ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

ปศุสัตว์โวยอย.นำเข้าเพย์ลีน กินหมูอันตรายใช้เร่งเนื้อแดง

by twoseadj @August,14 2009 19.07 ( IP : 114...173 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 270x200 pixel , 55,236 bytes.

กรมปศุสัตว์ออกโรงค้าน อย.ยอมขึ้นทะเบียนยา "เพย์ลีน" หวั่นฟาร์มหมูแอบลักลอบนำมาใช้เป็น "สารเร่งเนื้อแดง" ด้าน อย.อ้างบริษัทยาขอจดทะเบียนเป็นยารักษาโรคหอบหืด ใช้ใน 18 ประเทศ อธิบดีกรมปศุสัตว์ชี้ Codex ยังไม่รับรอง "แร็กโต พามีน" หวั่นกระทบส่งออกอาหารไทย

จากที่เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนยาแร็กโตพามีน (Ractopamine) ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า เพย์ลีน (Paylean) ตามคำร้องขอของบริษัทผู้ค้าเวชภัณฑ์จาก สหรัฐ เพื่อเป็นยารักษาโรคหอบหืด แต่ในข้อเท็จจริง แร็กโตพามีนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มสารเบต้าอะโกนิสต์ (Beta Agonist) ซึ่งเป็นสารเร่งเนื้อแดงที่มีฟาร์มสุกรจำนวนมากลักลอบใช้

นายสัตวแพทย์ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงกรณีดังกล่าวว่า กรมปศุสัตว์ไม่เข้าใจว่าทำไม อย.จึงยินยอมอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนยาแร็กโตพามีน ซึ่งได้ทำหนังสือคัดค้านไปยัง อย.แล้ว แต่ได้รับคำชี้แจงจาก อย.ว่าพิจารณาตามข้อมูลเอกสาร เมื่อไม่พบสิ่งผิดปกติ ดังนั้น อย.จึงยินยอมให้มีการขึ้นทะเบียนยาดังกล่าวได้ หากต้องการให้ยกเลิกประกาศ กรมปศุสัตว์จะศึกษาวิจัยผลกระทบด้านลบของการใช้ยาดังกล่าวมาหักล้าง ซึ่งกรมปศุสัตว์ก็มีข้อจำกัดด้านงบประมาณและบุคลากร จึงไม่พร้อมที่จะศึกษาวิจัยผลกระทบดังกล่าว

ที่ผ่านมาโครงการมาตรฐานอาหารของ FAO/WHO หรือโคเด็กซ์ (Codex) ที่ทำหน้าที่ดูแลปกป้องสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคทั่วโลก ยังไม่รับรองความปลอดภัยของยาแร็กโตพามีนอย่างเป็นทางการกรมปศุสัตว์จึงต้องปฏิเสธการขึ้นทะเบียนยาแร็กโตพามีน เพราะอาจส่งผลถึงการส่งออกสินค้าอาหารของไทยเนื่องจากประเทศผู้นำเข้าส่วนใหญ่จะยึดถือมาตรฐาน Codex

"ผลกระทบจากการชะลอตัวทางการตลาด ทำให้ราคาจำหน่ายเนื้อสุกรปรับตัวลดลงในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้มีผู้เลี้ยงสุกรแหล่งใหญ่ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกหันมาลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มสารเบต้าอะโกนิสต์ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 6% เพื่อเร่งการเจริญเติบโตและเพิ่มปริมาณเนื้อแดงให้มากขึ้น ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางกรมจึงเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการนำเข้าสารเร่งเนื้อแดงจากชายแดนประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ภาคใต้และภาคเหนือมากขึ้น" น.สพ.ยุคลกล่าว ด้านแหล่งข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติเปิดเผยว่า ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความต้องการ บริโภคเนื้อสุกรน้อยลง ราคาสุกรจาก 64 บาท/ก.ก. เหลือ 55-56 บาท/ก.ก. เกษตรกรจับหมูเข้าสู่ตลาดได้น้อยลง ทำให้สุกรเหลือค้างในฟาร์มมาก จากเดิมที่เคยจับขายเมื่ออายุครบ 100 วัน ก็ยืดเป็น 110 วันแทน ทำให้สุกรมีชั้นไขมันเพิ่มมากขึ้น พ่อค้าก็ฉวยโอกาสกดราคารับซื้อ ขณะเดียวกันก็มีโอกาสเลือกซื้อสุกรที่มีปริมาณเนื้อแดงมากแทน ทำให้เกษตรกรที่ไม่เคยใช้ยา ก็ต้องหันมาใช้สารเร่งเนื้อแดง เพื่อให้ขายสินค้าได้ง่ายและทำกำไรมากขึ้น เพื่อความอยู่รอด

ความจริงกว่า 18 ประเทศทั่วโลก ยินยอมอนุญาตให้มีการใช้ยาแร็กโตพามีน เพื่อปรับสภาพซากเนื้อสุกร เพื่อเพิ่มเนื้อแดงและลดปริมาณไขมันกันอย่างแพร่หลาย เช่น สหรัฐ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา ฯลฯ โดยผสมในอาหารสุกรในอัตราส่วนประมาณ 3 ส่วนในล้านส่วนของอาหารสุกร แต่เกษตรกรไทยจำนวนมากลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดงในอัตราส่วนที่สูงกว่าปริมาณที่กำหนดถึง 5 เท่า ทำให้เสี่ยงกับปัญหาสารพิษตกค้างในเนื้อสุกร

ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยทั่วไปสามารถหาซื้อสารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มสารเบต้าอะโกนิสต์ เช่น เคลนบูเทอรอล ซัลบิวตามอล และแร็กโตพามีน หรือเพย์ลีนได้ไม่ยาก จากบริษัทผู้ค้าเวชภัณฑ์ พ่อค้าเขียงหมูที่ต้องการซื้อสุกรที่มีปริมาณเนื้อแดงมากๆ เพื่อนำเนื้อแดงไปขายทำกำไรให้ได้มากที่สุด

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์มักจะตรวจสอบหาสารเร่งเนื้อแดงในอาหารสัตว์เป็นหลัก ไม่ได้เน้นตรวจสอบในน้ำดื่มสำหรับสัตว์ ดังนั้นโอกาสที่จะตรวจพบสารตกค้างในเนื้อสุกรจากฟาร์มรายใหญ่จึงไม่เคยเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ใช้อยู่ในฟาร์มระบบ คอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งเป็นประจำอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามทางสมาคมก็ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของ อย.เหมือนกัน ว่าทำไมยังพิจารณาให้มีการขึ้นทะเบียนยา "เพย์ลีน" เพราะยากต่อการควบคุมและตรวจสอบการลักลอบใช้สารดังกล่าวในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ พิษตกค้างในเนื้อสุกรก็ค่อนข้างสูง เสี่ยง ต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคอย่างมาก

อนึ่ง สารเร่งเนื้อแดงในกลุ่มสารเบต้าอะโกนิสต์ เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลม กระตุ้นการทำงานของหัวใจ หลอดเลือด และระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อผู้เลี้ยงสุกรนำมาใช้ผสมอาหารสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดไขมันและเพิ่มเนื้อแดงให้แก่สัตว์เลี้ยง เมื่อผู้บริโภคได้รับสารดังกล่าวที่ตกค้างในเนื้อสัตว์ จะทำให้เกิด อาการใจสั่น กล้ามเนื้อสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ ทางการแพทย์จึงห้ามใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และใช้ด้วยความระมัดระวังในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน นอกจากนี้ผู้สูงอายุและ เด็กอาจจะมีอาการประสาทหลอน ในสตรีจะเกิดเนื้องอกที่รังไข่ มีผลต่อการตั้งครรภ์ คลอดช้ากว่ากำหนด

ที่มา: วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4131  ประชาชาติธุรกิจ

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง