บทความ

“วัฒนธรรมหน้ากากอนามัย” สำนึกรับผิดชอบป้องกันหวัด 09

by twoseadj @June,16 2009 13.21 ( IP : 113...63 ) | Tags : บทความ , หน้ากากอนามัย
photo  , 500x339 pixel , 22,961 bytes.

ปัญหาที่ประชาชนชาวไทยจำนวนไม่น้อยกำลังวิตกกันอยู่ในขณะนี้ หนีไม่พ้นปัญหาการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ที่ปัจจุบันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ยังคงทวีจำนวนขึ้นเรื่อยๆ และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ด้วยเหตุดังกล่าว ชาวบ้านร้านตลาด ตลอดจนพ่อแม่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน จึงเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ถูกเรียกว่า “หน้ากากอนามัย”

รศ.ดร.อังคณา ฉายประเสริฐ เลขานุการโครงการทุนวิจัยวัณโรคดื้อยา ศิริราชมูลนิธิ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หนึ่งในผู้ริเริ่มรณรงค์ให้คนไทยล้างมือให้สะอาด และให้ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกไปในที่สาธารณะให้ข้อมูลว่า วิธีการป้องกันโรคที่ง่าย และถูกที่สุดคือการล้างมือบ่อยๆ และโดยเฉพาะการใช้หน้ากากอนามัย เป็นวิธีที่ได้ผล แต่การใช้หน้ากากอนามัยให้ได้ผลที่สุด คือต้องให้ผู้ป่วยเป็นผู้ใช้ ไม่ใช่ให้คนปกติเป็นผู้ใช้ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

“พฤติกรรมการใช้หน้ากากอนามัยของคนไทย ตามความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว คนไทยมักจะตื่นตัวใช้กันในยามในมีโรคติดต่อระบาด สังเกตได้จากเมื่อครั้งโรคซาร์ส และไข้หวัดนกระบาด ก็จะหันมาใช้กัน แต่สิ่งที่ถูกต้องก็คือ ผู้ป่วยที่แค่รู้สึกตัวว่าป่วย แม้กระทั่งยังไม่ได้ไปพบแพทย์และยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยจากแพทย์ แต่รู้สึกมีอาการป่วยทางระบบทางเดินหายใจ เช่น มีอาการไอ จาม เจ็บคอ มีน้ำมูก ก็ควรจะสวมหน้ากากอนามัย”

รศ.ดร.อังคณา อธิบายเพิ่มเติมว่า การให้คนปกติใส่เพื่อระวังนั้น เป็นการสิ้นเปลืองมากเกินไป เพราะคนไทยมี 60 กว่าล้าน การจะให้คนทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันโรค ยากกว่าการรณรงค์ให้ผู้ป่วยซึ่งมีจำนวนน้อยกว่าสวมหน้ากากอนามัยนี้ อย่างไรก็ตาม หากคนปกติพอจะมีกำลังซื้อหรือไม่ยุ่งยาก การเดินทางไปในที่สาธารณะที่อากาศไม่ถ่ายเท สวมหน้ากากอนามัยก็ถือเป็นการป้องกันตนเองได้เหมือนกัน

สำหรับชนิดของหน้ากากอนามัยนั้น ตามปกติที่ประชาชนทั่วไปใช้กัน คือแบบที่ธรรมดาที่ใช้กันในห้องผ่าตัด ที่สามารถกรองละอองใหญ่ๆ ได้ อาจจะลดการกระจายของโรคเมื่อคนป่วยไอ จาม หรือหายใจ ให้อยู่ในขอบเขตจำกัด คือ บริเวณที่มีผ้าครอบ แต่จะกรองเชื้อโรคได้ไม่ทั้งหมด เนื่องจากเชื้อหวัดเป็นเชื้อไวรัส ดังนั้น จำเป็นต้องใช้หน้ากากพิเศษโดยเฉพาะ นั่นคือหน้ากากอนามัยเอ็น 95

ทั้งนี้ หน้ากากอนามัยเอ็น 95 เป็นหน้ากากที่ใช้กันในห้องปฏิบัติการ มีความพิเศษกว่าหน้ากากให้ห้องผ่าตัดที่ใช้กันทั่วไป ตรงที่หน้ากากเอ็น 95 มีรูพรุนที่เล็กมากจนไวรัสผ่านเข้าไปหรือออกมาไม่ได้ ซึ่งจะกรองเชื้อแบคทีเรียได้ด้วยเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียมีขนาดใหญ่กว่าเชื้อไวรัส

“หน้ากากอนามัยเอ็น 95 ทำด้วยวัสดุพิเศษ ลักษณะป่องครอบได้ทั้งจมูกและปาก วิธีใส่ที่ถูกต้องคือต้องกดให้แนบกับผิวหน้า เมื่อสวมเสร็จจะรู้สึกแน่น แต่นั่นคือวิธีที่สวมถูกวิธี จะหายใจค่อนข้างไม่สะดวกสำหรับผู้ไม่ชิน แต่ถ้าหากใส่หลวมๆ ไม่แนบหน้า หายใจได้สะดวก นั่นเป็นวิธีใส่ที่ผิด และเชื้อโรคจะเข้ามาได้ ซึ่งหน้ากากอนามัยชนิดนี้จะป้องกันเชื้อได้ 100% สำหรับราคาหน้ากากอนามัยชนิดเอ็น 95 โครงการอาจจะซื้อได้ถูกกว่าเล็กน้อย ราคาตกอยู่ที่ประมาณชิ้นละ 50 บาท ส่วนหน้ากากทั่วไปที่ใช้ในห้องผ่าตัดอยู่ที่ประมาณ 2 ชิ้น 10 บาท”

รศ.ดร.อังคณา ยังกล่าวด้วยว่า วัฒนธรรมการใช้หน้ากากอนามัยของสังคมไทย แม้อาจจะยังไม่เป็นที่นิยมนัก และใช้กันเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเป็นพักๆ ไม่ได้ใช้ต่อเนื่องทุกครั้งเมื่อป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ แต่คนไทยก็เริ่มชินและไม่รู้สึกแปลกหรืออายที่จะสวมใส่เหมือนเมื่อในสมัยก่อน

“เดี๋ยวนี้นอกจากเราจะชินเวลาเราไปพบแพทย์ตามคลินิก หรือโรงพยาบาล ที่เราจะเห็นคุณหมอหรือพยาบาลสวมหน้ากากอนามัยเวลาตรวจคนไข้หรือเมื่อพูดคุยกับคนไข้แล้ว คนไทยยังชินกับภาพตำรวจจราจรสวมหน้ากากเพื่อป้องกันฝุ่นและมลพิษยามปฏิบัติหน้าที่อยู่กลางถนน รวมถึงภาพสถานการณ์การแพร่ระบาดและป้องกันโรคทางเดินหายใจในต่างประเทศ ที่เราจะเห็นว่าคนในต่างประเทศสวมหน้ากากอนามัยกันเป็นปกติ สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ เข้ามาและสังคมไทยจะซึมซับจนเห็นเป็นของปกติ และเลิกรู้สึกแปลกหรืออายยามสวมหน้ากากอนามัยในที่สุด ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา”

รศ.ดร.อังคณา ฝากเตือนไปยังประชาชนทั่วไปด้วยว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคหวัด 2009 นี้ หากไม่จำเป็น ประชาชนควรหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่อากาศไม่ถ่ายเท เช่นในโรงมหรสพ ห้างสรรพสินค้า ห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศที่อากาศไม่ถ่ายเท หากจำเป็นควรสวมหน้ากากอนามัย

“อาชีพที่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ที่มีเครื่องปรับอากาศและอับ เช่น คนขับแท็กซี่ หรือพนักงานขับรถประจำทางปรับอากาศ หรือคนที่ใช้รถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน ก็ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง แต่ที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด และสิ้นเปลืองน้อยที่สุด ก็ยังยืนยันว่า ควรจะเป็นวิธีการปลูกฝังการรับผิดชอบต่อส่วนรวม โดยให้ผู้ที่ป่วยเป็นผู้สวมใส่หน้ากากอนามัย แทนที่จะให้คนปกติที่มีมากกว่าต้องใส่เพื่อระวัง การที่ผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยจะเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ดี” รศ.ดร.อังคณา ทิ้งท้าย

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง