โผล่อีกแห่ง โครงการบ้านจัดสรร "ดลฤดี" ในหาดใหญ่ปัญหาเพียบ คนซื้อโวยเจ้าของไม่ดูแล เผยทำผิดแบบแปลน 17 รายการ ค่าเสียหายหลังละ 7.5 หมื่น รุดฟ้องศาลผู้บริโภคสงขลา
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 11 ตุลาคม 2552 ที่หมู่บ้านดลฤดี ซอย 32/1 ถนนราษฎร์อุทิศ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการสัมมนาเรื่องความทุกข์ผู้ซื้อบ้านไม่สมหวัง โดยมีสมาชิกหมู่บ้านดลฤดี เข้าร่วมกว่า 30 คน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หลังจากได้รับความเดือนร้อนการก่อสร้างบ้านที่ไม่เป็นตามแบบแปลนบ้าน ตามที่ขออนุญาตจากเทศบาลนครหาดใหญ่ เมื่อปี 2548
ในการสัมมนา มี จ.ส.ต.เติมชัย สุขเอียด ประธานกรรมการหมู่บ้านดลฤดี นายชัชพีร์ สงนาค กรรมการหมู่บ้านดลฤดี เภสัชกรสมชาย ละอองพันธ์ ผู้ประสานงานวิชาการ โครงการพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจ.รส.ภาคใต้ ม.อ.) นายจุมพล ชื่นจิตต์ศิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยในเวทีสัมมนา ได้มีการอภิปรายกันถึงปัญหาจากการก่อสร้างบ้านที่ไม่เป็นไปตามแบบแปลน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น หลังคาบ้านรั่วซึม พื้นดินในบ้านทรุดจนทำให้บ้านร้าวตามมาด้วย
โดยจ.ส.ต.เติมชัย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากการที่ผู้ซื้อบ้านในโครงการไม่ได้ดูสัญญาให้ละเอียดก่อนที่จะตกลงเซ็นสัญญา และไม่ได้ดูแปลนบ้านให้ชัดเจนก่อนมีการซื้อขาย
จ.ส.ต.เติมชัย เปิดเผยด้วยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากการรับโอนบ้านหรือการเข้าอยู่ พบว่าทุกหลังคาเรือนหลังคารั่วซึมเมื่อมีฝนตก และมีอีกปัญหาคือการทรุดตัวของดิน เนื่องจากการไม่ได้ก่อสร้างบ้านตามแบบแปลน ปัญหาที่เกิดได้แจ้งไปยังเจ้าของโครงการแล้ว แต่ไม่ได้รับความใจและรับผิดชอบแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่า บ้านได้โอนไปแล้ว จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องมารับผิดชอบอีก รวมหลายรายการ
จ.ส.ต.เติมชัย เปิดเผยต่อว่า เมื่อทราบดังนั้น จึงขอถ่ายแบบแปลนการก่อสร้างจากเทศบาลนครหาดใหญ่ ทำให้ทราบในภายหลังว่า มีบ้านที่ก่อสร้างเสร็จแล้วไม่ตรงกับแบบแปลนรวม 17 รายการ คิดเป็นค่าเสียหายทั้ง 17 รายการ เป็นเงิน 75,000 บาทต่อหลัง
เภสัชกรสมชาย เปิดเผยหลังการสัมมนาว่า การสัมมนาได้ข้อสรุปว่า สมาชิกบ้านดลฤดีจะร่วมกันฟ้องร้องนายดล ทิฐินันทกุล เจ้าของโครงการบ้านดลฤดี ต่อศาลผู้บริโภค โดยเรียกร้องค่าเสียหายหลังละ75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
เภสัชกรสมชาย โดยการฟ้องร้องดังกล่าว เป็นวิธีการฟ้องนำก่อนเพียง 7 หลัง ส่วนที่เหลืออีก 75 หลังจะใช้บรรทัดฐานที่ศาลตัดสินมาใช้ เนื่องจากทั้งหมด 82 หลังได้รับความเดือดร้อนที่เหมือนกัน
เภสัชกรสมชาย เปิดเผยต่อว่า อีกประเด็นคือ จะจัดทำศูนย์ข้อมูล เรื่องของบ้านจัดสรรที่ต้องอาศัยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สำนักงานที่ดิน สรรพกรจังหวัดสงขลา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา เพื่อให้ความช่วยเหลือพร้อมให้คำปรึกษากับผู้ที่ต้องการในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ในเอกสารประมวลเหตุการณ์ความเป็นมาเรื่องบ้าน โครงการดลฤดี เมื่อวันที่ วันที่ 18 มกราคม 2548 สมาชิกในหมู่บ้านดลฤดี 57 ราย ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียนถึงสำนักงานคณะ กรรมการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา แต่จนถึงขณะนี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือแต่อย่างใด
ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2548 ตนได้รับมอบอำนาจจากผู้ที่เสียหายทั้งหมด 57 คน เข้าแจ้งความดำเนินดดีกับนายดล นางสาวจุฑารัตน์ ภู่วิจิตร และนางสาวปฐมพร เกษตรสมบูรณ์ ที่สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ ข้อกล่าวหาว่าร่วมกันกระทำผิด คือการปลอมแปลงลายมือชื่อผู้เสียลงในเอกสารที่เกี่ยวข้อง กับบ้าน ปลอมแปลงเอกสารและร่วมกันฉ้อโกงประชาชน
แต่นายดล ได้ฟ้องตนกับพวกรวม 7 คนในข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทด้วยเอกสาร กรณีที่ทำหนังสือคัดค้านการประกันตัวนายดลต่อพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว ขณะนี้คดีที่ตนแจ้งความดำเนินคดีนายดลอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดสงขลา
ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัสได้ติดต่อทางโทรศัพท์หมายเลข 074-427747 ซึ่งเป็นสำนักงานขายบ้านโครงการดลฤดี เพื่อสอบถามเรื่องดังกล่าว แต่มีเสียงตอบรับว่า หมายเลขนี้ยังไม่เปิดใช้บริการ
ที่มา: หนังสือพิมพ์โฟกัสสงขลา ฉบับที่ 613 วันที่ 17-23 ตุลาคม 2552
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)