บทความ

เรื่องควรรู้เมื่อฉีดวัคซีน

by twoseadj @July,11 2009 12.22 ( IP : 202...3 ) | Tags : บทความ , วัคซีน
photo  , 260x140 pixel , 5,847 bytes.

เมื่อลูกน้อยอายุได้ 1 เดือน ควรเริ่มได้รับวัคซีนเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ และเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน จึงควรทราบว่าส่วนใหญ่วัคซีนที่ฉีดให้ลูกนั้น มีเชื้อใดที่เป็นสาเหตุของโรคเป็นส่วนประกอบ ซึ่งเชื้อเหล่านี้เมื่อถูกทำให้ตายหรืออ่อนแรงแล้ว จะไม่สามารถถ่ายโรคได้ แต่กลับจะกระตุ้นให้ร่างกายของลูกสร้างภูมิคุ้มกันเมื่อได้รับวัคซีนเข้าไป ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนี้เองเป็นภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นหรือสร้างเองโดยร่างกายของเด็ก ซึ่งเรียกภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นนี้ว่า “แอนติบอดี้”

วัคซีนมีอันตรายหรือไม่ ?

พ่อแม่หลายคนคงสงสัยว่า การให้วัคซีนแก่ลูกนั้นมีอันตรายหรือผลข้างเคียงเกิดขึ้นกับเด็กบ้างหรือไม่ คำถามนี้ในปัจจุบันถือว่าตอบง่าย เพราะขบวนการผลิตวัคซีนในปัจจุบันนั้นทันสมัยขึ้นมาก มีความบริสุทธิ์และจำเพาะ จึงอาจกล่าวได้ว่าการให้วัคซีนมีความปลอดภัยมากขึ้น แม้ว่าอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่สบายบ้างเมื่อรับวัคซีน แต่ลูกก็จะมีอาการเพียงเล็กน้อย ภายในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เช่น มีไข้ต่ำ หรือตัวรุม ๆ ในวันแรกหลังฉีดยา เมื่อทานยาลดไข้แล้วก็มักจะดีขึ้น และไม่ต้องฉีดซ้ำอีก

ข้อสำคัญที่ควรรู้คือต้องระวังสำหรับวัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีนป้องกันโรคไอกรน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหากับเด็กที่เคยมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว เพราะมักจะทำให้มีโอกาสเกิดไข้ได้มาก แต่ในปัจจุบันมีวัคซีนที่เป็นแบบ acellular ซึ่งทำให้โอกาสเกิดไข้น้อยลง พ่อแม่หลายคนอาจเคยได้ยินว่ามีวัคซีนที่ฉีดแล้วไม่มีไข้ ตรงนี้มักชี้แจงกับคนไข้เสมอว่าฉีดแล้วก็ยังมีไข้ได้ แต่โอกาสน้อย ดังนั้น หากบุตรหลานหรือลูกมีปัญหาดังกล่าว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้าก่อนรับวัคซีนทุกครั้ง

หากลูกมีปัญหาต่อไปนี้ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการฉีดวัคซีน

  1. ลูกไม่สบายหรือกำลังได้รับยาปฏิชีวนะ
  2. มีไข้
  3. ลูกเคยมีประวัติแพ้วัคซีน หรือเคยได้รับวัคซีนแล้วเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ไข้สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส มีผื่นคัน ลมพิษ ชัก ร้องตลอดคืน ซึ่งครั้งต่อไปไม่ควรให้วัคซีนป้องกันไอกรน ควรให้เฉพาะวัคซีนป้องกันคอตีบ และบาดทะยัก
  4. เด็กที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติแต่กำเนิด ไม่ควรได้รับวัคซีนที่มีชีวิต
  5. ไม่ควรให้วัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานแก่เด็ก ที่มีคนในบ้านเป็นโรคขาดภูมิคุ้มกันแต่กำเนิด เพราะวัคซีนโปลิโออาจไปติดผู้ป่วยที่ขาดภูมิคุ้มกันในบ้าน และเกิดเป็นอัมพาตได้
  6. ไม่ควรให้วัคซีนป้องกันวัณโรคในเด็กที่มีอาการของโรคเอดส์

ผลแทรกซ้อนจากวัคซีนที่ควรทราบและควรเฝ้าระวัง

ลูกอาจมีไข้ได้ พ่อแม่ต้องคอยวัดอุณหภูมิร่างกาย ถ้ามีไข้มากกว่า 38 องศาเซล เซียส ควรให้ยาลดไข้และควรเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเล็กน้อย แต่หาก มีไข้สูงมาก กว่า 40 องศา หรือมีไข้นานกว่า 24 ชั่วโมง ควรรีบปรึกษาแพทย์ สิ่งที่ควรรู้ไว้คือ วัคซีนบางชนิด เช่น วัคซีนป้องกันไอกรน อาจทำให้บริเวณที่ฉีดมีอาการบวมแดงได้ จึงควรใช้ผ้าเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่ฉีดวัคซีนทันทีเพื่อลดอาการปวด หากหลังจาก 2 วันที่ฉีดแล้ว ยังมีอาการบวมแดงมาก กดเจ็บ มีไข้ ควรรีบมาพบแพทย์ ส่วนวัคซีนป้องกันโรคหัด อาจทำให้เกิดอาการไอ มีน้ำมูก ผื่น และไข้ขึ้นใน 10 วันหลังรับวัคซีน และวัคซีนป้องกันโรคคางทูม อาจทำให้มีอาการไอ มีน้ำมูก ผื่นขึ้น หน้าและคางบวมได้ภายใน 3 สัปดาห์หลังรับวัคซีน แต่พบไม่บ่อย

เมื่อลูกจะฉีดวัคซีน จะช่วยจับอย่างไรดี ?

ควรอุ้มลูกให้มั่น ระวังไม่ให้ลูกดิ้นและคอยปลอบโยนไม่ให้ตกใจกลัว แพทย์หรือพยาบาลอาจให้วัคซีนบริเวณต้นแขนหรือบริเวณต้นขาก็ได้แล้วแต่ชนิด โดยส่วนใหญ่มักจะให้บริเวณต้นขา ฉีดเข้ากล้ามเนื้อในกรณีที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งมักเป็นวัคซีนสำหรับ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน หลังจากนั้นมักฉีดที่ต้นแขนเป็นส่วนใหญ่

คำอธิบายอักษรย่อของชื่อวัคซีนที่พ่อแม่ควรรู้

คำย่อเหล่านี้มักจะได้ยินจากแพทย์หรือพยาบาลพูดกันบ่อย ๆ มาทำความรู้จักกันว่ามีอะไรบ้าง

BCG = วัคซีนป้องกันวัณโรค, HBV = วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี, DTP = วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก, OPV = วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ, MMR = วัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน, JE = วัคซีนป้องกันไวรัสสมองอักเสบ, Hib = วัคซีนป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อฮิบ HAV = วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ และ VAR = วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส

โดยมีลักษณะการฉีดดังนี้

แรกเกิด : ให้บีซีจี ป้องกันวัณโรค, ให้วัคซีนป้องกันตับอักเสบ บี ครั้งที่ 1

2 เดือน : ให้วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ครั้งที่ 1, หยอดโปลิโอ ครั้งที่ 1, ให้วัคซีนเยื่อ หุ้มสมองอักเสบครั้งที่ 1 ให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ครั้งที่ 2

4 เดือน : ให้วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ครั้งที่ 2, หยอดโปลิโอ ครั้งที่ 2, ให้วัคซีนเยื่อหุ้มสมองอักเสบครั้งที่ 2

6 เดือน : ให้วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ครั้งที่ 3, ให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ บี ครั้งที่ 3, หยอดโปลิโอ ครั้งที่ 3

9-12 เดือน : ให้วัคซีนรวม หัด คางทูม หัด เยอรมัน ครั้งที่ 1

1 ขวบครึ่ง : ให้วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และหยอดโปลิโอกระตุ้น ครั้งที่ 1, ให้วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบครั้งที่ 1 และ 2 โดยให้ห่างกัน 1 สัปดาห์ (แพทย์บางท่านอาจเริ่มให้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ)

2 ขวบ : ให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ ครั้งที่ 1

2 ขวบครึ่ง : ให้วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบครั้งที่ 3, ให้วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ เอ ครั้งที่ 2

4 ขวบ : ให้วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และหยอดโปลิโอ กระตุ้นครั้งที่ 2

4-6 ขวบ : ให้วัคซีนรวม หัด คางทูม หัดเยอรมัน ครั้งที่ 2

5 ขวบ : ให้วัคซีนป้องกันไข้ไทฟอยด์

10 ขวบ : ให้วัคซีนกระตุ้นคอตีบและบาดทะยัก หลังจากนี้ ให้วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ทุก 10 ปี.

นพ.ศักดา อาจองค์

กุมารแพทย์โรคหัวใจ งานกุมารเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง