วันที่ 3 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้รับโทรศัพท์จากผู้บริโภคท่านหนึ่ง ชื่อ คุณปู (นามสมมุติ) อายุ 33 ปี อาศัยในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทำงานอาชีพค้าขายและรับจ้างทั่วไป ต้องการให้ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ตรวจสอบข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์อาหารเสริมโปรพอลิส(Propolis) แล้วเกิดอาการท้องแข็งและเท้าขยับเขยื้อนไม่ได้
คุณปู เล่าให้ฟังรายละเอียดของเหตุการณ์ว่า เมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการไอมาก จนเจ็บหน้าอกซ้าย โดยเฉพาะเวลาสัมผัสกับฝุ่นละออง โดยไปรับบริการที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันบริเวณใกล้บ้าน เภสัชกรประจำร้านได้ให้ยาแก้ภูมิแพ้ แก้ไอ และยาคลายกล้ามเนื้อมารับประทาน อาการก็ดีขึ้น หลังจากยาหมดอาการก็กลับแย่เหมือนเดิม จึงตัดสินใจไปรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ คุณหมอเจ้าของไข้ได้ตรวจวินิจฉัยว่ากล้ามเนื้ออักเสบ จึงให้ยาคลายกล้ามเนื้อแก้ปวดอักเสบไปรับประทานอาการก็ไม่ได้ดีขึ้น
คุณปูจึงไปรักษาต่อที่คลินิกหมอที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งในเขตอำเภอหาดใหญ่ ทางแพทย์ได้ตรวจคลื่นหัวใจเพื่อหาว่ามีความสัมพันธ์เป็นดรคหัวใจหรือไม่ ผลการตรวจไม่พบความผิดปกติ คุณหมอท่านดังกล่าวจึงได้สั่งยาคลายกล้ามเนื้อเพื่อไปรับประทาน อาการก็ยังทรงๆ พร้อมทั้งแนะนำให้ไปตรวจ เอ็กซ์-เรย์ปอดเพื่อหาว่าเป็นวัณโรคหรือปอดอักเสบหรือไม่ ซึ่งไปตรวจเอ็กซเรย์ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ผลการตรวจก็มิได้พบสาเหตุของอาการป่วย
หลังจากกลับจากโรงพยาบาล ก็มีตัวแทนขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชื่อ โปรพอลิส มีลักษณะเป็นน้ำ บรรจุในขวดแก้วเล็กๆราคา 1,800 บาท ของบริษัท โกล์บอล สตาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มาพบที่บ้านพร้อมแนะนำให้ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมารับประทาน หากทานแล้วจะช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยได้ รักษาอาการที่กำลังป่วยอยู่ปัจจุบันให้หายได้ พร้อมทั้งยังจำหน่ายให้คนในบ้านของคุณปูอีก 3 คน
หลังจากรับประทานไป 2-3 วัน เกิดอาการท้องแข็ง เดินไม่ได้เนื่องจากขาเริ่มอ่อนแรง จึงพยายามติดต่อตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งตัวแทนก็ไม่รับสายแต่อย่างใด
ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา ได้เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฎว่า
1.ทางศูนย์ฯได้ปรึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าวจาก ผศ.ดร.ฉัตรชัย ภิรมย์สกุล ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาตร์ ม.สงขลานครรินทร์ พบว่า propolis คือ สารชนิดหนึ่งที่ผึ้งงานอายุตั้งแต่ 22 วันขึ้นไป จะรวบรวมยางไม้โดยเฉพาะยางที่เคลือบบริเวณตาใบ หรือยางที่ไหลออกมาจากส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช เพื่อนำมายังบริเวณที่ต้องการ ขณะที่สมาชิกตัวอื่น ๆ จะค่อย ๆ ย่อยยางไม้ให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ นำไปผสมกับไขผึ้ง หรือสารอื่น ๆ ก่อนนำไปอุดติดบริเวณที่เป็นรอยรั่ว ห่อหุ้มซากสัตว์ที่ตายภายในรัง หรือบริเวณที่ต้องการ สิ่งที่พืชสร้างขึ้นมาจากยางไม้เพื่อนำไปอุดรอยรั่วของรังนี้ เรียกว่า “โปรโปลิส”
สารโปรโปลิสจะเป็นวัสดุเหนียว สีน้ำตาลดำติดอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ภายในรังผึ้ง เช่น ช่องว่างระหว่างคอนผึ้งเหนือรอยแตก ผู้เลี้ยงผึ้งสามารถเก็บสารนี้ได้โดยใช้เหล็กงัดรังผึ้งขูดสารดังกล่าวออกแล้วปั้นเป็นก้อน ถ้าลองใส่ปากเคี้ยวดูจะพบว่ามีรสขมฝาดเล็กน้อย ชุ่มคอ ป้องกันโรคเหงือกบวม และแผลในปาก แก้ไอ เจ็บคอ และต่อมทอนซินอักเสบมีการกล่าวอ้างสรรพคุณของอาหารเสริมมากมายเกินจริง ดร.ฉัตรชัย บอกว่าการที่โปรโปลิสจะมีคุณสมบัติเช่นฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส ขึ้นกับว่า ยางโปรโปลิสได้มาจากพืชหรือต้นไม้ชนิดใด เพราะต้นไม้บางประเภทก็ไม่ได้ให้ฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้ทั้งหมด แต่มีพืชหรือต้นไม้บางชนิดเท่านั้นที่จะให้ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้ เช่น จำพวกสน เป็นต้น
2.การตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าว พบว่า มีเลขที่ อย.10-1-3005447-10064 ผลิตโดย : บริษัท โกลบอลล์ สตาร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 174/72-73 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงศรีจันทร์ เขตดอนเมือง กทม. 10210 ประสานงานกับกองควบคุมผลิตภัณฑ์อาหารภายหลังออกสู่ท้องตลาด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่า เลขอย.ดังกล่าวมี 14 ตัวซึ่งผิดปกติจากเลข อย.ที่มีจำนวนแค่ 13 ตัว และไม่พบสถานที่ผลิตตามที่แจ้งไว้บนฉลาก ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป
3.จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว พบว่า เข้าข่ายธุรกิจขายตรงที่มีลักษณะแชร์ลูกโซ่ ผ่านตัวแทนขาย สอดคล้องกับการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่พบว่า มีการเปิดสำนักงานขายในอำเภอหาดใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 145 ถนนโชติวิทยกุล ต.หาดใหญ่ จ.สงขลา บริเวณตลาดขนส่งอาเชี่ยนเทรด มีการเปิดเเวทีสัมนาสมาชิกและลูกค้าเป็นจำนวนมากหลายครั้ง ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบก็มิได้มีการจัดการตามกฎหมาย
4.ทางศูนย์ฯได้แนะนำให้คุณปูหยุดรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวแล้วไปรับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งได้รับการพบหมอ ณโรงพยาบาลหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่า พบการไปอุดตันของก้อนหินปูนบริเวณไขข้อกระดูกสันหลังส่งผลให้เกิดอาการอัมพฤกต
คุณปูพูดด้วยความโล่งใจว่า " ถึงบางอ้อแล้ว เกือบตาย เพราะอาหารเสริม" นี่คือเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับใครอีกหลายคน เพราะด้วยความหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ส่งผลให้การไปรับการรักษาด้วยวิธีการถุกต้องตามหลักทางการแพทย์ถูกละเลย เพราะมัวหลงเชื่อในสิ่งที่โอ้อวดหรือเป็นเท็จกล่าวเกินจริง
เขียนโดย เภสัชกรสมชาย ละอองพันธ์
ผู้ประสานงานวิชาการศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา
Relate topics
- กรณีศึกษา อย.เตือนยาคีไตรโซนผิดมาตรฐาน-อันตราย สั่งเก็บทุกสถานพยาบาล
- กรณีศึกษา อย.เผยพบแบคทีเรียปนเปื้อน “น้ำยาบ้วนปากออรัล-บี” เตือน ปชช.ระงับใช้
- กรณีศึกษา สลด!! ว่าที่ "นิสิตเภสัช" ม.มหาสารคาม กินยาลดความอ้วนดับ น้องสาวเผยกลัวใส่ชุดไม่สวย
- กรณีศึกษา สั่งถอนยา "บีเวลล์" แก้เซ็กซ์เสื่อมอาจมีผลข้างเคียงถึงตาย!
- กรณีศึกษา ธนาคารมีสิทธิคิดค่าธรรมเนียมอย่างอื่นนอกเหนือจากดอกเบี้ยหรือไม่