เด็กอ้วนทะลักโลก ยิ่งต่ำกว่า 5 ขวบ 22 ล้านคนทั่วโลก ยิ่งน่าห่วง เหตุ 3 ใน 4 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา-ยากจน WHO ชูมาตรการไทยคุมโฆษณาขนมทางแก้ เดินหน้าดันทำทุกประเทศสมาชิก
รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผจก.แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ประชุม “การเสริมความเข้มแข็งขององค์กรภาคีในการบูรณาการการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ” ที่เมืองชานติกา ประเทศอินเดีย มีประเทศสมาชิกเข้าร่วม และผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล สหพันธ์เบาหวานโลก สถาบันมะเร็งศึกษา ซึ่งทุกภาคส่วนต่างกังวลต่อการขยายตัวของโรคอ้วน โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่ปัจจุบันมีจำนวน 22 ล้านคน และ 3 ใน 4 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาระดับกลาง และระดับยากจน
“ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า สาเหตุของโรคอ้วนนอกจากพฤติกรรมขาดการออกกำลังกายแล้ว อาหารก็เป็นสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง ซึ่งพบในขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม และอาหารขยะ เนื่องมาจากการตลาด และการโฆษณาที่ใช้การสร้างโอกาส และสร้างพลังเร้า เป็นการสร้างพฤติกรรมบริโภคที่ติดกับอาหารรสจัด หวาน มัน เค็ม ทำให้เด็กและเยาวชนบริโภคอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ”รศ.ดร.วิทยา กล่าว
ที่มา ASTV ผู้จัดการ
วันที่ 8 กรกฎาคม 2552
รศ.ดร.วิทยา กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากโฆษณาและการตลาดของอาหารเหล่านี้ เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด การป้องกันโรคอ้วนนอกจากลดความเสี่ยงโรคดังกล่าว ยังลดโอกาสเกิดมะเร็งได้ถึง 1 ใน 3 ที่ประชุมจึงนำเสนอมาตรการคุมโฆษณาทางโทรทัศน์ของไทย ที่ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่จำกัด “โอกาส” โดยลดการโฆษณาอาหารที่มีผลกระทบต่อเด็กให้มีเวลาน้อยลงจากเดิม และจำกัด “พลังเร้า” จากการใช้นักแสดง นักกีฬา ดารา ขวัญใจเด็ก เยาวชน การ์ตูน มาเป็นผู้โฆษณา การแจกของรางวัล ตุ๊กตา หุ่นยนต์ ที่ทำให้เด็กและเยาวชนถูกเหนี่ยวนำให้บริโภคอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ และส่งผลต่อโรคอ้วน ซึ่งได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ
“แต่ละประเทศและหน่วยงานต่างๆ ลงความเห็นว่า ต้องพัฒนานโยบายการควบคุมการตลาดอาหารเด็กในอย่างจริงจัง เช่น หากกลยุทธ์การควบคุมการตลาด และการโฆษณาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ โดยใช้มาตรการทางกฎหมาย ควบคุมกำกับโดยรัฐ การใช้วิธีสมัครใจ หรือมาตรการผสมผสาน ซึ่งจะประมวลข้อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่สภาองค์การอนามัยโลกที่เจนีวา เพื่อออกมาตรการร่วมกัน เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน” รศ.ดร.วิทยา กล่าว
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)