ปัจจุบัน สปาปลา กำลังเป็นที่นิยม มีผู้สนใจหันมาประกอบกิจการกันมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีผู้สนใจไปใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
สปาปลา เป็นสปาที่ใช้ปลาการารูฟา หรือ ด็อกเตอร์ฟิช มาใช้ในการบำบัดและผ่อนคลายให้กับลูกค้า โดยการนำเอาปลาดังกล่าวใส่ไว้ในตู้ปลาหรืออ่างปลา ให้ผู้ใช้บริการหย่อนเท้าลงไปแช่ให้ปลาว่ายเข้ามาตอด
ที่ว่าช่วยบำบัดและผ่อนคลาย ก็เพราะ ปลาการารูฟา จะมารุมตอดเอาผิวที่ลอกและเสียออกไปจากตัวคน แม้ จะยังไม่มีรายงานทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ แต่ก็เชื่อกันว่าสามารถบำบัดโรคสะเก็ดเงิน และโรคภูมิแพ้ผิวหนังได้ และเวลาที่ปลาเข้ามาตอดก็จะทำให้รู้สึกเหมือนถูกนวดกระตุ้น ช่วยให้ผ่อนคลายได้
ว่ากันว่า สปาปลา มีถิ่นกำเนิดแถบลุ่มแม่น้ำในประเทศแถบเอเชียตะวันออกกลาง ได้แก่ ตุรกี ซีเรีย อิรัก อิหร่าน ปากีสถาน แต่ปัจจุบันได้แพร่หลายไปทั่วโลก และที่นิยมมากสุดหนีไม่พ้น ประเทศญี่ปุ่น สำหรับประเทศไทยเองก็กำลังเป็นที่นิยมไม่น้อยหน้ากัน
แต่รู้หรือไม่ว่า การใช้บริการสปาปลาก็มีข้อจำกัดเหมือนกัน???
ก่อนอื่น ผู้สนใจเข้ารับบริการในสปาปลา ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าทางร้านเอาปลาอะไรมาใส่ไว้ในอ่างปลา เพราะปลาการารูฟาจะเป็นปลาที่ไม่มีฟันแหลมคม ไม่ทำให้เกิดบาดแผลที่เท้าของผู้ใช้บริการ แต่เนื่องจากปลาดังกล่าวเป็นปลานำเข้า ราคาแพง และหายาก จึงมีผู้ประกอบการหัวใสแอบเอาปลาที่มีลักษณะและพฤติกรรมคล้ายกันมาใช้แทน
การใช้ปลาชนิดอื่นเพื่อทดแทนปลานำเข้า ผู้ใช้บริการต้องตรวจสอบให้ดีว่าปลาที่ใช้มีปากแบบดูดและมีนิสัยชอบดูด ไม่ใช่กัดงับด้วย ขากรรไกร เพราะแทนที่จะเป็นการบำบัดรักษา ตอดเอาผิวที่ลอกออก อาจทำให้เกิดแผลที่เท้าได้
ตรวจสอบปลาแล้ว ก็ต้องมาตรวจสอบตัวเองว่ามีแผลที่เท้า หรือว่าเพิ่งจะโกนขนหน้าแข้ง หรือตัดเล็บมาหรือไม่ หากมีแผลหรือเพิ่งโกนขนหน้าแข้ง หรือเพิ่งจะตัดเล็บเท้ามา ก็ไม่ควรจะไปใช้บริการสปา เพราะอาจทำให้ติดโรคจากการใช้บริการสปาปลาได้
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกรรมการทุนวิจัยวัณโรค ดื้อยา ศิริราชมูลนิธิในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า “สปาปลาถือเป็นแฟชั่น เป็นของแปลกใหม่ที่ใคร ๆ ก็อยากลอง แต่ก็ต้องตระหนักถึงอันตรายของมันด้วย 15 รัฐในสหรัฐอเมริกา ได้มีการสั่งห้ามไม่ให้มีการเปิดสปาปลา เพราะไม่ถูกสุขลักษณะอนามัย และมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคจากการใช้บริการสปาปลาได้ โดยเฉพาะโรควัณโรคเทียมที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังในคนได้ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาหายได้ยากและต้องใช้เงินในการรักษาเป็นจำนวนมาก”
วัณโรคเทียม เป็นโรคที่ไม่ติดต่อระหว่างคนต่อคน เหมือนกับวัณโรคปอด ยกเว้นมีแผล เป็นโรคที่ทนต่อคลอรีน ทำให้เกิดแผลบริเวณผิวหนัง ตุ่มหนอง เรื้อรังไม่หาย
นอกจากเชื้อวัณโรคเทียมแล้ว ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย จากการแช่เท้าอยู่ร่วมกันในอ่างปลา โดยมีน้ำเป็นตัวนำพา และการที่ปลาตอดคนโน้นทีคนนี้ที ก็สามารถเป็นพาหะนำโรคได้เช่นกัน
ดังนั้นก่อนใช้บริการสปาปลา ต้องตรวจสอบให้ดีว่ามีแผลที่เท้า เพิ่งโกนหน้าแข้ง หรือเพิ่งจะตัดเล็บเท้ามาหรือไม่ เพราะแผลเพียงเล็กน้อย แบบแทบจะมองไม่เห็น เชื้อโรคก็สามารถเข้าไปได้
ที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ควรลืมสอบถามเจ้าหน้าที่ของสถานบริการถึงสุขอนามัย ทั้งเรื่องการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการ การดูแลสุขอนามัยของน้ำและปลา ก่อนการตัดสินใจใช้บริการ
“แบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยอยู่ในน้ำ จะทนต่อระบบกรอง ยูวี และทนต่อคลอรีน นอกจากผู้ใช้บริการสปาปลาจะต้องระมัดระวังให้มากแล้ว ผู้ที่เลี้ยงปลาสวยงามเองก็ต้องระมัดระวัง เพราะมีสิทธิติดเชื้อวัณโรคเทียม และโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย โดยมีน้ำเป็นตัวนำพาได้เหมือนกับการใช้บริการสปาปลาเช่นกัน” นพ.มนูญ กล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)