ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

แฉ! เหยื่ออุบัติเหตุรถสาธารณะถูกทอดทิ้ง เสนอตั้งกองทุนเยียวยา

photo  , 450x300 pixel , 43,454 bytes.

เอ็นจีโอแฉเหยื่อจากอุบัติเหตุรถสาธารณะ ไม่ได้รับการช่วยเหลือเต็มที่ เสนอตั้งกองทุนเยียวยาเหมือน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ แก้ปัญหาผู้ประสบเหตุจากรถสาธารณะถูกทอดทิ้ง เผยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศประสบอุบัติเหตุสูงสุด นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลดำเนินการสองมาตรฐานกับรถโดยสารสาธารณะ ในส่วนของระบบการขนส่งใน กทม.รัฐบาลกลับให้การสนับสนุนด้วยการจัดซื้อรถ เพื่อให้จำนวนเพียงพอ แต่เมื่อเป็นเรื่องของการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับระบบการขนส่งระหว่างจังหวัด กลับไม่ดำเนินการอะไรเลย ผู้โดยสารเหมือนถูกลอยแพโดยที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม จึงอยากเรียกร้องให้มีการตั้งกองทุนช่วยเหลือและเยียวยาจากผู้ประสบภัยจากรถโดยสารสาธารณะ เหมือนกองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545
      “เราจ่ายค่าเดินทางเพื่อหวังให้ผู้ประกอบการมอบบริหารที่ได้มาตรฐานและคุณภาพที่ดี และเมื่อเกิดปัญหาก็มีความรับผิดชอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับรถโดยสารสาธารณะทุกวันนี้ไม่ใช่ เพราะผู้โดยสารที่ประสบภัยจะถูกเจรจาต่อรองราคาค่าสินไหมช่วยเหลือต่างๆ ชนิดที่ไม่เป็นธรรม และประวิงเวลาในการจ่ายเงินดังกล่าวออกไปให้นานที่สุด ทำให้บางรายต้องยอมจำนน เพราะไม่คุ้มกับการเดินทางที่ต้องไปเจรจาที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุทั้งที่ภูมิลำเนาอยู่คนละแห่ง อีกทั้งการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุดังกล่าวมีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถพ.ศ.2535 ซึ่งดูแลเฉพาะค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ซึ่งอุบัติเหตุหลายครั้งไม่ใช่แต่เรื่องค่ารักษา แต่รวมถึงสภาพจิตใจ การหยุดงาน ฯลฯ อีก ซึ่งกองทุนนี้หากเกิดขึ้นก็น่าจะไล่เบี้ยเอาผิดกับบริษัทรถโดยสารได้ด้วย” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
      นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า จากการรวบรวมข่าวอุบัติเหตุรถโดยสารของศูนย์พิทักษ์ฯ ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค.2552 พบว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 35 กรณี โดยรถโดยสารประจำทางปรับอากาศเกิดมากสุด 16 กรณี รองลงมาคือ รถโดยสารระหว่างจังหวัด 7 กรณี รถโดยสารนำเที่ยวไม่ประจำทาง 6 กรณี รถรับส่งพนักงาน 2 กรณี และรถเมล์ รถแท็กซี่ รถไฟ อย่างละ 1 กรณี มีจำนวนผู้ประสบภัย 601 ราย บาดเจ็บ 531 ราย ตาย 70 ราย และหนึ่งในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อ 27 มี.ค.2552 คือ ที่ ถ.มิตรภาพ กิโลเมตรที่ 35-36 อ.กลางดง จ.นคราราชสีมา โดยรถโดยสารจากนครราชสีมาไป กทม. เสียหลักข้ามเกาะกลางมาชนรถกระบะ และไปประสานงานกับรถของบริษัทเดียวกันที่ขับจาก กทม.ไปนครราชสีมา ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 50 ราย และเสียชีวิต 19 ราย ที่มีผู้โดยสารมาร้องเรียนกับทางศูนย์ฯว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เป็นธรรม จนบัดนี้การเจรจาต่อรองขอลดเงินช่วยเหลือยังคงไม่สิ้นสุดทั้งที่เวลาผ่านมานาน 2 เดือนแล้ว
      “สิ่งที่ศูนย์พบอีก คือ รถโดยสาร 2 คันของบริษัทเดียวกัน มีเจ้าของเดียวกัน ไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจ ยางหลังของรถโดยสารไม่มีดอกยางทั้ง 2 ล้อ และคนขับรถทัวร์และกระบะ เสียชีวิตทั้ง 3 คัน จึงทำให้สันนิษฐานว่า รถของบริษัทเดียวกัน หรือบริษัทในเครือที่เจ้าของเดียวกันจะมีประกันภัยดังกล่าวหรือไม่ หรืออาจเห็นว่ามีอู่ซ่อมของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องซื้อประกันภัยก็ได้ ทั้งนี้ เคยได้ไปออกรายการโทรทัศน์ และเจอเจ้าของบริษัทรถทัวร์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถที่เกิดอุบัติเหตุนี้ยืนยันว่า รถที่เกิดอุบัติเหตุมีการประกันภัยให้ผู้โดยสารที่นั่งละ 1 แสนบาท แต่ปัจจุบันนี้กลับไม่ดำเนินการอะไรเลย”นายอิฐบูรณ์ กล่าว
      นายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า ผู้โดยสารที่ประสบภัยจากรถคันดังกล่าวได้ประสานงานมาเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม จำนวน 10 ราย ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ได้ดำเนินการส่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในชั้นศาลเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2552 จำนวน 5 ราย ส่วนรถกระบะที่เสียหายนั้นได้ดำเนินการช่วยเหลือให้ศาลพิจารณาในฐานะอนาถา เพราะไม่สามารถใช้ พ.ร.บ.เดียวกันได้ เนื่องจากไม่ใช่ผู้บริโภค ทั้งนี้ ศูนย์ได้ใช้ข้อมูลทางวิชาการและทางวิทยาศาสตร์มาช่วยผู้เสียหายคิดประเมินค่าชดเชยให้เหมาะสม โดยคดีดังกล่าวศูนย์ฯได้คิดค่าทุนทรัพย์เสียหายทั้งสิ้น 14.9 ล้านบาท
      “ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องรถโดยสารสาธารณะจะมีการเสนอในการประชุมสมัชชาอุบัติเหตุแห่งชาติในวันที่ 20-21 ส.ค.นี้ เช่น เสนอให้ตัวเลขความเร็วของรถที่โดยสารมาผ่านหน้าจอโทรทัศน์ เพื่อให้ผู้โดยสารมีส่วนร่วมหากขับเร็วสามารถโทร.แจ้งได้ รวมถึงเรื่องความปลอดภัยในตัวคนขับ องค์ประกอบด้านรถโดยสาร ฯลฯ”นายอิฐบูรณ์ กล่าว

ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี นักวิชาการในเครือข่าย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า จากข้อมูลของการโครงการศึกษามูลค่าอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สำนักงานอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง พบว่า อุบัติเหตุต่อครั้งจะทำให้มีอัตราการตาย 0.42 ราย มีมูลค่าประมาณ 3.4 ล้านบาทต่อคน เจ็บสาหัส 0.9 รายมีค่าความเสียหาย 122,600 บาทต่อคน เจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย มีมูลค่า 30,300 บาทต่อคน เมื่อรวมมูลค่าความสูญเสียจะประมาณ 2 ล้านบาทต่อการเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ซึ่งปัจจัยที่ส่งเสริมอุบัติคือ คน 95% สิ่งแวดล้อม 15% ยานพาหนะ 5% ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งเสริมความรุนแรง คือ จากตัวยานพาหนะที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีเข็มขัดนิรภัย เบาะไม่ยึดติด ทำให้เกิดอุบัติเหตุเบาะหลุดออกจากตัวถังรถไปกระแทกกับสิ่งอื่นๆ ตัวถังรถที่ไม่ปลอดภัย อาทิ โฟมกันความร้อนไม่ใช่โฟมเฉพาะ แต่เป็นโฟมงานฝีมือ การเชื่อมเหล็กไม่ได้มีทักษะ หรือเน้นการติดกระจกบานใหญ่ ซึ่งเกิดอุบัติเหตุทำให้คนหลุดนอกตัวรถโดนทับเสียชีวิตส่วนใหญ่
      “หน่วยงานของภาครัฐเองควรช่วยสนับสนุนภาคเอกชนด้วย ไม่ใช่ทำหน้าที่เพียงการคุมราคาเพียงอย่างเดียว แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่เอกชนฝ่ายเดียว สนับสนุนเรื่องที่ควรสนับสนุน เช่น ล้อรถ เข็มขัดนิรภัย ซึ่งมีมูลค่าไม่มาก เมื่อเทียบกับงบประมาณดูงานต่างประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากแต่อย่างใด หรือให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกมาลองใช้รถโดยสารสาธารณะคงจะทำให้หลายๆ ปัญหาได้รับการแก้ไขแน่นอน” ผศ.ดร.สมประสงค์ กล่าว
      ผศ.ดร.สมประสงค์ กล่าวว่า อยากเสนอให้สร้างมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น โดยควบคุมที่กรมการขนส่งทางบก นอกจากนี้ ให้มีอู่หรือตัวแทนของภาครัฐในการตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยภายในรถอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง ส่วนทางด้านผู้ประกอบการก็ควรเข้มงวดตรวจสอบความพร้อมก่อนออกเดินทาง และขณะขับขี่ ระบบการประกันภัยให้ผู้โดยสารปรับมาตรฐานของคนขับรถโดยสารให้ต้องได้รับการศึกษา เพราะผู้ที่มีการศึกษาจะทำให้เป็นผู้คิดเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ในการขับขี่ และควบคุมความเร็วในการเดินรถและจับเวลา
      นายธีรเมธ บัวเข้ม ชาว กทม.อายุ 41 ปี ผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุรถโดยสาร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ได้โดยสารรถโดยสารของบริษัททัวร์จากนครราชสีมาเข้า กทม.กล่าวว่า ตนเองอยู่ในห้องน้ำของรถทัวร์ และกำลังขึ้นมาที่นั่งรู้สึกตัวว่ารถกำลังแซง แล้วรู้สึกตัวอีกครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่กู้ชีพมาช่วยเหลือ ทราบภายหลังว่าภรรยาอายุ 35 ปีที่นั่งมาด้วยกันเสียชีวิต ทุกวันนี้ต้องเดินทางจากบ้านพักที่รังสิต ไปพบแพทย์ที่สระบุรีเอง โดยบริษัทรถโดยสารไม่ได้ให้การช่วยเหลือใดๆ และยังต้องเดินทางไปเจรจาที่ สภอ.กลางดงหลายครั้ง ก็ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด แถมทางบริษัทรถยังได้เสนอให้เงินช่วยเหลือเพียง 2 แสนบาท ซึ่งเป็นค่าสินไหมที่ภรรยาต้องเสียชีวิตและตนเองได้รับบาดเจ็บในครั้งนั้นด้วย
      นายวันชัย ปรีชาอมรกุล ผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุเดียวกันแต่เป็นผู้ขับรถกระบะที่รถโดยสารวิ่งมาชน กล่าวว่า ภรรยาและลูกชายได้นั่งรถกระบะไปกับญาติ ซึ่งเป็นคันที่รถทัวร์ได้วิ่งข้ามมาชน ทำให้คนขับตาย เมื่อทราบข่าวภายหลังจากอุบัติเหตุตกใจมาก ตามไปดูอาการพบว่า ภรรยาซี่โครงหักหลายซี่ มีแผลที่หน้า ส่วนลูกชายอายุ 4 ขวบ ก็มีแผลที่มือซ้ายและหน้าผากเย็บหลายเข็ม บริษัทให้เงินช่วยเหลือมา 1 พันบาท ทั้งที่ค่ารักษาพยาบาลของภรรยาหมดไป 7,000 กว่าบาท ของลูก 8,000 กว่าบาท เพราะไม่มีเงินจะจ่ายค่ารักษา แต่มีพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯรับผิดชอบ ซึ่งทางครอบครัวได้ขอค่าเสียหายไป 1.2 ล้านบาท แต่ทางบริษัทเสนอให้เพียง 1 แสนบาท แล้วบอกว่าภรรยาและลูกไม่เป็นอะไรก็ดีแล้ว แต่ความเป็นจริงขณะนี้ภรรยามีอาการขาชา ไม่สามารถยกของได้ หากนั่งงอขาจะปวดมาก และลูกชายก็มีอาการไม่อยากนั่งรถทัวร์ กลัวรถทัวร์ไปเลย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 มิถุนายน 2552 09:05

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง