ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

กลุ่มรับวัคซีนหวัด 09 ก่อนใคร “หมอวิชัย” ชี้ อาสาสมัครทดลอง รักษาฟรี พิการ ตาย มีประกันชีวิต

by wanna @July,24 2009 10.48 ( IP : 118...174 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 300x431 pixel , 32,050 bytes.

สธ.เตรียมเสนอ 7 กลุ่มได้รับวัคซีนพวกแรก ทั้งบุคลากรสาธารณสุข หญิงท้อง โรคประจำตัว อ้วน ธาลัสซีเมีย เด็กเล็ก คนแก่ “หมอวิชัย” แจงสิทธิประโยชน์อาสาสมัครทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เกิดปัญหารักษาฟรี พิการ-ตาย มีประกันชีวิต ได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล ย้ำชัดหัวหน้าทีมวิจัยมีประสบการณ์วิจัยวัคซีนเอดส์ ได้รับการยกย่องเรื่องการดูแลติดตามอาสาสมัคร เป็นทีมวิจัยที่ดีเยี่ยมของไทย

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า อาสาสมัครที่เข้าร่วมทดลองวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ชนิดพ่นขององค์การเภสัชกรรมจำนวน 424 คน จะได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ โดยสิทธิค่าตอบแทนที่อาสาสมัครจะได้รับ คือ จะได้รับค่าเดินทางแบบไปกลับเพื่อมาพบนักวิจัยตามที่นัดหมายครั้งละ 500 บาท ส่วนช่วงเวลาที่ต้องมาพักค้างคืนที่ศูนย์ทดสอบวัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1 สัปดาห์ จะให้ค่าตอบแทนครั้งละ 5,000 บาท นอกจากนี้ สิทธิในกรณีที่เกิดปัญหาจากการทดลองจะมีการดูแลรักษาโดยอาสาสมัครไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล และหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการทดลองวัคซีนแบบร้ายแรง เช่น พิการ เสียชีวิต จะมีการทำประกันชีวิตให้ แต่ยังไม่ทราบวงเงินที่แน่นอน

ชี้อาสาสมัครได้รับการคุ้มครองตามหลักสากล

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการทดลองวัคซีนจะมีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ค่อยกำกับตรวจสอบการวิจัยวัคซีน โดยจะพิจารณา 2 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.เชิงวิชาการว่าเป็นไปตามหลักสากลและการทดลองสามารถวัดผลความสำเร็จของการวิจัยได้ไม่เปล่าประโยชน์กับการนำอาสาสมัครมาเสี่ยงในการทดลอง และ 2.การคุ้มครองอาสาสมัครกระทำตามหลักหลักสากลหรือไม่ ซึ่งมีหลักสำคัญ 3 ข้อ คือ 1.เคารพในศักดิ์ศรี สิทธิ ความปลอดภัย และสุขภาวะของอาสาสมัคร 2.มีการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับอาสาสมัคร ครอบครัว สังคม ประเทศและชาติ และ 3.มีการกระทำต่ออาสาสมัครอย่างเป็นธรรมหรือไม่ เช่น การให้อาสาสมัครรู้ข้อมูลการวิจัยอย่างรอบด้านเช่นเดียวกับนักวิจัย

“การทดลองวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กับอาสาสมัครทั้งหมด มั่นใจได้ว่า อาสาสมัครจะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามมาตรฐานสากล โดยหัวหน้าทีมวิจัยในครั้งนี้เคยทำการวิจัยวัคซีนเอดส์มาก่อน แม้จะไม่ประสบความสำเร็จการผลิตวัคซีนเอดส์ แต่ได้รับการยกย่องระดับโลก ว่า มีการดูแลอาสาสมัครที่เข้ารับการทดลองในครั้งนั้นแบบดีเยี่ยม ทำให้ผู้เสพยาเสพติดที่เป็นอาสาสมัครในการทำลองดังกล่าวมีพฤติกรรมการระมัดระวังตัวในการใช้ยาเสพติดมากขึ้น เป็นสิ่งการันตีว่าทีมวิจัยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 นี้ มีความเข้าใจต่อการดูแลอาสาสมัครอย่างดี เป็นทีมวิจัยที่ดีเยี่ยมในประเทศไทย”นพ.วิชัย กล่าว

“มานิต” ชี้ปริมาณส่งเชื้อตรวจ กทม.ลด แต่ต่างจังหวัดเริ่มเพิ่ม

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณการส่งตัวอย่างเชื้อเพื่อตรวจหาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1เอ็น1 ในเขตกรุงเทพฯ มีปริมาณส่งเชื้อตรวจเริ่มลดลง จากช่วงการระบาดตอนต้น ซึ่งมีตัวอย่างที่ส่งตรวจวันละประมาณ 400-500 ตัวอย่าง เหลือประมาณวันละ 100 ตัวอย่าง หมายถึงมาตรการที่ สธ.ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยให้ส่งตรวจเฉพาะการระบาดแบบกลุ่มก้อน และรายที่มีความรุนแรง ได้รับความร่วมมืออย่างดี สำหรับพื้นที่ในต่างจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่เช่น เชียงใหม่ โคราช ภูเก็ต พบว่าเริ่มมีปริมาณการส่งเชื้อตรวจมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าการระบาดเริ่มกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆแล้ว โดยห้องปฏิบัติการจะสามารถตรวจได้เต็มที่วันละ 300-400 ตัวอย่าง อย่างไรก็ตาม การทำงานของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในภูมิภาคต่างๆ มีความสามารถรองรับการตรวจเชื้อได้แม้ว่าปริมาณเชื้อจะเพิ่มขึ้น

นพ.มานิต กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมประวัติการตรวจเชื้อทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นว่ามีการระบาดในรูปแบบอย่างไร และปริมาณเชื้อเพิ่มขึ้นมากในช่วงไหน พื้นที่ใด เวลาใด เพื่อนำเสนอและนำไปประมวลกับสถานการณ์การระบาดต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของเชื้ออยู่ตลอดเวลา โดยมีการนำเชื้อจากผู้ที่มีอาการรุนแรง เปรียบเทียบเพื่อหาความแตกต่างจากผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง และนำเชื้อไปทดสอบกับยาว่าสามารถทำปฏิกิริยาได้ดีหรือไม่ ขณะนี้การศึกษาเรื่องความแตกต่างของเชื้อยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนการทดสอบความดื้อยายังไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือดื้อยาแต่อย่างใด

สธ.เตรียมเสนอ 7 กลุ่มได้วัคซีนก่อนใคร

นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสำนักงานฯได้กำหนดกลุ่มผู้ที่มีความสำคัญจะได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะนำเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติที่จะประชุมกันในวันที่ 13 ส.ค.นี้ต่อไป แต่เบื้องต้นหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการแบ่งกลุ่มดังกล่าว โดยแบ่งไว้ทั้งหมด 7 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มบุคลากรทางด้านสาธารณสุขซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

นพ.จรุง กล่าวต่อว่า ส่วนกลุ่มถัดๆ มาเป็นกลุ่มที่แต่ละประเทศได้พิจารณาจากข้อมูลสถานการณ์การระบาดของแต่ละประเทศเอง สำหรับประเทศไทย จัด กลุ่มที่ 2 เป็น กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ 3 กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่  โรคตับ  โรคไต  โรคหัวใจ  โรคปอด รวมถึงโรคหอบหืด หลอดลมอุดตันด้วย  โรคมะเร็ง  โรคเบาหวาน  โรคหลอดเลือดสมอง  โรคอ้วน และที่ในไทยเพิ่มขึ้นมาคือ โรคธาลัสซีเมีย

นพ.จรุง กล่าวอีกว่า ส่วนกลุ่มที่ 4 เป็นเด็ก อายุ 6-15ปี ซึ่งเป็นนักเรียนระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนต้น 5 กลุ่มวัยตั้งแต่ 15-49 ปี ซึ่งอาจรวมถึงนักเรียนโต ตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับมหาวิทยาลัยและวัยแรงงาน จนวัยกลางคน 6 กลุ่มอายุ 49-65 ปี และกลุ่มสุดท้าย คือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป

“เหตุที่มีการจัดลำดับหญิงตั้งครรภ์ไว้ลำดับแรกๆ เนื่องจากว่ามีการพบผู้เสียชีวิตที่ตั้งครรภ์ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมาก และการที่เน้นในกลุ่มของนักเรียนระดับเล็กมาก่อน เพราะจากข้อมูลในการแพร่ระบาด พบว่า นักเรียนเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อมากที่สุด ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การประชุมวอร์รูมของ สธ.และคณะกรรมการส่งเสริมการผลิตวัคซีนไว้แล้ว ซึ่งหลายฝ่ายเห็นด้วยโดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการและยุทธศาสตร์ด้านการแพทย์และการสาธารณสุขระดับชาติต่อไป”นพ.จรุง กล่าว

วัคซีนนำเข้า 2 ล้านโดส ไม่พอฉีด 3 กลุ่มแรกฟัน 3.7 ล้านคน

นพ.จรุง กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ สธ.สั่งซื้อจากบริษัทซาโนฟี่ปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศสจำนวน 2 ล้านโดส ซึ่งดำเนินการจากเชื้อตาย สามารถให้กับทุกกลุ่มได้ แต่วัคซีนที่ไทยจะผลิตเองโดยองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้ผลิตจะผลิตจากเชื้อเป็นที่อ่อนฤทธิ์แล้ว จะมีข้อจำกัดในการให้กับกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังนั้น จำเป็นต้องมีการจัดสรรวัคซีนอย่างละเอียด

นพ.จรุง กล่าวว่า ในจำนวนวัคซีนเชื้อตายที่สั่งซื้อจากต่างประเทศจำนวน 2 ล้านโดส อาจจะต้องมีการฉีด 2 โดสต่อคนเพื่อเป็นการกระตุ้น ดังนั้น จะเหลือสำหรับคนเพียง 1 ล้านคน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ประมาณ 3 แสนคน หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 8 แสนคน ผู้ป่วยโรคประจำตัว 2.6 ล้านคน รวมแล้ว 3.7 ล้านคนแล้ว

“หากรวมข้อมูลของกรมอนามัยที่สำรวจคนอ้วนอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปในประเทศไทยที่มีกว่า 15 ล้านคนขึ้นไป ก็จำเป็นต้องมาพิจารณาถึงรายละเอียดหลักเกณฑ์บุคคลที่ควรได้อีก เช่น หากคนอ้วนที่อยู่บนภูเขา อาจไม่ได้รับวัคซีนแต่คนอ้วนในเมืองใหญ่จะได้รับ เพราะโอกาสในการสัมผัสเชื้อต่างกัน โดยในระหว่างที่วัคซีนจะสำเร็จก็ยังคงต้องปรับข้อมูลมาใช้พิจารณาให้ตรงตามสถานการณ์ไปเป็นระยะๆ”นพ.จรุง กล่าว

ที่มา  ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2552 08:02 น.

Relate topics

Comment #1
Posted @July,24 2009 10.50 ip : 61...232

ช่วยระบุที่มาเป็นลิงก์ไปหาข่าวต้นฉบับด้วยครับผม

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง