ผลแล็บกรมวิทย์ฯ ชี้ชัด 'ซูชิ' จากห้างดัง จ. เชียงราย ปนเปื้อนแบคทีเรียเรืองแสง กำลังรอตรวจยืนยันว่าเป็นสายพันธุ์ใด
ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข วันนี้(4 มี.ค.) นางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการตรวจหาแบคทีเรียปนเปื้อนในซูชิประมาณ 10 ตัวอย่าง ที่ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงราย เก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้าชื่อดังในจังหวัด ส่งมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่า จากการรายงานเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ พบว่า ตัวอย่างซูชิทุกชิ้น มีการเรืองแสงเป็นหย่อม ๆ แต่เรืองแสงไม่มากเหมือนกับลูกชิ้นปลาที่ตรวจวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ คาดว่าน่าจะเป็นแบคทีเรียกลุ่มเดียวกับที่ตรวจพบก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจยืนยันว่า เป็นแบคทีเรียกลุ่มใด และเป็นสายพันธุ์ใด
รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อว่า หน้าซูชิที่ส่งมาตรวจ อาทิ หน้าไข่กุ้ง หน้าไข่ ปูอัด กุ้ง ปลาย่าง ปลาหมึก สาหร่าย ชิม้วนโรยไข่กุ้ง โดยแบคทีเรียเรืองแสงที่พบเป็นหย่อมๆ นั้นคาดว่า อาจจะเกิดจากขั้นตอนการปั้นซูชิ ที่คนปั้นต้องสัมผัสกับวัตถุดิบต่างๆ พอเชื้อติดอยู่ที่มือไปปั้นซูชิหน้าอื่นๆ ก็เลยพบการเรืองแสงเกิดขึ้น แต่เนื่องจากการเรืองแสงมีไม่มาก ดังนั้น ทางเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการจึงได้นำมาเพาะเลี้ยงเพื่อเพิ่มจำนวน ทั้งนี้คาดว่าใน 1-2 วันนี้ จะทราบว่าเป็นแบคทีเรียชนิดใด
เมื่อถามว่า จะแนะนำประชาชนที่จะบริโภคซูชิอย่างไร นางจุรีภรณ์ กล่าวว่า โดยหลักควรรับประทานอาหารที่สดใหม่ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และจะมีความปลอดภัยกว่า ยกเว้นกรณีที่ทำแล้วค้างคืน 1-2 วันเชื้อจะเพิ่มจำนวน กรณีที่ซูชินั้น ถ้าใหม่ๆ ก็ไม่มีเชื้อ แต่พอเก็บไว้ในตู้เย็น 1-2 วัน จะมีการปนเปื้อนเชื้อในปริมาณมาก ดังนั้นเมื่อมีการเรืองแสงก็แสดงว่ามีเชื้อมาก ไม่ควรรับประทาน เพราะแสงว่าการทำไม่ถูกสุขลักษณะ เช่น อาจจะใช้มีดไปหั่นปลา แล้วมาหั่นวัตถุดิบอื่น ๆ เลยทำให้เกิดการปนเปื้อน
ด้าน น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการนำปลาปักเป้ามาแปรรูปทำอาหารว่า เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขห้ามไม่ให้นำมาแปรรูป แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่า มีการนำมาแปรรูปอยู่ แม้จะผิดกฎหมาย ซึ่งในอดีตตนเคยยื่นญัตติเรื่องนี้ในสภาฯมาแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล ดังนั้นคงจะหารือกับทาง ส.ส. ที่อยู่ติดกับชายทะเลทั้งหมดเพื่อดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป เพราะกรณีปลาปักเป้าต้องยอมรับว่าหากแร่ถูกวิธีก็ไม่อันตราย อย่างกรณีประเทศญี่ปุ่นก็มีการกินปลาปักเป้า แต่เขามีการขึ้นทะเบียนคนแร่ เรื่องนี้ต้องมาระดมสมองและพูดคุยกันหลายหน่วยงาน
“กรณีปลาปักเป้ามีการจับได้เยอะมาก ถ้าจะให้โยนทิ้งน้ำ ชาวประมงคงไม่ทำกัน ดังนั้นจะหารือกับ ส.ส.ในพรรคที่มีพื้นที่ติดกับทะเลต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะแม้จะมีการห้ามแต่ยังไงประชาชนก็ยังลักลอบขายกันอยู่ เพราะถือเป็นรายได้ทางหนึ่ง” น.ส.รังสิมา กล่าว.
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับบวันที่ 5 มีนาคม 2553
Relate topics
- กรณีศึกษา อย.เตือนยาคีไตรโซนผิดมาตรฐาน-อันตราย สั่งเก็บทุกสถานพยาบาล
- กรณีศึกษา อย.เผยพบแบคทีเรียปนเปื้อน “น้ำยาบ้วนปากออรัล-บี” เตือน ปชช.ระงับใช้
- กรณีศึกษา สลด!! ว่าที่ "นิสิตเภสัช" ม.มหาสารคาม กินยาลดความอ้วนดับ น้องสาวเผยกลัวใส่ชุดไม่สวย
- กรณีศึกษา สั่งถอนยา "บีเวลล์" แก้เซ็กซ์เสื่อมอาจมีผลข้างเคียงถึงตาย!
- กรณีศึกษา ธนาคารมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมอย่างอื่นนอกเหนือจากดอกเบี้ยหรือไม่