กฎหมายผู้บริโภค ผู้บริโภคยืนยันใช้แล้วเกิดประโยชน์จริง แต่กระบวนการยังล่าช้า นักกฎหมายชี้ต้องพัฒนาพนักงานศาลให้เข้าใจกฎหมายผู้บริโภคให้มากขึ้น
Consumerthai - วันนี้ (15 ก.ย.52) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม จัดสัมมนา 1 ปี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ที่ห้องประประชุมสภาที่ปรึกษาและสังคมแห่งชาติ มีนักวิชาการ นักกฎหมายและผู้ที่เคยใช้กฎหมาย เข้าร่วมงานกว่า 100 คน
ศ.จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความเป็นจริงในการเข้าถึงกฎหมายของผู้บริโภคว่าสถานการณ์ของผู้บริโภคบ้านเราดีขึ้นในระดับหนึ่ง หลังจากการขับเคลื่อนกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในปีพ.ศ. 2541 ก็มีการขับเคลื่อนกฏหมายอีกหลายตัว อันรวมไปถึง กฎหมายอีก 2 ฉบับในปี 51 คือ พรบ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และ พรบ.การรับผิดจากการเสียหายอันเนื่องจากสินค้าและบริการ PL
จากกฎหมายต่าง ๆ ที่มีอยู่ สถานการณ์ด้านผู้บริโภคนั้นแม้จะดูดีขึ้นแต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับการคุ้มครองในระดับที่ดีพอควร ดังนั้นเราจึงควรได้มีการช่วยกันคิดและขยับให้ดีมากยิ่งขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จริงอยู่ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย และการขับเคลื่อนจะต้องไม่ให้เอียงไปทางใดทางหนึ่งมากไป ซึ่งคล้ายกับปัญหาแรงงานที่สุดท้ายต้องดูจุดสมดุล ของทั้งสามฝ่าย คือภาครัฐ ภาคธุรกิจ และ ภาคแรงงาน
กลับมาที่ กฎหมายความรับผิด PL เรานำกฎหมายของยุโรปมาเป็นตัวแบบ ซึ่งฐานคิดมาจากฐานคิดแบบอุตสาหกรรม ขณะนี้ประเทศไทย ต้องพึ่งพาการนำเข้ามาก ขณะที่ระดับของอุตสาหกรรมพึ่งอยู่ในระดับเริ่มต้น ทำให้กฎหมายตัวนี้มีความไม่เหมาะสมอยู่มากนอกจากนี้ปัญหาอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ได้ถูกรวมอยู่ด้วย อีกทั้งมาตรา 7(2) นั้นยังคงเป็นปัญหาเนื่องจากระบุให้ความรับผิดของผู้ประกอบการหมดไปเมื่อผู้บริโภครับรู้และยอมรับจากการประกาศของผู้ประกอบการ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าว
นอกจากนี้ ศ.จรัญ ยังกล่าวอีกว่าการมี พ.ร. บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคออกมานั้นถือเป็นการดี แม้ว่าจะสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการมากขึ้นกว่าเดิมแต่ก็ถือว่ามากขึ้นในระดับที่น้อยมาก ถ้าเทียบกับความปลอดภัยที่ผู้บริโภคพึงได้รับ ควรที่จะได้พัฒนาโดยอาศัยองค์ความรู้ที่แน่ชัดจากการแลกเปลี่ยน รวมถึง การปะทะกับแรงต้านและความเห็นในทางตรงข้าม เพื่อที่จะยกระดับของกฎหมายให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น
ในส่วนกฎหมายอื่น ๆ นั้น การบังคับใช้ และ วิธีการบริหารจัดการยังจะนำไปสู่การทำให้ กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และขยายวงเขตออกไปได้กว้างขึ้น
แต่อย่างไรเสียก็ไม่ใช่วิธีที่ดี เนื่องจากกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนำปัญหาไปวางไว้ที่ศาล ซึ่งอยู่ตอนปลายของกระบวนการยุติธรรม ถึงแม้จะมีการตัดสิน แต่ก็ไม่ได้มีผลในเรื่องการป้องกัน ป้องปราม ปัญหาไม่ให้เกิดขึ้นได้ ปัจจุบันกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเน้น อยู่ 3 ด้านหลัก คือ โฆษณา ฉลาก และ สัญญา ซึ่งด้านสัญญาอยู่ในจุดที่อ่อนล้าที่สุด ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการด้านสัญญาแม้จะได้ทำอะไรไประดับหนึ่งแต่ก็ยังไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็น จนกระทั่ง แบงค์ชาติต้องดำเนินการเอง แต่ก็ไม่ได้ช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก มีความเข้าใจอีกด้านหนึ่งว่าผู้ประกอบธุรกิจใช้กฎหมายนี้ฟ้องผู้บริโภคเกือบ 94 เปอร์เซ็น และเหมือนว่าจะเป็นกฎหมายที่เอาไว้ใช้ไล่บี้ผู้บริโภคนั้น จะขอตอบว่าเห็นจะไม่เป็นจริง มันเป็นเพียงภาพหลอก กฎหมายนี้ยังเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น การให้ผู้บริโภคฟ้องศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ ทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสต่อสู้มากขึ้น กฎหมายนี้จึงเปิดช่องให้ผู้บริโภค ได้สู้มากขึ้น นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าจำนวน 4 เปอร์เซ็นนี้ เป็นประเด็นที่ผู้บริโภคเดือดร้อนจริง ๆ จริงต้องฟ้อง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้ที่เคยใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค สามารถฟ้องร้องชนะคดีเรียกร้องค่าชดใช้เป็น รายแรก ของเมืองไทย ภายหลังกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 ส.ค.2551 ในกรณีร้องสิทธิ์ผู้บริโภคกับ กรมการขนส่งทางอากาศและสายการบิน "นกแอร์" บกพร่องในหน้าที่การให้บริการ "ไม่ใช้" เครื่องตรวจสแกนระเบิดวัตถุโลหะแก่ผู้โดยสาร กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวมีประโยชน์กับผู้บริโภค และสามารถนำไปใช้ได้จริง อยากให้เคสของตนเป็นตัวอย่างในการพิจารณาคดีของศาลและเป็นตัวอย่างให้กับกฎหมายผู้บริโภค
กฎหมายนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค อย่างมากซึ่งช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินคดีให้สั้นลง อย่างกรณีของผม ยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ศาลแพ่งงตัดสินให้ชนะคดีในวันที่ 14 ธ.ค.2551 รวมเวลาฟ้องร้อง 3 เดือนเศษ จะเห็นว่าการดำเนินคดีค่อนข้างเร็ว แต่อย่างไรก็ดี กฏหมายนี้ต้องมีการพัฒนาต่อไปทั้งทางด้านการเผยแพร่ข้อมูล ให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงกฏหมาย และทางศาลเองก็ต้องมีเจ้าพนักงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างแท้จริง เพราะถึงแม้ว่าการฟ้องคดีนั้นไม่ต้องใช้ทนาย แต่เมื่อต้องขึ้นศาลจริงๆ ตัวผู้บริโภคเองก็ต้องมีข้อมูลและต้องมีความรู้เพื่อไปยันกับทนายของอีกฝ่ายให้ได้ เพื่อไม่ให้ถูกต้อนจนจนมุม ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว
นายสันติสุข มะโรงศรี เหยื่อซานติก้าผับ กล่าวถึงบทเรียนการใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ว่า กรณีของเขาเมื่อเทียบกับคดีของ ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทองแล้ว มีความต่างกันพอสมควร นั่นคือกรณีของอ.เจิมศักดิ์ยังไม่มีผู้เสียชีวิต แต่กรณีเขามีเสียชีวิตจำนวนมาก
ผมตัดสินใจฟ้องเพราะเห็นว่ากฏหมายฉบับนี้ตรงกับการเอาผิดกับคนที่ควรรับผิดชอบ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคทั้งในด้านทนายความ แต่ว่าในทางปฏิบัติก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการ กรณีผมฟ้องที่ศาลแพ่งรัชดา แต่ศาลแจ้งว่าฟ้องไม่ตรงศาล ผมจึงไปฟ้องที่ศาลแพ่งพระโขนง ซึ่งเป็นภูมิลำเนาที่เกิดเหตุ แต่ว่าขณะนี้ 6 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ขึ้นให้การณ์เลย ยังไม่เห็นหน้าจำเลยด้วยซ้ำ ตอนนี้ความคืบหน้าของคดีอยู่ที่ ฝ่ายจำเลยเริ่มต้นด้วยการพิจารณาว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ทำให้ศาลแจ้งว่าจะรอการพิจารณาของประธานศาลอุธรณ์ก่อน หลังจากรอ มาพอสมควร ขณะนี้ประธานศาลอุธรณ์ได้ให้คำพิพากษาว่า เป็นคดีผู้บริโภค ความคืบหน้าอีกอย่างคือ ศาลมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 4 กันยายน ให้มีหมายเรียก กรรมการผู้จัดการ นายสุริยา ลิประบือ และผู้ถือหุ้นทั้ง 31 คนเข้ามาเป็นจำเลยร่วม นายสันติสุขกล่าว
ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาการใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคนั้น การตามตัวจำเลยมาดำเนินคดีก็ยังเป็นปัญหา โดยตนได้ฟ้องไปทั้งสิ้น 30 กว่ารายรวมถึงผู้ถือหุ้น แต่ศาลแจ้งว่าให้ฟ้องแค่ตัวหลัก ๆ ก่อน และยังมีข้อจำกัดอีกอย่างก็คือ ศาลให้โจทก์ทำคำฟ้องและแถลงเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยทั้งหมดยื่นต่อศาล (คัดสำเนาทะเบียนราษฎร์ ตามดูภูมิลำเนาของจำเลยทั้งหมด) ภายใน 7 วัน ทำให้ตนต้องไปแถลงขอขยายเวลาปฏิบัติตามคำสั่งศาลไปอีก 15 วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากศาล
ผมก็ไม่รู้นะว่า วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในคดีนี้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งก็ต้องชื่นชมกฎหมายฉบับนี้ ที่ไม่ได้ให้ภาระการพิสูจน์ตกอยู่ที่ผู้บริโภค เนื่องจากขณะนี้หลักฐานด้านสถานที่ก็ได้ถูกรื้อไปหมดแล้ว แต่ปัญหาต่อไปคือ วิธีการคำนวณค่าเสียหาย ผู้เสียหายทุกคนที่ฟ้องร้องไม่ได้ชัดเจนว่าจะคำนวณอย่างไร ทั้งความเสียหายทางจิตใจและร่างกายรวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากไม่มีคำตัดสินเป็นบรรทัดฐาน กฏหมายฉบับนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ตัวผมและจำเลยหลายคนตัดสินใจฟ้อง ถ้าหากไปตามกระบวนการปกติน่าจะกินเวลาหลายปี แต่หากเป็นกรณีผู้บริโภค กฎหมายกำหนดว่าให้รวดเร็ว เราไปศาลด้วยมือสะอาด ไม่มีเล่ห์กฎหมาย ไม่มีทนายและไม่มีอะไรทั้งสิ้น เราสุจริตใจในการต่อสู้ เราแค่ต้องการให้จำเลยพิสูจน์ว่า ได้มีการดูแลทั้งสถานที่และผู้ใช้บริการอย่างดีที่สุด นายสันติสุข กล่าว
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมบทเรียนการใช้กฎหมายว่าปัญหาจากการฟ้องโดยใช้กฎหมายดังกล่าวตามหลักการนั้นมีประโยชน์ แต่เมื่อมาใช้จริงกลับมีความยุ่งยากและล่าช้าเมื่อมีการฟ้องร้อง มีความล่าช้าในการนัดสืบคำร้อง และที่ศาลไม่มีทนายที่มีความรู้ในการอ่านเวชระเบียน และเมื่อมีการสืบพยานกรณีคดีผู้เสียหายทางการแพทย์หาพยานที่อยู่ฝั่งผู้เสียหายได้ยากมาก ในขณะที่อีกฝ่ายมีพยานเยอะ รวมถึงเมื่อต้องอยู่ในศาลฝ่ายจำเลยมีทนาย มีอำนาจ มีทุกอย่าง ขณะที่โจทก์ไม่
ปัญหาที่เห็นชัดเจนคือ ปัญหาเรื่องเวชระเบียน (ที่อยู่ในมือโรงพยาบาล)จะมาเป็นอันดับแรก รู้สึกเหมือนไล่จับโจร โดยมากโรงพยาบาลจะอ้างว่าเป็นหลักฐานทางการแพทย์ ภาระการพิสูจน์จึงยังคงถูกผลักมาที่ผู้บริโภคเช่นเดิม และเมื่อเราจะต่อสู้ในศาลเราก็ต้องมีหมอเพื่อมาอ่านเวชระเบียนให้ แล้วก็จะหาหมอมาอ่านเวชระเบียนยากมาก เหมือนพวกเราเป็นเผือกร้อน ก็คงไม่ยากมีใครมายุ่งเท่าไร ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าว
นางสาวคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกาวิธีการใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยฟ้องได้จริง ว่าผู้บริโภคใช้กฎหมายฉบับนี้มากขึ้น มากกว่า 150 คดีที่อยู่ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และที่ได้ยื่นฟ้องไปแล้วกว่า 100 คดี ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าผู้บริโภคเข้าถึงกฎหมายได้มากขึ้น หลังการใช้ก็มีทั้งความสำเร็จและอุปสรรคหลายประการ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือเจ้าพนักงานคดียังขาดความเข้าใจต่อกฎหมาย และอยากให้ศาลจะมีกลไกในการรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายฉบับนี้ และต้องทำให้เราต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจมากยิ่งขึ้นเช่นกัน
นายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าวว่า กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคถือว่าเป็นกฎหมายที่พัฒนามาก แต่ก็ยังต้องมีการบูรณาการ และพัฒนาต่อไป คดีผู้บริโภคมี 2 ด้าน คือด้านที่ผู้ประกอบการฟ้อง กับ ด้านที่ผู้บริโภคฟ้อง คดีที่ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้น
กฎหมายนั้นเวลาเขียนนั้นจะต้องมองไปข้างหน้า 10-20 ปี ขณะนี้เราล้ำหน้าหลาย ๆ ประเทศไปแล้วในเรื่องคดีแพ่ง ในอนาคต เพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคนั้น อาจจะต้องให้เจ้าพนักงาน สคบ.ในแต่ละจังหวัดช่วยเหลือผู้บริโภคในการเขียนคำฟ้อง เจ้าพนักงานที่ทำหน้าที่ในศาลพัฒนาด้วยเช่นกัน อาจจะต้องมีการอบรมเจ้าพนักงานคดี ให้รู้รอบด้านขึ้นเช่น เรื่องการแพทย์ เรื่องหุ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องในเวลาในการพัฒนา เพราะถ้าหากเจ้าพนักงานขาดความเชี่ยวชาญปัญหาต่างๆ ก็จะตกอยู่กับผู้บริโภค เมื่อฟ้องร้องคดี ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ยังกล่าวเพิ่มเติมว่าตัวผู้บริโภคก็ต้องเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ ก็เป็นสิ่งจำเป็นถึงแม้ภาระการพิสูจน์จะตกอยู่ที่ฝ่ายจำเลยที่เราไปฟ้อง แต่เวลาฟ้องคดี พยานหลักฐานที่มีอยู่ในมือต้องเอาไป ในกรณีที่หลักฐานใกล้เคียงกันนั้นฝ่ายที่มีหน้าที่ในการพิสูจน์ถูกผิดจะเป็นฝ่ายแพ้ เพราะถือว่าไม่ได้ให้หลักฐานที่เพียงพอ
ในอนาคตข้างหน้า ควรจะมีการดำเนินคดีแบบกลุ่มขึ้นมา ซึ่งก็จะเกิดทั้งความโกลาหลและความสะดวกหลายประการ เราไม่ควรต้องติดขัดกับปัญหาเทคนิคที่ทำให้ความเป็นธรรมเบี่ยงเบนไป ระบบศาลต้องเดินอีกหลายอย่าง ก็ขอให้ติดตาม นายชาญณรงค์ กล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)