บทความ

อาหารหมดอายุ" เสี่ยงกินหรือตัดใจทิ้ง !?!

by twoseadj @January,06 2010 10.35 ( IP : 113...4 ) | Tags : บทความ , อาหาร
photo  , 500x455 pixel , 102,517 bytes.

เทศกาลปีใหม่หลายคนตื่นเต้นยินดีที่ได้กระเช้าของขวัญมากมาย แต่บางคนถึงกับต้องบ่นอุบ เมื่อพบว่าขนมนมเนยในกระเช้าของขวัญราคาแพงที่เพิ่งได้มาหมาดๆ จวนเจียนจะถึงวันหมดอายุในอีกวันสองวัน แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรดีถ้ามีมากมายจนกินไม่ทันก่อนวันหมดอายุ

อีกทั้งบ่อยครั้งที่เราซื้อนม ขนมปัง หรืออาหารที่มีวันหมดอายุ แล้วกินไม่ทัน หรือเก็บไว้จนลืม พอนึกขึ้นได้อีกทีก็เลยวันหมดอายุไปแล้ว จะทิ้งก็เสียดาย ครั้นจะกินเข้าไปก็ไม่วายกลัวอาหารเป็นพิษ เรื่องนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ มีคำอธิบายจาก นางดรุณี เอ็ดเวิร์ดส นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย หรือ โฟสแตต (FoSTAT)

นางดรุณีอธิบายว่า โดยทั่วไปการบอกวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์อาหารจะมี 2 แบบ คือ ควรบริโภคก่อน (Best Before) และ วันหมดอายุ (Expired Date) ซึ่งคนส่วนใหญ่มักสับสนกันว่าทั้ง 2 คำนี้หมายถึงวันหมดอายุ แต่ที่จริงแตกต่างกันคือถ้าเป็น Expired Date หมายถึง หลังจากวันนั้นแล้วห้ามรับประทานหรือไม่ควรบริโภค แต่ถ้าเป็น Best Before หมายถึง อาหารจะมีลักษณะและรสชาติดีจนถึงวันนั้น และอาจเปลี่ยนแปลงไปหลังจากวันนั้น แต่ไม่มีปัญหาในเชิงความปลอดภัย จึงยังสามารถรับประทานได้โดยไม่มีอันตราย

"หากเราจะบริโภคหลังจากวันหมดอายุที่เขาระบุไว้ อันที่จริงมันไม่มีอันตราย เพราะในเรื่องของการทำการศึกษา ว่า หมดอายุเมื่อไหร่ หรือว่าบริโภคก่อนเมื่อไหร่ก็แล้วแต่ เขาจะมีค่าความปลอดภัย (Safety factor) ของอาหารแต่ละชนิดหลังวันดังกล่าวอยู่แล้ว แต่ตามกฎหมายให้ยึดถือตามวันที่ระบุบนฉลากว่าเป็นวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์นั้นๆ" นางดรุณีแจง และยกตัวอย่างอาหารแต่ละประเภทที่มีการระบุวันหมดอายุว่า หากเลยวันหมดอายุไปแล้ว ควรจะบริโภคดีหรือไม่ ดังต่อไปนี้

ผลิตภัณฑ์นมและน้ำผลไม้

  • นมพาสเจอร์ไรส์ (pasteurization) มักบรรจุในถุงหรือขวดพลาสติก และมีอายุการเก็บรักษาสั้นเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ และต้องเก็บรักษาในที่อุณหภูมิต่ำ เพราะผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิไม่สูงมาก ทำลายเฉพาะเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย แต่ยังมีเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ หลงเหลืออยู่ ซึ่งเมื่อมีมากเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงไม่แนะนำให้บริโภคหากเลยวันหมดอายุแล้ว

  • นมสเตอริไลส์ (sterilization) ที่มักบรรจุในกระป๋อง และ นมยูเอชที (Ultra High Temperature) ที่มักบรรจุกล่อง นมประเภทนี้จะผ่านการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงมาก จึงสามารถเก็บไว้ได้ที่อุณหภูมิห้องในภาชนะปิดสนิทเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน แต่หากเกินกว่านั้นไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน ก็ยังสามารถบริโภคได้อยู่ แต่ทางที่ดีนั้นไม่ควรบริโภคเมื่อพบว่าหมดอายุแล้ว

สำหรับน้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มบรรจุขวด กล่อง และกระป๋องนั้นก็มักผ่านกรรมวิธีการผลิตและมีวิธีการเก็บรักษาคล้ายกับผลิตภัณฑ์นม

ขนมปังและเบเกอรี่

  • ขนมปังอบกรอบ แครกเกอร์ หรือคุกกี้ มักไม่ค่อยพบปัญหาเรื่องเชื้อจุลินทรีย์เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่อบจนแห้งมาก ไม่ค่อยพบการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เก็บรักษาได้นาน ทว่าวันหมดอายุของผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักเป็นสิ่งที่รับประกันคุณภาพ ในเรื่องรูปร่างหน้าตาและความกรอบอร่อย เพราะถ้าเก็บไว้นานเกินไป ก็จะมีโอกาสดูดความชื้นจากบรรยากาศได้และทำให้หายกรอบและไม่อร่อย แม้จะยังไม่เสียก็ตาม

  • ขนมปังปอนด์และขนมปังอบทั่วไป ซึ่งไม่ได้ใช้ความร้อนสูงมากเท่าขนมปังกรอบ มักมีอายุการเก็บรักษาประมาณ 10 วัน และหากเก็บรักษาในที่แห้ง อุณหภูมิต่ำ หรือในตู้เย็น ก็สามารถยืดอายุได้ราว 2-3 วัน และยังสามารถรับประทานได้อยู่ แต่หากมีการเก็บไว้บริโภคซ้ำหลายวัน การเปิดปิดภาชนะบรรจุบ่อยครั้ง และเก็บรักษาไม่ดีพอ ก็อาจทำให้อายุการเก็บรักษาสั้นลงได้ เพราะความชื้นจากอากาศและเชื้อจุลินทรีย์ภายนอก ที่ปนเปื้อนเข้าไปจะทำให้ขนมปังเสียได้ง่าย

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ขนมปังโดยทั่วไปมักเสียเนื่องจากเชื้อรา และสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากพบว่ามีเชื้อราหรือมีเส้นใยฟูๆ ขึ้นตามขนมปัง ก็ไม่ควรรับประทานอีกต่อไป

อาหารกระป๋อง

อาหารกระป๋องโดยทั่วไป มีอายุการเก็บรักษานานกว่าอาหารในบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น เพราะผ่านกระบวนการผลิตที่มีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์อย่างดีมาก จึงมักเก็บรักษาได้นานประมาณ 1-2 ปี เช่น ผลไม้กระป๋อง และปลากระป๋อง และหลังจากเลยวันหมดอายุไปแล้วไม่กี่วันก็ยังสามารถรับประทานได้โดยไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแต่ลักษณะหรือสีสันอาจแปรเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์

เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ที่วางจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตมักระบุวันหมดอายุไว้ด้วย และส่วนใหญ่เก็บรักษาอยู่ในที่อุณหภูมิต่ำตลอดเวลา รวมทั้งผ่านกระบวนการผลิตที่ค่อนข้างสะอาด และการแบ่งจำหน่ายก็มักไม่มีการสัมผัสกับเนื้อสัตว์โดยตรง จึงลดโอกาสการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ในระดับหนึ่ง และโอกาสเน่าเสียก็จะน้อยกว่าเนื้อสัตว์ที่จำหน่ายในตลาดสดทั่วไป

ดังนั้นแม้จะเลยวันหมดอายุที่ระบุไว้แล้ว แต่หากยังมีลักษณะที่ดี มีสีสันสดตามธรรมชาติ และไม่มีเมือก ก็ยังสามารถนำมาปรุงอาหารได้ และหากเก็บรักษาแช่แข็งไว้ในตู้เย็นก็จะช่วยยืดอายุและรักษาคุณภาพไปได้อีกหลายวัน

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมโฟสแตตแนะนำเพิ่มเติมว่า การบริโภคอาหารทุกชนิด จะต้องดูลักษณะหน้าตาของอาหารก่อนเป็นอันดับแรก ว่าผิดปกติไปจากธรรมชาติที่ควรเป็นหรือไม่ เช่น มีเส้นใยฟูๆ หรือ มีลักษณะเป็นเมือกหรือไม่ ถ้ามีก็ไม่ควรซื้อและไม่ควรรับประทาน หรือหากซื้ออาหารมาแล้วควรเก็บที่อุณหภูมิต่ำ ซึ่งจะช่วยควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ได้ หรืออาจทำให้สุกก่อนรับประทาน

ทั้งนี้ หากอาหารยิ่งใกล้วันหมดอายุ ก็ควรรีบรับประทานให้หมดเสียก่อน และหากพบว่าเลยวันหมดอายุแล้ว ไม่ควรรับประทานจะดีที่สุด.

จาก ASTV online ฉบับวันที่ 2 มกราคม 2553

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง