ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

เป็นผู้บริโภคต้องรู้สิทธิ

by Super NUCHI @July,28 2009 09.29 ( IP : 118...197 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

สิทธิผู้บริโภค

สิทธิ หมายถึง ประโยชน์ที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ เช่น สิทธิที่จะอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ ปราศจากสภาวะที่เป็นพิษ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เป็นต้น

สิทธิผู้บริโภคไทย

แต่เดิมนั้นผู้บริโภคถือว่าเป็นผู้กำหนด ตลาด ชนิด และราคาของสินค้าและบริการต่อมามีรัฐเป็นผู้ใช้อำนาจกำหนดรูปแบบ หรือพฤติกรรมของผู้ผลิตควบคู่กันไป แต่ในปัจจุบันไดมีกิจการของผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ในลักษณะรวมกลุ่ม จึงก่อให้เกิดพลังทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง รวมทั้งมีการนำเอาศิลปะในการโฆษณา และการตลาดมาใช้อย่างกว้างขวาง สินค้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ผู้บริโภคไม่อาจทราบถึงคุณภาพ ราคา และแหล่งผลิตได้ทั่วถึง เมื่อเกิดขึ้นผู้บริโภคจึงตกอยู่ในสภาวะจำยอมและเสียเปรียบผู้ประกอบธุรกิจตลอดมา

ด้วยเหตุผลดังกล่าวประกอบกับมีคำเรียกร้องจากกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคขึ้น กฎหมายฉบับนี้ก็คือพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 กฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐเป็นศูนย์กลางในการควบคุมผู้ประกอบการดำเนินการไปตามครรลองอันเที่ยงธรรม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ปลอดภัยและเหมาะสมและยังเป็นการรวมพลังของผู้บริโภค ให้เกิดความสมดุลกับผู้ประกอบธุรกิจอีกด้วย

นอกจากนี้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ยังถือได้ว่าเป็นกฎหมายของประเทศไทยที่มีการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคโดยตรง เพราะกิจการอื่น ๆ บัญญัติขึ้นควบคุมผู้ประกอบธุรกิจ เป็นการคุ้มครองผู้บิโภคโดยทางอ้อม ผู้บริโภคจึงได้สิทธิในการฟ้องร้องผู้ประกอบธุรกิจต่อศาลทางอาญาได้ส่วนจะดำเนินการทางแพ่งก็เป้นภาระค่าใช้จ่ายมากทั้งผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินคดีด้วยตนเองได้

วิธีดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ได้บัญญัติให้มีองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจตรา ดูแล และประสานงานการปฏิบัติงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในการคุ้มครองแก่ผู้บริโภค รวมทั้งเป็นหน่วยงานที่ให้ผู้บริโภคได้ใช้บริการเมื่อถูกละเมิดสิทธิ

องค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคดังกล่าว ได้แก่

  1. คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามบทบัญญัติแห่งกฎของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานเร่งรัดการปฏิบัติงาน และเร่งรัดดำเนินคดีของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค

  2. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติ งานด้านธุรการต่าง ๆ แทนคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนรับคำร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกละเมิดสิทธิ การร้องเรียนดังกล่าวผู้ร้องเรียนอาจร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรตนเองหรือทางโทรศัพท์ก็ได้ แต่การร้องเรียนเรื่องซึ่งมีปัญหาซับซ้อน สำนักงานฯ จะสามารถทำการได้ต่อเมื่อผู้ร้องมาร้องเรียนด้วยตนเองหรือมีหลักฐานข้อมูลอย่างเพียงพอในกรณีที่ผู้ร้องเรียนไม่ร้องเรียนด้วยตนเอง

  3. คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ได้แก่ คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก และคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ซึ่งถูกแต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 หรือตามมติของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่สอบสวนข้อเท็จจริงเสนอความเห็นและดำเนินการตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ หรือที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมอบหมาย

จึงอาจกล่าวได้ว่าสิทธิมีขึ้นตามที่กฎหมายรับรองและคุ้มครอง การคุ้มครองผู้บริโภคของไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิผู้บริโภค โดยมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 57 วรรคหนึ่งว่า สิทธิผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2541 ได้รับรองสิทธิผู้บริโภคไว้ 5 ประการคือ

  1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการโฆษณา หรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ อย่างถูกต้องเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าและรับบริการโดยไม่เป็นธรรม

  2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการได้แก่สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความ สมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

  3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการ ที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าและบริการนั้นแล้ว

  4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอา เปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ

  5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดเชยความเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ตามข้อ 1 , 2 ,3 และ 4 ดังกล่าว สิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

มาตรา 45 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน หรือหมู่คณะอื่น การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันมิให้มีการผูกขาดตัดตอนในทางเศรษฐกิจ

มาตรา 46 บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 52 บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การบริการทางสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมด้วยเท่าที่จะกระทำได้ การป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตราย รัฐต้องจัดให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่าและทันต่อเหตุการณ์ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 56 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าวทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ย่อมได้รับความคุ้มครอง

มาตรา 57 สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องบัญญัติให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

มาตรา 58 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลหรือข่าวสาธารณะในครอบครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เว้นแต่การเปิดเผยข้อมูลนั้นจะกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประชาชน หรือส่วนได้เสียอันพึงได้รับความคุ้มครองของบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 59 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 60 บุคคลย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครองอันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 61 บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

มาตรา 62 สิทธิของบุคคลที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐ ที่เป็นนิติบุคคลให้รับผิดเนื่องจากการกระทำ หรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การคุ้มครองผู้บริโภคในระดับสากลได้มีการรับรองสิทธิผู้บริโภคไว้โดยสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล(Consumers International หรือ CI) ซึ่งมีความครอบคลุมในการคุ้มครองผู้บริโภคมากกว่าสิทธิผู้บริโภคของไทย ซึ่งได้รับรองสิทธิผู้บริโภคสากลไว้ 8 ข้อ คือ

สิทธิผู้บริโภคสากล

  1. สิทธิที่จะเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นขั้นพื้นฐาน ( The right to basic need ) เช่น ยา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การดูแลสุขภาพ การศึกษาและสุขาภิบาล
  2. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ ( The right to safety)
  3. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ( The right to be information )
  4. สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าและบริการได้อย่างอิสระ ( The right to choose )
  5. สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม ( The right to be heard )
  6. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและค่าชดเชยความเสียหาย ( The right to redress)
  7. สิทธิที่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับการบริโภค ( The right to consumer education )
  8. สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีและปลอดภัย ( The right to healthy environment )

Relate topics

Comment #1ร้องเรียนเรื่องการผ่อนชำระบ้าน
ออย
Posted @January,27 2010 10.27 ip : 202...119

ได้กู้เงินซื้อบ้านสุพรรณบุรี โดยกู้จากธนาคารทหารไทยใบเสร็จรับเงินการค้างชำระบ้านแต่ละเดือนไม่เคยส่งมาที่บ้านของดิฉันเลย (กรุงเทพฯ) ทำให้เสียสิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนที่จำเป็นเกี่ยวกับการส่งชำระค่าบ้านหรือบริการ ( The right to be information ) กรณีมีปัญหาค้างชำระ ก็ส่งเอกสารหมายศาล จะดำเนินคดีติดไว้ที่บ้านประทับตรา ลงวันที่ 24 ม ค53 ทำให้เสียสิทธิของผู้บริโภคเพราะดิฉันเสียหายเรื่องเครดิต เนื่องจากบ้านดิฉันเป็นอาคารชุด คนเดินผ่านไปมา
            ปัญหาคือ จำเลยที่1 ได้เข้าไปแจ้งกับ จนท ธ.สุพรรณว่าเคลียเงินที่ค้างชำระค่าบ้าน (เป็นบัญชีผ่านฝากค่าส่งบ้านทุกครั้ง)  ยอดเงินที่ค้างประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท(เป็นการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ธ. แจ้งให้จำเลยทราบ)  เมื่อวันที่ 25 ธ ค52 จำเลยก็ได้หาเงินมาส่งให้ธ. ไม่ทราบว่าสื่อสารอย่างไรกลายเป็นเงินฝากของจำเลยที่1ไปแล้ว  ในเมื่อบัญชีนั้นเป็นเงินฝากผ่านค่าบ้านมาตลอด  และกรณีมีปัญหา น่าจะแจ้งให้ทราบก่อนว่าเรื่องไปถึงไหนแล้ว เพื่อจะไห้ยกเลิกทันหรือคุยกับธ.ได้ ไม่ต้องไปศาล เพราะเรื่องที่ส่งศาลลงในบันทึกประมาณ วันที่ 12 ม ค 53 ซึ่งทำให้คนอื่นเสียหายในเรื่องการเงินไม่สามารถทำธุรกิจอย่างอื่นได้ และทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิ ใน มาตรา 61 บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภายในเวลาอันสมควร ในเรื่องนี้คิดว่า มีการผิดพราดตรงจุดไหน เราสามารถเรียนร้องได้หรือไม่ ในเรื่องความเสียหายสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง