นักกายภาพบำบัดชี้เด็กนักเรียนไทย 80% แบกกระเป๋านักเรียนเกินน้ำหนักตัว 20% อาจเสี่ยงทำให้โครงสร้างร่างกายผิดปกติ โดยเฉพาะทำให้หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้
นางบัณลักข ถิรมงคล ผอ.คลินิกกายภาพบำบัด ดีสปายน์ ไคโรแพรคติก เปิดเผยว่า สภาพร่างกายและโครงสร้างทางร่างกายของเด็กไทยในยุคปัจจุบันผิดปกติไปจากเดิมมาก ทั้งนี้เป็นผลมาจากการดำรงชีวิตที่ไม่สมดุล ทั้งการเดิน นั่ง นอน หรือแม้แต่การแบกกระเป๋าหนักๆ จากข้อมูลของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคระบุว่า เด็กนักเรียนในระดับชั้น ป.1, ป.2 และ ป.3 ไม่ควรแบกกระเป๋าหนักเกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว แต่ในปัจจุบันกลับพบว่ากระเป๋านักเรียนของเด็กๆ มีน้ำหนักเกินกว่าร้อยละ 20 ของน้ำหนักตัว สมมติว่าน้ำหนักตัว 30 กิโลกรัม กระเป๋านักเรียนจะต้องไม่หนักกว่า 3 กิโลกรัม แต่ประมาณ 80% ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ใช้กระเป๋าหนักเกินร้อยละ 20 ของน้ำหนักตัว ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติและไม่เหมาะสมกับวัย จะส่งผลเสียต่อกระดูกสันหลัง ทำให้ความโค้งของกระดูกสันหลังผิดรูปร่างได้
นางบัณลักข กล่าวว่า นักเรียนส่วนใหญ่จะใช้กระเป๋าประเภทสะพายไว้ข้างหลัง ทำให้น้ำหนักของกระเป๋ากดทับโดยตรงที่กล้ามเนื้อต้นคอ ไหล่ หลัง และกระดูกสันหลัง ทำให้เด็กประมาณ 29% มีอาการปวดคอ ไหล่ หลัง หรือแม้กระทั่งอาการปวดศีรษะ หากไม่ได้รับการดูแล การกดทับโดยน้ำหนักกระเป๋าจะลงไปสู่กระดูกสันหลังของเด็กและหมอนรองกระดูกอาจจะเกิดปัญหาได้ หากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท จะเกิดผลเสียต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายและสุขภาพของนักเรียนต่อไปในอนาคต
สำหรับแนวทางการป้องกันนั้น นางบัณลักขให้คำแนะนำว่า วิธีดีที่สุดก็คือ ใส่สัมภาระในกระเป๋านักเรียนน้ำหนักไม่เกินร้อยละ 10 ของน้ำหนักตัว และที่สำคัญกระเป๋าก็จะต้องมีขนาดและรูปร่างที่พอดีกับตัวของเด็ก โดยจัดวางสิ่งของในกระเป๋าอย่างเหมาะสม ให้กระจายน้ำหนักเท่ากันทั้ง 2 ด้าน หลีกเลี่ยงการวางสิ่งของหนักเพียงด้านเดียว
"ถ้าหากเป็นกระเป๋าสำหรับสะพายไหล่ ควรจะมีความกว้างมากกว่า 6 ซม. เพราะสายเล็กจะทำให้เกิดการกดทับบริเวณไหล่ได้ และอาจกดลึกจนมีผลต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้ และควรปรับสายสะพายเพื่อให้กระเป๋าแนบบริเวณหลัง ไม่ห้อยต่ำ ก้นกระเป๋าต้องไม่อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าบั้นเอว ควรแนะนำเด็กให้เดินตัวตรง ไม่เอนตัวไปข้างหน้าหรือทำหลังค่อมเพื่อรับน้ำหนัก"
นางบัณลักข กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าหากเด็กเกิดอาการปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ หรือปวดศีรษะ ควรรีบปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบโครงสร้างร่างกาย เพราะหากเกิดการกดทับของแนวเส้นประสาทแล้วจะทำให้ระบบต่างๆ ที่สัมพันธ์กันถูกรบกวน ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่ในปัจจุบันได้มีการนำเอาศาสตร์การแพทย์ไคโรแพรคติกมาใช้ ป้องกันรักษาเกี่ยวกับระบบโครงสร้างของร่างกายแบบไม่ใช้ยาหรือผ่าตัด ขั้นตอนการตรวจรักษาจะใช้มือเป็นหลัก ขึ้นอยู่กับเทคนิคการรักษาของผู้เชี่ยวชาญแต่ละคน หลังจากที่มีการปรับโครงสร้างร่างกายที่มีปัญหากลับเข้าที่ ก็จะทำให้ระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างสมดุล อาการปวดหรือเจ็บป่วยก็จะลดลง ทั้งยังส่งเสริมบุคลิกภาพที่ดีให้เกิดความมั่นใจมากยิ่งขึ้นอีกด้วย.
Relate topics
- ใบสำคัญรับเงิน
- ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติ จะนะ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย โดย อ.จินตนา เจริญเนตรกุล ได้จัดอบรมการแปรรูปอาหารทะเล เช่น การทำข้าวเกรียบ
- บรรยากาศการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติ สุดยอดความอลังการ หนึ่งในกิจกรรมงานอาหารของแม่ เพื่อเทิดพระเกียรติแม่ของแผ่นดิน ณ ถนนสเน่หานุสรณ์
- บรรยากาศงานตลาดนัดเกษตรกรโอเดียน ประจำเดือนกรกฎาคม เมื่อวันที่ 4 ก.ค.58 โดยภายในตลาดไดมีคุณวรรณา สุวรรณชาตรี ผู้ประสานงานโครงการประชุมและเยี่ยมชมตลาด
- วันนี้ โครงการอาหารเป็นยา ปีที่ 2 อาหารเป็นยาสมุนไพร: กรณีศึกษาจังหวัดสงขลา (Food as herbal medicine: A case study of Songkhla province)