ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

โผล่อีกรายหนุ่ม ป.โทร้องคาราโกะโหด

by twoseadj @October,22 2009 18.36 ( IP : 117...104 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 250x167 pixel , 22,810 bytes.

นศ.ปริญญาโทเหยื่อ "เมโลดี้คาราโอเกะ" อีกรายโผล่ร้อง ระบุนั่งกินกับเพื่อน 2 คนกลับถูกเรียกเช็กบิลแพงถึง 1.6 หมื่นบาท ขอกลับไปเอาเงินก็ไม่ยอม ต้องวางมือถือไว้ก่อนกลับมาไถ่คืน รอง ผบช.น.เผยร้านหัวหมอไม่เปิดเป็นสถานบริการเลี่ยงถูกสั่งปิด ด้านเลขาฯ สภาทนายยันเข้าข่ายกรรโชกทรัพย์-วิ่งราวทรัพย์

กรณี ร.ต.ต.อัฏฐะพันธ์ ใจเที่ยง อายุ 42 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ น.ส.อารีวรรณ สาธรรม อายุ 43 ปี แฟนสาว เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สน.ประชาชื่น ให้ดำเนินคดีกับพนักงานร้านเมโลดี้ คาราโอเกะ (Melody) ย่านประชาชื่น หลังเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินกว่าเหตุ เป็นเงินกว่า 3 หมื่นบาท แต่ต่อรองจนเหลือประมาณ 1.6 หมื่นบาท แถมทางร้านยังข่มขู่ไม่ยอมให้ออกจากร้านหากไม่จ่ายเงินนั้น

ล่าสุด เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 21 ตุลาคม ร.ต.ต.อัฏฐะพันธ์ พร้อม น.ส.อารีวรรณ ได้เข้าพบ พ.ต.ท.สุรพล ขาวคม พนักงานสอบสวน (สบ 3) สน.ประชาชื่น เพื่อให้ปากคำเพิ่มเติม จากนั้น ร.ต.ต.อัฏฐะพันธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า มาให้ปากคำเพิ่มเติม และจะมาชี้ตัวคนที่ล็อกตนกับแฟนสาว คนที่แย่งโทรศัพท์และเงินสด รวมทั้งคนที่ล็อกห้องไม่ยอมให้ออกจากร้าน หลังจากแจ้งความไว้เมื่อช่วงกลางดึกวันที่ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่คู่กรณีไม่ได้เดินทางมาตามนัด จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป

ต่อมาเวลา 12.30 น. นายกอล์ฟ (นามสมมติ) อายุ 30 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง และนายต่าย (นามสมมติ) อายุ 30 ปี นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมีชื่อดังแห่งหนึ่ง ผู้เสียหายที่เคยหลงเข้าไปใช้บริการร้านคาราโอเกะแห่งนี้ ได้เข้าพบ พ.ต.ท.สุรพล ขาวคม พนักงานสอบสวน (สบ 3) สน.ประชาชื่น เจ้าของคดี เพื่อให้ปากคำในฐานะพยาน โดยไม่ติดใจเอาความแจ้งความดำเนิคดีกับทางร้านแต่อย่างใด

ผู้เสียหายทั้งสองคนเล่าว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่าน เวลา 22.10 น. พวกตนออกจากร้าน LIZM ริมถนนรัชดาภิเษก เพื่อจะไปหาร้านนั่งดื่มต่อ จนผ่านมาเจอร้านคาราโอเกะดังกล่าว เลยเข้าไปสอบถามที่ร้านว่า ถ้าเอาเหล้ามาเองจะเสียค่าเปิดเหล้าหรือไม่ ซึ่งทางร้านก็บอกว่าไม่เสียค่าเปิดเหล้า แต่ต้องเข้ามาสั่งอาหาร 3 อย่างขึ้นไป ในราคาเกิน 500 บาท พร้อมทั้งจ่ายค่าห้องคาราโอเกะอีกชั่วโมงละ 200 บาท และต้องเรียกเด็กนั่งดริงก์มานั่งเป็นเพื่อนในราคา 200 บาทต่อ 1 ดริงก์ หรือ 30 นาที

เหยื่อทั้งสองคนกล่าวต่อว่า พวกตนตัดสินใจเข้าไปนั่งใช้บริการที่ร้าน มีเด็กนั่งดริงก์บางคนหมุนเวียนกันเดินเข้ามาในห้องเพื่อกดเพลงให้บ้าง บางคนก็เข้ามาพูดคุยด้วย ถามชื่อ รวมทั้งยังมีมาม่าซังเข้ามาคอยให้บริการอีกด้วย แต่คิดว่าเป็นบริการของทางร้าน จนกระทั่งเวลาผ่านไปประมาณ 01.00 น. จึงเรียกเช็กบิล แต่พอทางร้านนำบิลค่าบริการมาให้ก็ต้องอึ้ง เพราะค่าบริการทั้งหมดสูงถึง 1.6 หมื่นบาท

"เท่าที่พวกผมจำได้ก็มีมิกเซอร์ 45 ขวด ราคารวม 2,250 บาท ค่าอาหารประมาณ 800 บาท ค่าเด็กนั่งดริงก์ที่เรียกมา 2 คน รวม 4,400 บาท แต่มีเด็กนั่งดริงก์เพิ่มมาในบิลอีก 2 คน รวมเงิน 2,000 บาท นอกจากนี้ยังมีค่าอื่นๆอีก เช่น ผ้าเย็น 4 ผืน 200 บาท ลูกอม 4 จาน จานละ 100 บาท รวม 400 บาท รวมทั้งค่าน้ำส้มอีก 15 แก้ว แต่จำจำนวนเงินไม่ได้ว่าเท่าไหร่ ซึ่งตอนแรกพวกผมคิดว่า ค่าน้ำส้มน่าจะรวมอยู่ในค่านั่งดริงกือยู่แล้ว แถมยังมีค่ามาม่าซังอีก 2 คน รวม 2,400 บาท" ผู้เสียหายกล่าว

ผู้เสียหายกล่าวว่า พอเห็นบิลมาแบบนี้ พวกตนก็พยายามเรียกมาม่าซังมาขอเจรจาว่าทำไมค่าบริการแพงโหดร้ายแบบนี้ พอเรียกมา ก็มีเด็กนั่งดริงกื 2 คน มาม่าซัง 2 คน และชายฉกรรจ์อีก 2 คน มายืนคุมเชิงพวกตนไว้ไม่ให้ออกจากห้อง จากนั้นมาม่าซังพยายามแจกแจงรายละเอียดให้ฟัง พร้อมอ้างว่า ถ้าลูกค้าไม่จ่าย เด็กนั่งดริงก์ก็ต้องจ่ายเอง พวกตนพยายามเจรจาต่อรองขอออกไปหาเพื่อนเพื่อเอาเงินมาจ่าย แต่ทางร้านไม่ยอม พวกตนเลยยอมควักเงินจ่ายให้ไป 8,000 บาท แต่ทางร้านจะขอเก็บเพิ่มอีก พวกตนขอเจรจาอีกรอบ เพื่อจะออกไปหาเพื่อน แต่ทางร้านก็ไม่ยอมเหมือนเดิม พร้อมบอกว่า ให้เอาบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มไปกดเงินสดมาจ่าย โดยทางร้านจะพานั่งรถจักรยานยนต์ออกไปกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มเอง

ผู้เสียหายกล่าวด้วยว่า พวกตนไม่มีเงินในบัญชี จึงยอมเอาโทรศัพท์มือถือโนเกีย รุ่นอี 63 วางจำนำไว้ก่อน ซึ่งทางร้านก็ตีราคาให้ 7,000 บาท พร้อมบอกว่า ให้เวลาอีก 3 วัน เพื่อหาเงินมาไถ่โทรศัพท์คืนไป ก่อนจะยอมปล่อยพวกตนกลับออกมา หลังจากนั้น พวกตนก็นำเรื่องไปปรึกษาอา ก่อนจะกลับไปที่ร้านอีกครั้งเพื่อไถ่โทรศัพท์คืน พร้อมทั้งขอดูบิลค่าบริการทั้งหมดอีกครั้ง ซึ่งอาเจรจาขอตัดจำนวนเงินค่าบริการที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปบางส่วน จนเหลือยอดค้างประมาณ 4,500 บาท แต่เห็นว่ายังสูงเกินไปอีก จึงขอให้อาช่วยเจรจาอีกครั้ง จนทางร้านยอมลดให้เหลือ 3,000 บาท พวกตนจึงยอมจ่าย และเอาโทรศัพท์มือถือคืนมา

"ตอนแรกตั้งใจจะไปแจ้งความเอาเรื่อง แต่เมื่อศึกษาเรื่องแบบนี้ทางอินเทอร์เน็ตแล้ว ก็พบว่ามีกรณีแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด พวกผมเกรงว่าถ้าแจ้งความแล้วจะเอาผิดอะไรไม่ได้ก็เลยไม่ได้แจ้งความ" ผู้เสียหายกล่าว

ด้าน พ.ต.อ.กิตติคุณ พูลสมบัติ ผกก.สน.ประชาชื่น กล่าวว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนกำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีอาญาในข้อหากรรโชกทรัพย์ และกักขังหน่วงเหนี่ยว กับพนักงานของร้านคาราโอเกะดังกล่าว รวมทั้งจะตรวจสอบการดำเนินการของร้านคาราโอเกะแห่งนี้ว่าจะมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.สถานบริการด้วยหรือไม่ หากพบมีความผิดก็จะดำเนินการควบคู่ไปด้วย

พ.ต.อ.กิตติคุณ กล่าวว่า เรื่องที่ร้านมีการเรียกเก็บค่าบริการแพงเกินกว่าเหตุ เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่จะเข้าไปตรวจสอบและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ขณะนี้ได้กำชับให้พนักงานสอบสวนประสานไปยังหน่วยงานทั้งสองแล้ว

พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รอง ผบช.น. กล่าวในเรื่องนี้ว่า ร้านเมโลดี้ ตนได้สั่งให้ สน.ประชาชื่น ตรวจสอบแล้วรายงานขึ้นมาให้ทราบว่าขออนุญาตเปิดเป็นสถานบริการตาม พ.ร.บ.สถานบริการหรือไม่ เท่าที่รับรายงาน ทราบว่าร้านดังกล่าวไม่ได้ขอเป็นสถานบริการตาม พ.ร.บ. ซึ่งร้านต่างๆ ที่เปิดโดยไม่ขออนุญาตใน กทม.มีมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านคาราโอเกะริมถนน ปัญหาคือการก่อความเดือดร้อนรำคาญ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ปล่อยปละละเลย เพียงแต่การบังคับตามกฎหมายสถานบริการใช้บังคับร้านเหล่านี้ไม่ได้

"แต่ตำรวจก็ไม่ได้ละเลย ใช้วิธีการปรามด้วยการตรวจสอบด้านอื่นแทน เช่น กวดขันในเรื่องการจำหน่ายสุรา เวลาปิดร้านต้องไม่เกินยี่สิบสี่นาฬิกา แต่ร้านลักษณะนี้เมื่อถูกดำเนินคดีวันนี้ พอวันพรุ่งนี้เขาก็เปิดได้ ไม่สามารถลงโทษหรือใช้มาตรการด้านปกครอง พักใช้ใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ ที่มีกำหนดปิด 60 วันได้ เป็นต้น" รอง ผบช.น.กล่าว

ขณะที่นายเสงี่ยม บุญจันทร์ เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า พฤติการณ์ของทางร้านที่เรียกเก็บค่าอาหารและบริการสูงถึง 3 หมื่นบาท โดยมีการกักขังหน่วงเหนี่ยวผู้เสียหายไว้เพื่อเรียกร้องเอาทรัพย์สิน พร้อมข่มขู่ว่าถ้าไม่ยอมจ่ายจะไม่รับรองในสวัสดิภาพ ถือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 ซึ่งมีโทษจำคุกไมเกิน 7 ปี ส่วนการเรียกเก็บเงินค่าอาหารและบริการสูงโดยไม่มีการติดป้ายราคา ถือเป็นการล่อลวงเป็นกลอุบายหรือหลอกลวงด้วยข้อความอันเป็นเท็จปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง โดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกเป็นความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกถึง 3 ปี ส่วนพนักงานที่เอาโทรศัพท์มือถือผู้เสียหายไป แม้จะนำมาคืนภายหลังก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว เพราะเป็นการลักทรัพย์โดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้าเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามมาตรา 336 มีโทษจำคุกถึง 5 ปี

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการส่วนขายตรง และการตลาดแบบตรง สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สคบ.ได้รับเรื่องร้องเรียนของ ร.ต.ต.อัฏฐะพันธ์ ไว้เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไป สคบ.จะติดต่อนัดคู่กรณีมาเจรจาตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้น สคบ.จะพยายามไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายให้ยอมความซึ่งกันและกัน โดยจะตรวจสอบว่าราคาค่าอาหารที่ผู้เสียหายเสียไปนั้นเกิดความจริงมากน้อยแค่ไหน หากเกินความจริงเกินไป และมีการตกลงยินยอมที่จะจ่ายส่วนที่เกินคืนให้แก่ผู้เสียหายและสามารถตกลงกันได้เรื่องก็จะจบอยู่ สคบ.เท่านั้น เพราะกรณีอย่างนี้ถือเป็นคดีทางแพ่งที่สามารถตกลงยอมความกันได้

"หากทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และ สคบ.พิจารณาดูแล้วว่าผู้เสียหายถูกละเมิดสิทธิในการเสียค่าบริการเกินความเป็นจริง และเห็นควรที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย สคบ.ก็จะดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยสรุปเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อพิจารณาอนุมัติให้ สคบ.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายต่อไป" นายสุวิทย์ กล่าว

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง