อย. ชี้ เหตุที่ต้องให้จำหน่ายยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในร้านขายยา เพราะปัญหายาปลอมที่มีจำนวนมาก ผู้ป่วยโรคนี้ขาดโอกาสในการเข้าถึงยา แต่ยังคุ้มครองความปลอดภัย ต้องให้แพทย์ตรวจก่อนหรือให้มีใบสั่งยาจากแพทย์ก่อนซื้อยา แต่ให้ซื้อได้ในร้านขายยา เพราะคลินิกหรือสถานพยาบาลมักไม่สำรองยาประเภทนี้ ย้ำ อย. มีระบบการควบคุมการจ่ายยาในร้านขายยาอย่างเข้มงวด
นพ. พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงกรณีการเปิดให้ร้านขายยาคุณภาพสามารถจำหน่ายยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ โดยมีผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยและเกรงว่า อย. จะไม่สามารถควบคุมการขายยาได้นั้น อย. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าปัญหาการขาดโอกาสในการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้ไม่เคยประสบปัญหาอาจไม่ทราบ ทั้งนี้ จากข้อมูลของกลุ่มศึกษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศในประเทศไทย ได้ระบุข้อมูลการสำรวจกลุ่มประชากรชายอายุ 40-70 ปี ทั่วประเทศพบว่า มีผู้อยู่ในภาวะของโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ประมาณ 37.5 % นอกจากนี้ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ยาปลอมในระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 - 2552 พบการลักลอบจำหน่ายยารักษา
อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศปลอมกว่า 244,101 เม็ด ซึ่งคิดเป็นมูลค่ากว่า 97 ล้านบาท ดังนั้น อย. จึงหาแนวทางเพื่อแก้ปัญหาทั้งในเรื่องการเข้าถึงยาและการลดปัญหาการได้รับยาปลอม ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม การเปิดช่องทางให้มีการจำหน่ายยารักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศในร้านขายยาโดยมีใบสั่งแพทย์นั้น อย. ได้มีแนวทางควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด เพื่อควบคุมการกระจายยาให้อยู่ในช่องทางที่เหมาะสม และเพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา โดยได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมตามมาตรฐาน โดยมีผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของบริษัทผู้ผลิต/นำเข้ายาดังกล่าว รวมทั้งร้านยา และ อย. เอง ทั้งนี้บริษัทผู้ผลิต / นำเข้าต้องทำรายงานการขายยาตามแบบ ขย. 8 ทุก 4 เดือน ตามที่ อย ประกาศกำหนด สำหรับร้านยาต้องปฏิบัติตามแนวเภสัชปฏิบัติ Pharmacy practice guideline ในการจ่ายยาตามใบสั่งยา การให้คำแนะนำด้านยา การแก้ไขปัญหาจากการใช้ยา การประเมินผลการรักษา และการติดตามอาการอันไม่พึงประสงค์ เพื่อความปลอดภัยจากการใช้ยา และต้องจัดทำบัญชีซื้อ - ขายตามใบสั่งยา / ทำบันทึกประวัติการใช้ยา โดยร้านยาที่สามารถจำหน่ายยาดังกล่าวได้จะต้องเป็นร้านขายยาที่ อย. ประกาศกำหนด และจะนำร่องโดยใช้มาตรฐานร้านยาคุณภาพ ซึ่งต้องเป็นร้านยาที่ผ่านการรับรองโดยสภาเภสัชกรรม เภสัชกรในร้านยาต้องผ่านการฝึก/อบรม เกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการบริการตามมาตรฐานวิชาชีพ รวมทั้งเงื่อนไข กฎระเบียบ โดยในปัจจุบันมีร้านขายยาคุณภาพรองรับกว่า 355 ร้านทั่วประเทศ และในส่วนของ อย. จะมีการวางระบบการควบคุมกำกับการกระจายยาจากบริษัทยาไปยังร้านยาที่ อย.ประกาศกำหนด โดยมีประกาศให้ยากลุ่มนี้เป็นยาบริษัทผู้ผลิต นำเข้าต้องทำรายงานการขายยาตาม แบบ ขย. 8 ทุก 4 เดือน
ต่อข้อสงสัยว่า หากมีใบสั่งแพทย์แล้วทำไมจึงไม่ซื้อยาจากคลินิกหรือสถานพยาบาล เลขาธิการ ฯ อย.ชี้แจงว่า โดยปกติแล้วคลินิกหรือสถานพยาบาลจะไม่มีการสำรองยาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นแพทย์ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถรักษาโรคนี้ได้ ร้านขายยาจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่คนไข้มีโอกาสในการได้รับยาและเข้าถึงยาได้ เลขาธิการ อย. ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า อย. จะมีความเข้มข้นในการควบคุมและตรวจสอบร้านขายยาถ้าตรวจสอบพบการกระทำผิด เช่น เภสัชกรจ่ายยาดังกล่าวโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ อย. จะดำเนินการตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด จะมีโทษหนักถึงขั้นให้สภาเภสัชกรรมเพิกถอนใบประกอบวิชาชีพ
ที่มา : เว็บไซด์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)