันในบ้านเราปลอดภัยหรือไม่ ??? แล้วเราจะเลือกซื้อแบบไหนดี ???  ฉบับนี้จึงนำข้อมูลจากการทดสอบรางปลั๊กไฟของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ซึ่งได้ตีพิมพ์และนำเสนอในวารสารฉลาดซื้อ ปีที่ 14 ฉบับที่ 82  ประจำเดือน ธันวาคม 2550
      ฉลาดซื้อได้ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร.วีรพันธ์ รังสีวิจิตรจ  ทดสอบรางปลั๊กไฟ  เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้ทำการทดสอบรางปลั๊กไฟที่ซื้อมาจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 18 ชิ้น ขนาด 3-6 เต้ารับ มีราคาตั้งแต่ 59-660 บาท โดยส่งให้สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำการทดสอบคุณภาพมาตรฐานหลัก 5 ด้าน คือ 1.ความต้านทานของฉนวนและแรงดันไฟฟ้า คือป้องกันการเกิดไฟดูด 2.อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เต้ารับจะต้องไม่ร้อนมาก 3.แรงที่ใช้ในการดึงเต้าเสียบ เต้ารับไม่หลวม หรือแน่นเกินไป 4.ความทนของวัสดุฉนวนต่อความร้อนผิดปกติ หากปลั๊กไฟเกิดไฟลุกไหม้ไฟจะดับได้ด้วยตัวเองภายในเวลา 30 นาที จึงถือว่าได้มาตรฐาน และ 5.ความยาวของสายไฟ ต้องตรงตามที่ระบุในฉลาก     ผลการทดสอบปรากฏว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่มักจะไม่ผ่านมาตรฐาน ด้านความทนของวัสดุฉนวนต่อความร้อนผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดเพลิงไหม้ โดยมีตัวอย่างผ่านมาตรฐานเพียง 4 ยี่ห้อเท่านั้น ที่น่าตกใจคือมีเพียงตัวอย่างเดียวเท่านั้นที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยทุกด้าน อีกทั้งรางปลั๊กไฟทุกยี่ห้อไม่ได้มาตรฐานเรื่องความยาวสายไฟตรงตามที่ระบุไว้ที่ฉลาก โดยเฉลี่ยมีความยาวที่หายไปอย่างต่ำ 10 ซม.ขึ้นไป       คงสงสัยกันใช่มั๊ยคะว่าแล้วเราจะเลือกซื้อรางปลั๊กไฟกันอย่างไรดี...วิธีการเลือกซื้อรางปลั๊กไฟที่มีความปลอดภัยคือ  1.) ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุได้มาตรฐาน เป็นพลาสติกเอวีซี เพราะมีความคงทนต่อความร้อนดีกว่าพลาสติกพีวีซี สังเกตได้จากเนื้อพลาสติกจะเนียนกว่า  2.) รางปลั๊กไฟควรมีสวิตซ์ปิด เปิด และมีฟิวส์ช่วยในการตัดกระแสไฟหากมีการใช้ไฟเกินกว่าที่รางปลั๊กไฟกำหนด  3.) เลือกสินค้าที่มีสัญลักษณ์ มอก.
        ส่วนการใช้รางปลั๊กไฟที่ถูกต้องคือ 1.)  ไม่ควรเสียบปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าจนเต็มราง เพราะอาจทำให้เกิดการใช้กระแสไฟฟ้าเกินกำหนดคือ 10 แอมป์ ทำให้ไฟช็อตได้ 2.) ไม่ควรเสียบปลั๊กไฟเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้ไฟตลอดเวลาเช่น ตู้เย็น เป็นต้น แต่ควรจะเสียบปลั๊กไฟแบบถาวรที่ติดกับผนังแทนเพราะรองรับกระแสไฟได้ถึง 16 แอมป์    นอกจากนี้ ทุกบ้านควรต่อสายดินป้องกันกรณีเกิดไฟรั่วจะได้มีช็อตหรือดูดคนในบ้านด้วย             ในด้านสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สอม.) บอกว่า ปัจจุบันมีมาตรฐานควบคุมความปลอดภัยของรางปลั๊กไฟมีเพียงมาตรฐานเดียว คือ มาตรฐานไฟฟ้า (มอก.11-2531) ซึ่งส่วนฉนวนหุ้มรางปลั๊กไฟยังไม่มีมาตรฐานบังคับแต่อย่างใด ขณะนี้เตรียมบังคับใช้กฎหมายควบคุมขั้นตอนการผลิต และวัสดุที่นำมาผลิตรางปลั๊กไฟที่มีคุณภาพในวันที่ 3 มีนาคม 2551 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ ผู้บริโภคจะต้องระมัดระวังเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ             ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้จะเห็นว่ามีรางปลั๊กไฟหลากหลายยี้ห้อที่วางขายในท้องตลาด  ตั้งแต่ราคาหลักสิบจนถึงหลักหลายร้อยบาท    โดยเฉพาะรางปลั๊กไฟจากประเทศจีนที่หลายคนยังสงสัยและกังวลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การทดสอบของฉลาดซื้อคงพอทำให้เรามีข้อมูลในการเลือกซื้อมากขึ้น  หลายคนคงสงสัยว่าจากการทดสอบมียี่ห้อไหนบ้างที่ไม่ได้มาตรฐานไม่เห็นบอก (เผื่อจะเป็นยี้ห้อที่ใช้อยู่)  ขอแนะนำให้ท่านไปหาอ่านเพิ่มในวารสารฉลาดซื้อ ปีที่ 14 ฉบับที่ 82  ประจำเดือน ธันวาคม 2550  จะบอกรายละเอียดทั้งหมด    แต่ต้องขออภัยที่ฉลาดซื้อไม่วางขายตามแผงหนังสือทั่วไป  รับสมัครสมาชิกเท่านั้น  ถ้าสนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ 074-424242  หรือ www.consumerthai.org

                                                                                                                        โดย  จุฑา          สังขชาติ                                                                                                                   โครงการบริโภคเพื่อชีวิต  สงขลา                                                                                         ข้อมูลจากฉลาดซื้อ ปีที่ 14 ฉบับที่ 82  ประจำเดือน ธันวาคม 2550

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง