ขยับอีกก้าว เริ่มต้นการพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคในตำบลท่าข้าม
หนึ่งปีที่ผ่านมากับการดำเนินงานพัฒนารูปแบบเครือข่ายการคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสงขลา โดยมี อปท. นำร่อง ได้แก่ อบต. ท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ , อบต. ควนรู อำเภอรัตภูมิ และเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จุดมุ่งหมายสำคัญในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้เกิดเครือข่ายการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีพลังในการปกป้อง ดูแล และช่วยกันพิทักษ์สิทธิของตนเองและร่วมกันสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคให้มีความเข้มแข็ง การเกิดศูนย์พิทักษ์สิทธิคุ้มครองผู้บริโภคในระดับชุมชน ถือได้ว่าเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับประชาชนทุกคน ซึ่งเมื่อเกิดปัญหา หรือถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภค ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกิน การใช้บริการซื้อสินค้า การใช้บริการด้านการแพทย์ ฯลฯ สามารถนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาขอคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือในการประสานงานส่งต่อเรื่อง หรือการไกล่เกลี่ยเรื่องร้องทุกข์ได้ ที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิคุ้มครองผู้บริโภคระดับตำบลโดยทันที ซึ่งไม่ต้องให้ผู้บริโภคเสียเวลา เสียค่ารถโดยสาร ในการนำเรื่องร้องทุกข์ ไปไกลถึงสำนักงานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา
การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด นำโดยสถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่สามารถดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายได้ หากไม่มีกัลยาณมิตรจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาช่วยกันทำงาน องค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม เป็นเพื่อนร่วมทางที่เข้ามีส่วนร่วมคิด ร่วมทำงาน และผลักดันให้เกิดการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับชุมชน ซึ่งหากใครขับรถผ่านหน้าที่ทำการ อบต. ก็จะเห็นป้าย “ศูนย์พิทักษ์สิทธิคุ้มครองผู้บริโภคตำบลท่าข้าม” ซึ่งปลัดนิธิ พันธ์มณี ได้วางแนวทางการทำงานโดยการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จำนวน 11 ท่าน และอนุกรรมการด้านพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจำนวน 11 ท่าน ซึ่งบทบาทการทำงานของคณะกรรมการมีความแตกต่างกันไป กล่าวคือ คณะกรรมการศูนย์พิทักษ์สิทธิคุ้มครองผู้บริโภคมีบทบาท จัดทำแผนพัฒนาศักยภาพของศูนย์และบุคลากร การรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับผู้บริโภค ดำเนินการไกล่เกลี่ยเบื้องต้นหรือส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้สามารถแต่งตั้งอนุกรรมการ เข้ามาช่วยเหลือในการทำงานรับเรื่องราวร้องทุกข์ และดำเนินการไกล่เกลี่ยเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
20 สิงหาคม 2552 สจรส. มอ. ได้แลกเปลี่ยนและร่วมหาแนวทางการทำงานกับตำบลท่าข้าม ซึ่งปลัดนิธิ พันธ์มณี ได้กล่าวถึงแนวคิดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ฟังแล้วทำให้เรายิ้มเหงือกบาน กับคำอธิบายของท่าน โดยมีเนื้อหาว่า “หากเราไปซื้อมือถือเครื่องหนึ่งเกือบหมื่น มาใช้ไม่กี่วันเสีย หรือ ซื้อทีวีมาใช้มีแต่เสียงไม่มีภาพ เราจะทำอย่างไร เรียกร้องไหม ถ้าไปเรียกร้องแล้วพนักงานบอกว่าผู้จัดการไม่อยู่ไปต่างประเทศ 3 ปีกว่าจะกลับ เราก็คงต้องถอดใจ ไม่อยากดำเนินการต่อ แต่ถ้าเกิดรูปแบบการพิทักษ์สิทธิในชุมชน ที่มีกรรมการ เราก็สามารถนำเรื่องที่เกิดขึ้น นำเอกสาร มาให้กับกรรมการซึ่งเป็นตัวแทนเราในการเรียกร้อง ซึ่งการที่ผู้บริโภคคนเดียวจะต่อสู้เพียงลำพังกับห้างใหญ่โต ก็อาจจะยาก แต่ถ้าเราทำในรูปเครือข่าย เช่น ศูนย์พิทักษ์สิทธิ ส่งเรื่องไปก็อาจจะได้รับการแก้ไขหรือถ้าท่าข้ามส่งไปแล้วเรื่องไม่คืบหน้าเราก็สามารถส่งต่อเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์ของ สจรส. ให้เข้ามาช่วยอีกแรงเรื่องของเราก็อาจได้รับการแก้ไขจาก 3 ปี อาจเป็น 3 วัน บริษัทก็อาจจะเปลี่ยนสินค้าให้เรา ซึ่งกระบวนการนี้เขาเรียกว่าการต่อรองทางการค้า นอกจากนี้ปลัดนิธิ ยังยกตัวอย่างต่อในเรื่องอาหาร เช่น เขียงทำอาหาร ซึ่งหากผู้บริโภคเห็นว่าผู้ประกอบการทำอาหารไม่สะอาด ผู้บริโภคจะพูดก็กลัวผู้ประกอบการจะหมั่นไส้ ผู้บริโภคก็นำรื่องราวมาบอกแก่กรรมการศูนย์พิทักษ์สิทธิ กรรมการซึ่งเป็นตัวแทนของศูนย์พิทักษ์สิทธิสามารถใช้บทบาทตรงนี้เข้าไปบอกกล่าวให้ผู้ประกอบปรับปรุง โดยใช้วิธีสมานฉันฑ์ หาข้อตกลงร่วมกัน ก็สามารถทำให้คนในชุมชนได้กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ หรือแม้แต่มันทอดของตำบลท่าข้ามที่กำลังขึ้นชื่อ เราก็พยายามบอกว่า อย่าใช้น้ำมันทอดซ้ำนะ ต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพคนกิน นี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องคุ้มครองผู้บริโภค
จากการหารือในวันนี้ เราได้แนวทางร่วมกันว่า จะเริ่มดำเนินการเตรียมความพร้อมในเรื่องการรวมรวบความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับกรรมการศูนย์พิทักษ์สิทธิ ประชาสัมพันธ์เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับประชาชนรับทราบ รวมทั้งต้องอบรมพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการให้มีความรู้เพื่อจะได้ทำงานพิทักษ์สิทธิอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการเปิดตัวศูนย์พิทักษ์สิทธิคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงเดือนตุลาคม 2552 และดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคในชุมชนท่าข้ามและใกล้เคียงต่อไป
Relate topics
- เทป สงขลาโมเดล เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ลุงประสิทธิ เชิงแส
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรโอเดียน ประจำเดือนตุลาคม 58 ณ ห้างฯโอเดียน เมือวันเสาร์ที่ 3 ต.ค.58 ลูกค้าคึกคักทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ
- สจรส.ม.อ.ร่วมงานสนับสนุนเทศกาลกินเจ หาดใหญ่ 2558 กินเจ ถูกปาก ถูกใจ ถูกอนามัย ไร้แอลกอฮอล์ โดยมีงานแถลงข่าว เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 24 ก.ย.58 ณ วัดถาวรวร
- คณะศึกษาดูงานจากเทศบาลตำบลกำแพงเพชร ณ ตลาดเกษตร ม.อ.
- อาจารย์มนทิรา คณะอุตสาหกรรมเกษตร ลงพื้นที่สวนกง เพื่อพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อเตรียมอบรมเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารทะเลแปรรูป