ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

กรมบัญชีกลางพิลึก สั่งรพ.รัฐห้ามเบิกจ่ายยาสมุนไพรนอกบัญชี ภาคปชช.ขู่ฟ้องศาลปกครอง

by twoseadj @June,27 2009 13.14 ( IP : 202...4 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 492x368 pixel , 54,110 bytes.

กรมบัญชีกลางออกกฎสั่งรพ.รัฐทั่วประเทศ ห้ามเบิกจ่ายยาสมุนไพรนอกบัญชียาหลักมีผล 1 ก.ค.นี้ หลังพบค่ารักษาพยาบาลข้าราชการพุ่งกระฉูด เครือข่ายสมุนไพรฯ ค้านเกาไม่ถูกที่คัน จ้องทำหมันยาสมุนไพร ข้องใจทำไมไม่ห้ามจ่ายยานอก ทั้งๆ ที่ ยอดยาแพงปีละ 7.5 หมื่นล้าน ส่วนสมุนไพรใช้แค่ 2 พันล้าน ขู่ฟ้องศาลปกครองแน่ พร้อมจี้สธ.ทำหนังสือถึงก.คลังชะลอการบังคับใช้
      วันที่ 26 มิ.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย พร้อมเครือข่ายส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย ชมรมเภสัชชนบท มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลุ่มศึกษาปัญหายา มูลนิธิสายใยแผ่นดิน สถาบันสุขภาพวิถีไทย มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และสมาพันธ์แพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว คัดค้านแนวทางการปฏิบัติที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังห้ามไม่ให้ข้าราชการเบิกจ่ายการนวดบำบัดและยาสมุนไพรนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
      นายวีรพงษ์ กล่าวว่า กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังได้ออกแนวทางการปฏิบัติและซักซ้อมความเข้าใจในการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลงนามโดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รองปลัดกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยส่งเป็นหนังสือเวียนถึงหน่วยงานราชการ ระบุว่า การเบิกจ่ายค่ายาสมุนไพรที่อยู่นอกรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรจำพวกยานวดเพื่อบรรเทาอาการหรือผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เช่น สบู่สมุนไพร แชมพูสมุนไพร ชาชงสมุนไพร และยาสมุนไพรถือว่าเป็นการผิดระเบียบตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นจึงห้ามเบิกค่าใช้จ่ายดังกล่าวและห้ามสภานพยาบาลออกหนังสือรับรองกรณีใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้เป็นต้นไป
      “แนวทางดังกล่าวไม่เหมาะสมอย่างมาก เนื่องจากทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายยาสมุนไพรนอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้ เป็นการเอื้อต่อยาแผนปัจจุบันที่หากแพทย์เซ็นรับรองการสามารถเบิกจ่ายยาได้ แต่ทำไมยาสมุนไพรแม้แพทย์เซ็นรับรองก็เบิกจ่ายไม่ได้ แบบนี้เท่ากับมีเงื่อนงำหรืออคติกับยาสมุนไพร และดูถูกภูมิปัญญาไทย ทำไมไม่กล้าแตะยาแผนปัจจุบันนอกบัญชียาหลัก คำสั่งนี้จึงไม่เท่าเทียม ไม่เสมอภาค”นายวีรพงษ์กล่าว
      นายวีรพงษ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ในฐานะกำกับดูแลกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นผู้สนับสนุนให้มีการใช้ยาสมุนไพรในโรงพยาบาล ควรทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลังเพื่อทัดทานหรือขอให้ชะลอการบังคับใช้แนวทางปฏิบัติออกไป รวมทั้งเครือข่ายฯจะส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กับนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้เครือข่ายฯกำลังหารือร่วมกันว่าจะฟ้องกรมบัญชีกลางต่อศาลปกครองหรือไม่ เพราะถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม
      ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเภสัชศาสตร์สังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แนวทางของกระทรวงการคลังเกาไม่ถูกที่คันเพราะจากข้อมูลมูลค่าการใช้ยาของระบบสวัสดิการข้าราชการในปี 25749 พบว่า ยาแผนปัจจุบันมีมูลค่าการใช้ 7.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยาสมุนไพรมีเพียง 2 พันล้านบาทเท่านั้น ยาที่เป็นต้นเหตุให้ค่ารักษาพยาบาลเกินจึงเป็นยาแผนปัจจุบันที่นำเข้าจากต่างประเทศ กระทรวงการคลังควรไปจัดการและแก้ไขที่จุดนั้น ไม่ใช่มาลงโทษที่ยาสมุนไพร ซึ่งหากจะดำเนินการควรคุมการจ่ายยาแผนปัจจุบันนอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่มียอดการเบิกจ่ายสูง ไม่ให้เบิกจ่ายกับสถานพยาบาลโดยตรง ทำไมกระทรวงการคลังไม่เลือกใช้
      ดร.ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า ทางเครือข่ายฯได้ออกแถลงการณ์คัดค้านข้อบังคับดังกล่าว พร้อมกับมีข้อเสนอแนะ 4 ข้อ คือ 1.ในระหว่างที่ยังไม่มีเภสัชตำรับโรงพยาบาลด้านยาจากสมุนไพร ซึ่งเป็นตำรับยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติที่โรงพยาบาลสามารถจ่ายให้กับผู้ป่วยได้ ต้องยกเลิกหรือเลื่อนการใช้แนวทางปฏิบัตินี้ออกไป 2. ให้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดกับยาแผนปัจจุบันและยาจากสมุนไพร โดยใช้ยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและเภสัชตำรับโรงพยาบาลของยาทั้ง 2 แผนอย่างเท่าเทียมกัน
      3. นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาจากสมุนไพร ไปจัดทำเภสัชตำรับโรงพยาบาลด้านยาจากสมุนไพรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะปัจจุบันเภสัชตำรายาโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นยาแผนปัจจุบันไม่มียาจากสมุนไพร และ4.เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำกับดูแล การบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้บริหารเชิงรุกที่ส่งเสริมและพัฒนาระบบการแพทย์แผนไทย ไม่ใช่เจตนาทำลายภูมิปัญญาไทย
      “เครือข่ายฯไม่ได้คัดค้านที่กระทรวงการคลังจะกำหนดให้มีการเบิกจ่ายยาสมุนไพรเฉพาะที่บรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่ควรดำเนินการภายหลังจากที่มีเภสัชตำรับโรงพยาบาลด้านยาจากสมุนไพรแล้ว และบรรจุยาสมุนไพรในบัญชียาฯครอบคลุมอาการป่วยและโรคที่จำเป็นต้องใช้ยาไทยแล้ว ซึ่งมีอีกกว่า 65 รายการ เพราะปัจจุบันในบัญชียาหลักฯบรรจุยาสมุนไพรไว้เพียง 19 รายการเท่านั้นจึงยังไม่ครอบคลุม และหากจะคุมการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักต้องกระทำกับยาแผนปัจจุบันที่มีการเบิกจ่ายสูงด้วย”ดร.ภญ.นิยดากล่าว
      ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม และหัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์การแพทย์ไทยอภัยภูเบศร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า แนวทางปฏิบัติฯของกระทรวงการคลัง ระบุให้สามารถใช้ยาสมุนไพรนอกบัญชียาหลักได้ โดยต้องเป็นไปตามเภสัชตำรับโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ปัจจุบันเภสัชตำรับโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นเภสัชตำรับยาแผนปัจจุบัน ไม่มีเภสัชตำรับโรงพยาบาลด้านยาจากสมุนไพร เพราะฉะนั้น หากกระทรวงการคลังจะดำเนินการตามแนวทางปฏิบัตินี้จะต้องรอจนกว่าจะมีเภสัชตำรับโรงพยาบาลด้านยาจากสมุนไพรเสียก่อน
      “ข้าราชการเบิกจ่ายค่ายาแพงมาก แต่ต้องไปดูที่ข้อเท็จจริงว่ายาที่เบิกจ่ายแพงนั้นเป็นยาจากไหน ซึ่งการคุมการเบิกจ่ายค่ายาสมุนไพร ไม่สามารถแก้ปัญหาการใช้ยาแพงได้เลย เพราะที่มีการเบิกจ่ายยาสูงไม่เกี่ยวกับยาสมุนไพรเลย แต่กลับมาคุมที่ยาสมุนไพร ข้อมูลในปี 2551 เฉพาะที่โรงพยาบาลอภัยภูเบศรยอดการจ่ายค่ายา 100 ล้านบาท เป็นยาแผนปัจจุบัน 97.6 ล้านบาท ยาสมุนไพรเพียง 3 ล้านบาท ในจำนวนค่ายาแผนปัจจุบัน 70 % เป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ 30 % เป็นยาในบัญชีฯ ขณะที่ในส่วนของยาสมุนไพร เป็นยาในบัญชีฯ 70 % และนอกบัญชีฯ 30 %”ดร.ภญ.สุภาภรณ์กล่าว
      ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ที่ปรึกษาชมรมเภสัชชนบท กล่าวว่า การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีปัญหาฟุ่มเฟือยนั้น ส่วนใหญ่อยู่ที่การเบิกจ่ายยาแผนปัจจุบันนอกบัญชียาหลักแห่งชาติ ยกตัวอย่างเช่น ยารักษาโรคริดสีดวงทวาร หากใช้ยาแผนปัจจุบันไดออสมิน ต้องกินวันละ 3 เม็ด เม็ดละ 11 บาท ต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 33 บาทต่อวัน หากใช้เพชรสังฆาตที่มีการศึกษาวิจัยพบว่าประสิทธิผลในการรักษาได้เทียบเท่ากัน แต่ละราคาเม็ดละ 1.75 บาท กินวันละ 6 เม็ด เสียค่าใช้จ่ายเพียง 10.5 บาทต่อวัน และผู้ป่วยต้องรับประทานยาเป็นเดือน ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แต่จากนี้ไปไม่สามารถสั่งจ่ายยานี้ได้อีก เพราะเพชรสังฆาต ยังอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ
      “หากทำตามแนวปฏิบัติของกระทรวงการคลัง ทำให้โอกาสพัฒนายาสมุนไพรไทยริบหรี่ เพราะจะทำให้โรงพยาบาลไม่สั่งจ่ายยาสมุนไพร รายงานประสบการณ์การใช้ยาสมุนไพรรักษาแล้วหายก็จะมีน้อย ไม่สามารถนำผลการศึกษาไปอ้างเพื่อขอบรรจุสมุนไพรชนิดนั้นเข้าสู่บัญชียาหลักเป็นไปได้ยาก จึงไม่แน่ใจว่ากระทรวงการคลังมีอะไรแอบแฝงหรือวาระซ่อนเร้นหรือไม่ หรือมีเจตนาบริสุทธิ์ที่ต้องการปกป้องงบประมาณประเทศ ดังนั้น การจะออกแนวปฏิบัติต้องทำอย่างเท่าเทียม หากยาปัจจุบันนอกบัญชียาหลักเบิกจ่ายได้ ยาสมนุไพรนอกบัญชียาหลักก็ต้องเบิกจ่ายได้เช่นกัน หรือหากเบิกไม่ได้ก็ต้องเบิกไม่ได้ทั้ง2แบบ”ภญ.ศิริพรกล่าว
      อนึ่ง ปัจจุบันยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติมีจำนวน 19 รายการ แบ่งเป็นยาเดี่ยว 8 รายการ ได้แก่ ขมิ้นชัน ชุมเห็ดเทศ ฟ้าทะลายโจร ขิง พญายอ/เสลดพังพอนตัวเมีย ไพล บัวบก พริก ยาตำรับ 11 รายการ ได้แก่ ยาหอมนวโกฐ ยาหอมเทพจิตร ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ยาเหลืองปิดสมุทร ยาประสะไพล ยาแก้ไข้ห้าราก ยาเขียวหอม ยาจันทร์ลีลา และยาประสะมะแว้ง และ 65 รายการ อยู่ระหว่างรอการพิจารณาบรรจุเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

Relate topics

Comment #1
เีาีเเี
Posted @November,01 2012 13.21 ip : 223...68

1231 3 :@  :s  8)

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง