บทความ

เปปไทด์จากถั่วเหลืองดีจริง...หรือเพราะโฆษณา

by twoseadj @September,23 2008 20.23 ( IP : 222...213 ) | Tags : บทความ

โดย ดร.ฉัตรชัย วัฒนาภิรมย์สกุล  ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์

ถั่วเหลือง

ขณะนี้มีโฆษณา เรื่อง ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสายโปรตีนจากถั่วเหลือง (ซอยเปบไทด์) โหมกระหน่ำโฆษณากันทุกคืน..ทุกวัน ความถี่อาจเป็นรอง แพ้อยู่แค่การถ่ายทอดสด เรียลลีตี้โชว์ด่ารัฐบาลของ ASTV เท่านั้น ทำให้หลายคนตั้งคำถามขึ้นมากมายว่า ซอยเปปไทด์คืออะไร มันมีประโยชน์หรือไม่ คุ้มหรือเปล่าหากจะซื้อมาบริโภค เหล่านี้คือคำถามที่ทุกคนอยากรู้

เปปไทด์จากถั่วเหลืองเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งสารเปปไทด์เหล่านี้ช่วยป้องกันโรคต่างๆได้เช่นโรคหัวใจและหลอดเลือดมะเร็ง โรคอ้วน และโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่ทำงานมากเกินไป เปปไทด์จะถูกปล่อยออกจากโปรตีนโดยวิธีการย่อยภายในร่างกายหรือโดยกระบวนการแปรรูปอาหาร และมีหลักฐานยืนยันว่าเปปไทด์เหล่านี้สามารถดูดซึมได้

ปกติถั่วเหลืองมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบประมาณ 40% ซึ่งสามารถใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อาหารสัตว์  ผลิตภัณฑ์น้ำมัน  นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งของวิตะมินอีและสเตียรอล โปรตีนจากถั่วเหลืองที่สำคัญได้แก่ เบต้าคอนกลัยซินิน และ กลัยซินิน ซึ่งมีประมาณ 65-80% จากถั่วเหลือง เป็นที่ทราบกันดีว่าถั่วเหลืองมีโปรตีนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย จากข้อมูลระบาดวิทยาพบว่าประชากรที่รับประทานถั่วเหลืองในขนาดสูงเป็นประจำพบอุบัติการณ์โรคมะเร็งต่ำและอัตราการตายเนื่องจากโรคมะเร็งน้อยกว่า ซึ่งข้อมูลนี้จะพบในคนตะวันตก องค์ประกอบจากถั่วเหลืองที่ชื่อว่าโบว์แมน เบิร์ก อินฮิบิเตอร์ สามารถยับยั้งการเกิดมะเร็งในเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่าคนเอเชียที่บริโภคถั่วเหลืองเยอะจะพบอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจต่ำ โรคคอเลสเตอรอลสูงและโรคมะเร็งต่ำ จากกระบวนการย่อยโปรตีนด้วยเอนไซม์ หรือ กระบวนการหมักและไฮโดรไลซิสของโปรตีนถั่วเหลืองพบว่าจะได้สารเปปไทด์ที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน 2-9 ตัว  หรือ อาจมีถึง 20 หน่วยหรือมากกว่า เปปไทด์เหล่านี้สามารถออกฤทธิ์ควบคุมการทำงานของร่างกายคล้ายฮอร์โมน โปรตีนจากถั่วเหลืองหลังจากผ่านกระบวนการไฮโดรไลซิสจะพบว่าจะมีสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ สารต้านมะเร็ง สารลดความดันโลหิตสูงและเปปไทด์ที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน

ฤทธิ์ทางชีวภาพของถั่วเหลือง

  1. ลดความดันโลหิต

    เปปไทด์จากถั่วเหลืองมีผลต่อแองจิโอเทนซิน คอนเวอร์ทติง เอนไซม์  พบว่าเปปไทด์หลายชนิดที่ได้จากการไฮโดรไลซ์โปรตีนมีฤทธิ์ยับยั้งแองจิโอเทนซิน คอนเวอร์ทติง เอนไซม์  เมื่อให้เปปไทด์ทางปากแก่หนูขาวพบว่าสามารถลดความดันในโลหิตของหนูได้ขนาดที่ให้คือ 2 กรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักหนู พบว่าถั่วเหลืองที่ผ่านการหมักเป็นแหล่งของสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งแองจิโอเทนซิน คอนเวอร์ทติง เอนไซม์  พบว่าอาหารเอเชียหลายชนิดที่ผ่านการหมักมีสารที่มีฤทธิ์ดังกล่าวด้วย

  2. ลดปริมาณคอเลสเตอรอล

    พบว่าโปรตีนจากถั่วเหลือง มีผลต่อการลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด จากการศึกษาของซาการาพบว่า การรับประทานโปรตีนจากถั่วเหลือง อย่างน้อย 20 กรัม และ ไอโซฟลาโวนอย่างน้อย 80 มิลลิกรัม เป็นเวลา 5 สัปดาห์ พบว่าช่วยลดการเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในชายวัยกลางคน โปรตีนจากถั่วเหลืองแสดงให้เห็นว่ามีฤทธิ์ลดคอเลสเตอรอลได้ การศึกษาของแวงพบว่าโปรตีนจากถั่วเหลืองช่วยลดปริมาณการไหลเวียนของไตรกลีเซอรไรด์และคอเลสเตอรอลในบุคคลที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงในกระแสเลือดสูง นอกจากนี้จากการวิเคราะห์ผลต่อการลดคอเลสเตอรอลพบว่าโปรตีนจากถั่วเหลืองสามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลแอลดีแอล ชนิดที่มีขนาด 25.5 nM ได้ถึง 12.3%  และไปเพิ่มคอเลสเตอรอลแอลดีแอล ชนิดที่มีขนาด 26.0 nM ได้ 14.3% ซึ่งช่วยให้ลดสภาวะของการเกิดหลอดเลือดอุดตันได้

  3. ต้านอนุมูลอิสระ

    กรดอะมิโนหลายชนิดได้แก่ ไทโรซิน เมไทโอนีน ฮิสติดิน ไลซีน และ ทริบโทแฟน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากการศึกษาผลของเปปไทด์ที่ประกอบด้วยอย่างน้อย 2 ฮิสติดีน  หรือ 2  ไทโรซิน และ เปปไทด์ที่มี โปรลีน-ฮีสติดีน-ฮิสติดีน พบว่าเปปไทด์ที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน 3 ตัวที่มีปลายด้านคาร์บอนเป็น ทริบโทแฟน และ ไทโรซิน มีฤทธิ์ขจัดอนุมูลอิสระที่ดีแต่ฤทธิ์ในการขจัด เปอร์ออกซี่ไนไตรต์ไม่ดี พบว่าการย่อยสลายโปรตีนพบว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอสระจะดีขึ้น การไฮโดรไลซ์ เบต้าคอนกลัยซินิน และ กลัยซินิน พบฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเพิ่ม ประมาณ 3-5 เท่าความร้อนไม่ได้ลดฤทธิ์ของโปรตีน  พบว่าโปรลีน-ฮีสติดีน-ฮิสติดีนเป็นส่วนออกฤทธิ์ที่สำคัญ พบว่าเปปไทด์ที่มีฮิสติดีนเป็นองค์ประกอบสามารถแสดงฤทธิ์จับกับโลหะหนัก และขจัดออกซิเจนที่แอคทีฟ และขจัดอนุมูลอิสระของไฮดรอกซี พบว่าถั่วเหลืองที่ผ่านการหมักมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและป้องกันกระบวนการเปลี่ยนแปลงยีนได้

  4. ฤทธิ์ต้านมะเร็ง

    เปปไทด์ลูนาซินมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง และมีสารที่มีฤทธิ์เป็นคูนิท ทริปซิน อินฮิบิเตอร์ ยับยั้งมะเร็งรังไข่โดยการยับยั้งการทำงานของยูโรไคเนส ยังพบว่าโปรตีนจากถั่วเหลืองมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยเพิ่มการทำงาน ของโซมาโตสเตติน มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของมะเร็งลำไส้ จากการย่อยเปปไทด์จากถั่วเหลืองและทำการแยกพบว่าบางแฟรคชั่นมีพิษต่อเซลล์ mouse monocyte macrophage ด้วย IC50 = 0.16 mg/ml ในหลอดทดลอง และในขนาด 1 mg/mL ยับยั้งการแบ่งเซลล์ในช่วงG2/M phase จากการแยกเปปไทด์ด้วย C18 -PLC พบว่า มีเปปไทด์ขนาด 1157 Da (ที่ประกอบด้วย x-เมทไธโอนีน-ลูซีน-โปรลีน-เซอรีน-ไทโรซีน-เซอรีน-โปรลีน-ไทโรซีน)

    ลูนาซิน เป็นเปปไทด์ที่ประกอบด้วยกรดอะมิโน 43 ตัว พบว่าสามารถยับยั้งกระบวนการก่อมะเร็งในเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เกิดจากสารก่อมะเร็งหรือยีนก่อมะเร็งจากไวรัส จากการศึกษาในสัตว์ที่เป็นมะเร็งผิวหนังพบว่าการทาด้วยลูนาซินช่วยลดการเกิดมะเร็งผิวหนัง ลูนาซินยังสามารถพบในข้าวบาร์เล่ย์ จากการศึกษาในสัตว์ทดลอง (หนู) พบว่าลูนาซินสามารถดูดซึมได้และไม่ถูกทำลายโดยเอนไซม์โปตีเอส เพราะในถั่วเหลืองมีสารต้านการทำงานของเอนไซม์ย่อยโปรตีน

โดยสรุปถั่วเหลืองเป็นแหล่งที่ดีของเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพ และหลายชนิดเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และหากมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประโยชน์และการทำงานของเปปไทด์ในสิ่งมีชีวิต เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดีขึ้น จากการค้นพบฤทธิ์ป้องกันมะเร็งของลูนาซิน ทำให้ถั่วเหลืองหรือพืชตระกูลถั่วชนิดอื่นๆน่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคอย่างเช่นโรคมะเร็ง หรือ โรคเรื้อรังอื่นๆข้างต้นอย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาของประโยชน์จากเปปไทด์ถั่วเหลืองเพิ่มเติมโดยการศึกษาในคนเพื่อพิสูจน์ถึงประโยชน์และความสำคัญของเปปไทด์จากถั่วเหลือง

หากพูดในแง่การคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว พบว่าซอยเปปไทด์และมีประโยชน์ต่อร่างกายแน่นอน แต่เราสามารถได้รับเปปไทด์จากผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองหลากหลายชนิด เช่น น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ยี้ หรืออื่น ๆ ไม่จำเป็นต้องตามโฆษณาที่กำลังโหมกระหน่ำเพื่อมุ่งหวังการค้ากำไรในเชิงตลาดจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพ

Comment #1
kamonjan
Posted @March,10 2009 23.15 ip : 58...249

ขอบคุณมากค่ะที่นำเสนอข้อมูลดีๆ เป็นประโยชน์มากค่ะ กำลังอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับเปปไทด์อยู่พอดี เพิ่งรู้เหมือนกันว่า สารจากถั่วเหลืองสามารถต้านมะเร็งต่างๆได้ +)  +)

Comment #2fd
กฤษณ์
Posted @August,01 2010 22.50 ip : 180...47

ขอบคุณอย่างสูง ที่ได้รู้ว่าเป็นอย่างไร

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง