แผนการเงินของใครของมัน ชีวิตคนเราเงื่อนไขและภาระไม่เหมือนกัน กรอบสำคัญคือแผน แต่ละคนควรจะมีแผนของตัวเอง อาจจะชอบและหยิบแผนของคนอื่นมาเป็นกรอบได้ แต่ก็ต้องปรับให้เหมาะกับตัวเอง" นั่นเป็นวิธีคิดของ "นิศารัตน์ รัตนศักดิ์โสภณะ" ผู้ดำเนินรายการสาวสวยประจำสถานี Money Channel
แผนการเงินของเธอไม่ได้ลึกลับซับซ้อนไปกว่าคนอื่น แค่วางแผนเพื่อให้วัยเกษียณต้องมีเงินเก็บก้อนหนึ่ง ไม่ได้กะเกณฑ์ว่าต้องมีเท่านั้นเท่านี้ แต่จะต้องอยู่อย่างไม่ลำบาก ซึ่งเมื่อมีเป้าหมายแบบนี้ จึงเดินตามแผนด้วยการเก็บออมและลงทุนในช่องทางต่างๆ ตามแบบฉบับของเธอ นิศารัตน์เล่าว่าเธอเริ่มปลูกต้นออมตอนอายุประมาณ 26 ก็ถือว่าไม่ช้า
"จะเรียกว่าเป็นมนุษย์เงินเดือนก็ได้ แต่จะมีรายได้มาจากหลายทางหน่อย ซึ่งพอมีรายได้เข้ามาโดยปกติก็จะจัดสรรเก็บไว้เป็นสัดส่วน อันดับแรกเลย จะออมก่อนเดือนละ 20% จัดให้อยู่ในบัญชีออมทรัพย์ 10% และฝากประจำ 10% ถ้าเอามาใช้ก่อนจะไม่สบายใจ ส่วนที่เหลือแล้วค่อยใช้ แต่ปกติจะเซ็ทค่าใช้จ่ายเอาไว้แล้ว เช่น ค่าน้ำมันไม่เกิน 5 พัน ค่าโน่นค่านี่เท่าไหร่ พยายามไม่ให้เกินงบประมาณ นอกจากฝากแบงก์ ก็มีลงทุนด้วยการซื้อคอนโดมิเนียม"
เมื่อเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ทุกเดือน ก็ต้องมาวางแผนเรื่องภาษี นอกจากฝากเงินแล้ว จึงลงทุนกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อหาทางประหยัดภาษี แต่ละปีจะคำนวณไว้เลยว่าจากรายได้คาดการณ์ทั้งปี ปีนี้จะซื้อเท่าไหร่ จากนั้นจะทยอยเก็บเงินเอาไว้ รอซื้อในจังหวะที่หุ้นตก ไม่จำเป็นต้องถึงจุดต่ำที่สุด แต่เมื่อถึงระดับหนึ่งที่พอใจก็ซื้อ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าหุ้นจะตกต่ำสุดตรงไหน ซึ่งเมื่อซื้อแล้วก็ไม่คาดหวังอะไรมาก แค่ได้ประหยัดภาษีก็พอใจแล้ว
นิศารัตน์บอกว่า เธอทำงานอยู่ที่สถานี Money Channel ก็จริง แต่ไม่ถนัดลงทุนในตลาดหุ้น เป็นเพราะไม่มีเวลานั่งมอนิเตอร์ และไม่อยากฟังคนอื่นพูดว่าหุ้นตัวนี้ดีแล้วรีบลงทุน ฉะนั้น จะไม่ซื้อหุ้นด้วยตัวเอง รู้ตัวว่าเราไม่เหมาะกับการลงทุนประเภทนี้ เป็นคนที่พร้อมจะรับความเสี่ยงในระดับหนึ่ง แต่ไม่มากเท่าลงทุนในหุ้น
"คิดว่าเราคงไม่เหมาะกับหุ้นเท่าไหร่ เอาแบบได้ผลตอบแทนน้อยๆ แต่ได้เรื่อยๆ ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องได้ผลตอบแทนเยอะเหมือนคนอื่นก็ได้ แต่ในอนาคตถ้าพร้อมที่จะเสี่ยงก็อาจจะเปลี่ยนใจได้ แต่ตอนนี้ไม่ลงทุน"
เธอเล่าว่า ที่จริงแล้วการลงทุนที่ถูกจริตที่สุดน่าจะเป็นทองคำ เป็นคนที่ชอบซื้อทอง ทั้งทองแท่งและทองรูปพรรณ เริ่มจากที่แม่ของเธอสะสมไว้ให้เรื่อยๆ และคลุกคลีกับทองมาตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านเป็นร้านเครื่องมือช่างทอง เลยทำให้เห็นอะไรพวกนี้มาตั้งแต่เด็ก และตระหนักอยู่เสมอว่า ทองคำเป็นสิ่งที่มีมูลค่าในตัวเอง ก็จะเก็บสะสมมาพอสมควร แม้เวลาซื้อตอนนี้คนอาจจะบอกว่าซื้อทองตอนแพง แต่ก็ยังซื้อ เพราะเราไม่ได้ขายตอนนี้ แต่ซื้อแล้วเก็บยาว ลงทุนทุกอย่างต้องมองยาวๆ
นิศารัตน์บอกว่า อาจจะมองว่าเธอเป็นคนรอบคอบเรื่องการเงินมาก เพราะเคยผิดพลาดเรื่องการใช้เงินมาแล้ว แต่ก่อนใช้เงินเก่งมาก และใช้แบบไม่คิด จึงไม่อยากพลาดอีก ปัจจุบันถ้าเป็นการใช้บัตรเครดิต จะไม่รูดไปก่อน โดยไม่มีเงินจ่าย เพราะไม่ชอบมีหนี้ ยิ่งถ้าไม่รู้ตัว หนี้จะขยับขึ้นไปเรื่อยๆ
"เคยมีหนี้แล้วแก้ได้ ตอนนั้นก็ใช้เงินตามประสาเด็กจบใหม่ เริ่มทำงานมีเงินเข้ามา มีเงิน 2 หมื่นสบายแล้ว ก็ใช้ไปเรื่อย แต่ความที่ใช้เงินแบบประมาท ใช้จ่ายเพลิดเพลิน ปาร์ตี้สังสรรค์ ชอปปิง ก็รูดบัตรเครดิตไปเรื่อย เริ่มจากมีบัตรเครดิต 2 ใบ ด้วยความที่คิดว่าหมุนเงินได้ ก็หมุนไปหมุนมาเป็นวัวพันหลัก พอสเตทเมนท์มาก็ชำระขั้นต่ำตลอด ดอกเบี้ยทบขึ้นทุกเดือน พอมารู้ตัวอีกที ไม่ได้มีหนี้แค่ 2 หมื่น แต่มันหลายหมื่นจนจะเหยียบแสน ดอกเบี้ยบัตรเครดิตก็มหัศจรรย์ อยากให้ทุกคนอ่านตอนทำบัตรเครดิต ที่เขาเขียนเงื่อนไขไว้ด้านหลังจะได้รู้ว่ากฎเกณฑ์เขาเป็นยังไง"
นิศารัตน์บอกว่าเป็นช่วง 1 ปีที่ใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลิน แต่พอตัดสินใจว่าจะปลดหนี้บัตรเครดิต ก็ตัดบัตรเครดิตแล้วส่งคืนเลย ช่วงแก้หนี้ ไม่ได้ตั้งเป้าว่ากี่เดือนต้องปลดให้หมด แต่ตอนนั้นมีเงินเท่าไหร่ใส่หมด เพราะไม่อยากมีหนี้อีกแล้ว ตอนสเตทเมนท์มาเราเห็นดอกเบี้ยว่ามันเยอะแค่ไหน พยายามใช้จ่ายให้น้อยที่สุด ก็ใช้เวลาประมาณ 8 เดือนก็สะสางหมด
กุญแจสำคัญในการปลดหนี้ของนิศารัตน์ คือมานั่งดูค่าใช้จ่ายแต่ละเดือน และจดลงบนหน้ากระดาษ จะเห็นเลยว่า มีอะไรบ้างที่เป็นของฟุ่มเฟือยที่เราสามารถตัดได้ เช่นเสื้อผ้า กระเป๋า ข้าวของแบรนด์เนม
"ตอนนั้นคิดว่า ไม่มีของใหม่ซัก 8 เดือนคงไม่เป็นอะไร จากที่ซื้อกระเป๋าเดือนละ 3 พันบาท รองเท้าเดือนละเป็นพัน เงินค่าปาร์ตี้ พอมาจดเราจะเห็นว่า ครึ่งหนึ่งของเงินเดือนคือเงินที่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ตอนนั้นไม่เคยคิดออมก่อนใช้ ใช้ไปเรื่อย แต่ช่วงปลดหนี้ก็ยังใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้ขมขื่นกับการแก้หนี้มาก เช่น ปกติดูหนังอาทิตย์ละ 3 เรื่องก็เหลือเรื่องเดียว เลือกเรื่องที่เราอยากดูที่สุด ลดชอปปิง ลดปาร์ตี้ ลดกิน ลดสังสรรค์ เมื่อลดกิจกรรมพวกนี้ก็ไม่ต้องเดินทาง กินข้าวนอกบ้านให้น้อยลง เบ็ดเสร็จเดือนหนึ่งเหลือเงินเกือบครึ่งหนึ่งของเงินเดือน
แต่ตอนนั้นแม่ก็ช่วยด้วย เขาสงสารช่วยโปะอีกนิดหน่อย เพราะเขาเห็นเราตั้งใจแก้ไขหนี้ จากนั้นก็เป็นโรคกลัวบัตรเครดิตไปเลย กลัวการเป็นหนี้ ไม่อยากกลับไปเป็นหนี้อีก หลังจากนั้น ได้งานใหม่พอดี ทำไปทำมาก็วางแผนเลย ซื้อสมุดมาจด เขียนเลยว่าเงินเดือนเข้ามาเท่าไหร่ เราจะออมเท่าไหร่ เราทำงานตรงนี้แล้วฟังคนโน้นคนนี้พูดตลอดเรื่องออมเงิน เราก็คิดว่าจะใช้ชีวิตโดยลดความฟุ้งเฟ้อลงมาบ้าง"
เป็นบทเรียนทางการเงินที่นิศารัตน์ได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่เธอบอกว่าโชคดีที่มีเหตุการณ์นี้ เพราะถ้าไม่มี วันนี้อาจจะยังใช้เงินฟุ่มเฟือยและใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้ออยู่
Relate topics
- รณรงค์เลิกใช้โฟม
- รายการสงขลามหาชน ตัวอย่างอาหารของแม่ ตอน " บทบาทของพ่อ " อาหารของแม่ สร้างความอบอุ่นของครอบครัวกับมื้ออร่อยที่แม่บรรจงปรุงเพื่อลูก
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู( http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- ข่าวดีจะดัง ตอนที่ 265 โรงเรียนสุขภาพดี ของ อบต.ควนรู(7 เม.ย 5…: http://youtu.be/KsuLA7Fguy8 )
- รายการอาหารของแม่ ตอน " อาหารคือภาคีและพื้นที่ " เปิดอร่อยด้วย ยำบัวบก สูตรสมุนไพรภูมิปัญญาถิ่น อบต.ท่าข้าม ของป้ายุพา ผลชนะ