ผมได้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา เรื่อง ของชาวบ้านที่หวังจะมีกินมีใช้เหมือนกับใครเขา จึงพยายามทุกวิถีทางเมื่อมีใครมาชักชวนให้ทำอะไร ก็มักจะคล้อยตาม ยิ่งมีใครมาบอกว่าจะนำเงินแสนเงินล้านมาให้ก็ลุกตาวาว ดังเช่น กรณีชาวอุบลฯ ทีถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกขายกล้าต้นตะกูยักษ์ อ้างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้ซื้อกล้าต้นตะกูยักษ์ เพื่อปลูกขายเชิงพาณิชย์ โดยอ้างชื่อโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ในลักษณะหลอกลวงหรือฉ้อโกง ประชาชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นวงกว้าง ซึ่งข้อเท็จจริง กิจกรรมและแผนงานต่าง ๆ ของงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น ไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการเผยแพร่ให้ปลูกต้นตะกูยักษ์ หรือต้นไม้อื่นใดในเชิงพาณิชย์
นี่คือ กลยุทธ์อย่างหนึ่งที่กลุ่มมิจฉาชีพนำมาหลอกแก่ชาวบ้าน เรื่องนี้ไม่ได้เกิดแค่ครั้งแรก แต่มีมานานแล้วตั้งแต่ตะพาบส่งไต้หวัน นากหญ้า สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ แม้แต่ต้นไม้ราคาสูงอย่างกฤษณา จนกระทั่งมาสู่ตะกูยักษ์ครับ วิธีการ คือ จะโฆษณาชวนเชื่อว่าหากลงทุนแล้วจะได้เงินแสนเงินล้านตอบแทนในอนาคตกี่ปี ก็แล้วแต่จะนำเอามาหลอกกัน ผมเองมีพี่ที่ทำงานในวงการสาธารณสุขของภาคอีสานท่านหนึ่ง อยู่ดีไม่ว่าดี ยอมนำเงินมาลงุทนปลูกกฤษณาที่ถูกอ้างว่า หากนำมากลั่นเป็นน้ำมันกฤษณาแล้วจะได้เงินเป็นแสนต่อกิโลกรัม แต่หาทาบความเป็นจริงไม่ว่า การจะปลูกฤษณาแล้วได้ไม้หอมที่ดีนั้นเป็นเรื่องของกระบวนการดูแลอย่างดี เจาะต้นกฤษณาเพื่อเลียนแบบธรรมชาติว่ามันกำลังถูกแมลงเข้าทำลายและจะมีเชื้อราลงในเนื้อไม้จึงจะเกิดเป็นไม้หอมที่มีคุณภาพ พูดง่ายๆ คือ แล้วแต่ดวงว่าจะเฮงหรือไม่ เค้าบอกว่าการจะได้ไม้กฤษณาที่ดีบางครั้งปลูก 10 ไร่อาจจะได้แค่ต้นเดียวเท่านั้นครับ ที่เหลือก็เป็นแค่ไม่กฤษณาคุณภาพต่ำ ขายไม่ได้ราคาก็ได้
เช่นเดียวกับตะกูยักษ์ หรือ ที่เรียกว่า สักหลวง ครับ เป็นการสร้างอุปทานเทียมขึ้นมา สร้างกระแสว่าตลาดมีความต้องการสูง เป็นไม้ที่โตไวราคาไม้ดี ในอนาคตมีความต้องการสูง อย่าลืมนะครับว่า คนที่ได้ผลประโยชน์แน่นอนคือ บริษัทที่ปลูกพันธุ์ไม้ตะกูยักษ์ขาย หากปลูกไปสักระยะเมื่อตลาดอิ่มตัว ราคาไม้มีสิทธิตกแน่นอน เมื่อนั้นก็ขายในราคาที่ถูก กดราคาโดยบริษัทเหล่านี้ที่เคยขายพันธุ์ตะกูเมื่อตอนแรกนะครับ
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)