ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

โครงการหมู่บ้านต้นแบบพิทักษ์สิทธิและคุ้มครองผู้บริโภคอำเภอนครไทย

by twoseadj @June,03 2009 11.40 ( IP : 113...68 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์
photo  , 337x248 pixel , 30,819 bytes.

ในปัจจุบันอำเภอนครไทย ไม่มีกลุ่มหรือองค์กรที่ดำเนินงานในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค จึงทำให้คนนครไทยที่อยู่ในหมู่บ้านต่างๆ ไม่ได้รับรู้และได้คุ้มครองสิทธิของตนเอง เป็นผู้ที่เสียเปรียบผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าไม่มีคุณภาพ หมดอายุ เป็นผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งพบว่ากลุ่มที่เจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหารที่พบจะพบในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ21-59 ปี) คิดเป็นร้อยละ 54 ของผู้ป่วย ในเด็กและเยาวชน (อายุ12-20ปี) จะพบรองลงมา คือ ร้อยละ 30 ของผู้ป่วย  จะเป็นในเด็กเล็ก (อายุแรกเกิด-12ปี ) ร้อยละ 11 ของผู้ป่วย  และในผู้สูงอายุ (60ปีขึ้นไป)  กลับพบเพียงร้อยละ 5 ของผู้ป่วย  การพบโรคระบบทางเดินหายใจ ก็มีอัตราการเจ็บป่วย ในเด็กเล็ก (อายุแรกเกิด-12ปี) ร้อยละ 49 ของผู้ป่วย ในเด็กและเยาวชน (อายุ12-20ปี) พบ ร้อยละ 30 ของผู้ป่วย จะพบในกลุ่มวัยแรงงาน (อายุ21-59 ปี) คิดเป็นร้อยละ 17 ของผู้ป่วย ในผู้สูงอายุ (60ปีขึ้นไป) กลับพบเพียงร้อยละ 4 ของผู้ป่วย แต่กลับพบว่าในผู้สูงอายุมีอัตราการเจ็บป่วยที่เกิดจากการกินยาสมุนไพรที่ผสมสารสเตียรอยด์ คิดเป็นอัตราป่วยร้อยละ 16 ของผู้ป่วยสูงอายุที่มารับบริการ รองลงมาจะเป็นกลุ่มวัยทำงาน (อายุ21-59 ปี) คิดเป็นร้อยละ 12 ซึ่งจากข้อมูลสาเหตุการตายพบว่าปัญหาภาวะไตวายเป็นปัญหาอันดับต้นในการเสียชีวิตของผู้ป่วย เมื่อดูประวัติย้อนหลังของผู้เสียชีวิตพบว่าเป็นผู้ที่บริโภคยาชุดที่ขายกันเอง ยาสมุนไพร  ซึ่งจากข้อมูลที่กล่าวมาแล้ว สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจและตรวจร้านค้าร้านชำของกลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชนครไทย และจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอนครไทย ที่รวบรวมจากสถานีอนามัยทุกแห่งของสำนักงาน ฯ พบว่าร้านค้าของชำในหมู่บ้าน รถเร่ พ่อค้าเร่ จะมีการขายอาหารที่มีสารปนเปื้อน ไม่มี เครื่องหมาย อย.เครื่องสำอางที่มีสารปรอท  ยาชุด    ยาสมุนไพรที่ไม่ได้ผลิตจากแพทย์ ยาสมุนไพรที่พระนำมาจำหน่าย แจกจ่ายญาติโยม  พบว่าส่วนหนึ่งผู้สูงอายุจะชอบเพราะอาการเจ็บป่วยจะทุเลาได้รวดเร็ว แต่ไม่ตระหนักเรื่องของโทษที่เกิดขึ้นภายหลัง  ในส่วนของเด็ก ที่นิยมบริโภคอาหารขบเคี้ยวพบว่าขนมที่ขายในร้านค้าของหมู่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นขนมที่หมดอายุ ไม่มีคุณภาพ (ไม่มี อย) เมื่อผู้ปกครองบางรายสอบถามก็จะได้รับคำตอบว่ารับมาจากร้านค้าในอำเภอแบบนี้ หากขอเปลี่ยนผู้ประกอบการจะไม่ยอม เพราะจะอ้างว่าให้ไปเรียกร้องกับพ่อค้าที่อำเภอ ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ไม่เกรงกลัวเพราะขั้นตอนทางกฎหมายยุ่งยากไม่สามารถตรวจจับได้ทันท่วงทีเหมือนสรรพสามิตจับสุรา ซึ่งเมื่อเจ้าพนักงานไปตรวจพบต้องมีการบันทึกขออนุญาตการจับกุม และต้องแจ้งความให้ไปจับกุมซึ่งประชาชนมองว่ามีขั้นตอนมากและยุ่งยากต่อการประกอบอาชีพของตนเอง ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่สมควร

          จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีการคิดร่วมกันระหว่างกรรมการชมรม อสม. อำเภอนครไทย กับเครือข่ายหมออนามัยอำเภอนครไทย ว่าควรมีการแก้ปัญหาโดยการสร้างหมู่บ้านต้นแบบ 1 หมู่ ต่อชมรม อสม. ของสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล 1 แห่ง โดยมีกระบวนการส่งเสริมให้ชุมชนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครูมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เรื่องการค้นหาทุกข์ของชาวบ้านที่เกิดจากการไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิของผู้บริโภค การหาแนวทางแก้ปัญหาของคนในชุมชนร่วมกัน การขยายผลสู่เครือข่ายหมู่บ้านอื่น เพื่อเป็นภาคีเครือข่ายการทำงานร่วมกัน ที่จะดำเนินการเรื่องการพิทักษ์สิทธิและคุ้มครองผู้บริโภค กระบวนการขั้นตอนการเรียกร้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบและกระบวนการสร้างจิตสำนึกการพิทักษ์สิทธิการคุ้มครองผู้บริโภค การเลือกซื้อในกลุ่มเด็กนักเรียนประถมศึกษาร่วมกับครูในโรงเรียน ต่อไป


  1. ความคิดริเริ่ม

          เป็นโครงการที่ทำขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน เพื่อนำมาสู่การทำให้คนสุขภาพดี และเป็นการศึกษาที่เกิดจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่อยู่ในชุมชน ของ อสม แกนนำ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ คือ ครู หมออนามัย ได้เรียนรู้การแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนในเรื่องของการบริโภคอาหาร ยา สินค้าที่ปลอดภัย เรียนรู้เรื่องสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภค โดยกระบวนการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกับคนในชุมชน

  1. วัตถุประสงค์

  3.1 เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของตนเองในเรื่องของอาหาร และเครื่องสำอาง

  3.2 เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และปลูกจิตสำนึกร่วมกันในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ หากได้รับผลกระทบที่

        ทำให้เกิดพิษภัยต่อร่างกายหลังจากบริโภค สามารถที่จะรู้ขั้นตอนในการเรียกร้องให้เจ้าของสินค้ารับผิดชอบ

  3.3  เพื่อเสริมสร้างให้คนในชุมชนเรียนรู้เรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการคุ้มครอง


4.กลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ดำเนินการ

      กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงานของกิจกรรม คือหมู่บ้านที่ผ่านการคัดเลือกโดย ชมรม อสม.  และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลร่วมกันคัดเลือกหมู่บ้าน1 หมู่บ้าน จำนวน 21 หมู่บ้าน  /  20 สถานีอนามัย  1 โรงพยาบาลครอบคลุมทุกตำบล  โดยมีเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกหมู่บ้านจากความร่วมมือ ความพร้อมของกลุ่มคนในช่วงของเด็กและเยาวชนร่วมกับผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนที่มาจากชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. กลุ่มแม่บ้าน ผู้ปกครองเด็กและเยาวชน  ครูโรงเรียนประถมศึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในตำบล และกลุ่ม อสม. มีบทบาทในการร่วมกันที่จะศึกษาสภาพปัญหา เรียนรู้ร่วมกันในกระบวนการแก้ไขปัญหา การให้ความรู้โดยสื่อที่มีในท้องถิ่น ซึ่งครูในโรงเรียนจะมีบทบาทเป็นผู้นำไปเป็นหลักสูตรท้องถิ่นสอนเด็ก และให้เด็กฝึกการสำรวจข้อมูลเพื่อเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง

5.กลวิธีและกิจกรรม

        มีการพูดคุยในกลุ่มของแกนนำชมรม อสม และเครือข่ายหมออนามัย ในอำเภอนครไทย ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากชมรม อสม. ของสถานีอนามัยและโรงพยาบาลเช่น ประธาน ชมรม อสม.สถานีอนามัยบ้านเกษตรสุข และประธานชมรม  อสม.  สถานีอนามัยตำบลห้วยเฮี้ย    ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านตัวแทนผู้ปกครองเด็กและเยาวชนตัวแทนครูโรงเรียนประถมศึกษา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในตำบล เครือข่ายคนรักถิ่นโดยมีการตั้งประเด็นปัญหาว่าทำไมร้านค้าของชำในอำเภอนครไทยจึงมีการจำหน่ายอาหาร เครื่องสำอาง ยาซอง ยาชุดที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังพบรถเร่และคนเดินเร่ขาย อาหาร เครื่องสำอาง ยา สมุนไพร ยาชุด ประชาชนที่ซื้อสินค้าเหล่านี้แล้วได้รับพิษภัย เช่น อาหารเป็นพิษ  ผิวหน้าที่ได้รับสารปรอทจากการใช้เครื่องสำอาง อาการบวมจากการกินยาชุด ยาสมุนไพร ตามมาด้วยภาวะไตวาย ซึ่งคนที่ได้รับพิษภัยไม่สามารถที่จะเรียกร้องให้เจ้าของสินค้าได้รับผิดชอบเพราะไม่รู้ขั้นตอนและสิทธิที่กฎหมายคุ้มครอง ประชาชนมีความคิดว่าการเรียกร้องเป็นเรื่องยุ่งยาก สิ้นเปลือง ภาระในการรักษาพยาบาลจึงตกเป็นของตนเองและครอบครัว  ซึ่งในปัจจุบันผู้ที่มีอายุในช่วงของผู้ใหญ่วัยทำงาน ขึ้นไปจนถึงวัยสูงอายุ  มีการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหาร การมีภาวะไตวาย และความพิการหรือการเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตก ซึ่งเป็นปัญหาในการคิดร่วมกันว่า ทำไมจะทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพดี  โดยมีความรู้เรื่องของการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์  การได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย กระบวนการและขั้นตอนการเรียกร้องสิทธิ หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยการให้เด็กนักเรียน คนในชุมชน ได้เรียนรู้เรื่องของสิทธิคุ้มครองผู้บริโภค การเลือกซื้อสินค้า อาหาร เครื่องสำอางและ ยา  ซึ่งจะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง และมีอายุที่ยืนยาว ไม่ตายจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการกินอาหาร การใช้เครื่องสำอางและยาที่ไม่ได้คุณภาพ  จึงมีแนวคิดว่าทำอย่างไรที่จะมีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในระดับอำเภอ ที่มีภาคีจากหมู่บ้าน โรงเรียน ที่ดำเนินการในโครงการนี้เป็นแนวร่วม ในการช่วยเหลือและเรียนรู้การทำงานร่วมกัน  การสร้างหมู่บ้านต้นแบบ 1 หมู่ ในแต่ละสถานบริการสาธารณสุข เพื่อให้มีการเรียนรู้ร่วมกันของคนในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ครู สมาชิกและ อบต. เรื่องของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การรู้ขั้นตอนในการเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับพิษภัยหรือผลกระทบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  การเฝ้าระวัง การรายงานข่าวที่มีเครือข่ายเด็กนักเรียนเข้าร่วม  การส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เรื่องของปัญหาที่เกิดขึ้นกับชุมชน การแก้ไขปัญหาของชุมชนที่มีเครือข่ายการทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ จะช่วยเป็นพลังในการหนุนเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้ผลดีมากขึ้น กว่าการทำตามลำพังเมื่อเห็นผล  จะมีการขยายผลสู่หมู่บ้านอื่นๆเกิดเป็นภาคีเครือข่ายการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันทั้งอำเภอนครไทย โดยมีสื่อทางวิทยุชุมชน คลื่น FM 101 รายการ 108 สาระที่จัดโดยเครือข่ายหมออนามัย ในช่วงวันพุธ – พฤหัสบดี เวลา 14.00 น – 16.00 น โดยให้ตัวแทนในแต่ละหมู่บ้านมานำเสนอผลการดำเนินงานเพื่อช่วยกันสร้างกระแส และประชาสัมพันธ์การทำงานของโครงการ ฯ  ในหมู่บ้านที่ดำเนินการใช้หอกระจายข่าวในการให้ความรู้เรื่องของกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระบวนการและขั้นตอนการเรียกร้องสิทธิ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณค่า อาการเจ็บป่วยหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่ได้รับ จะกระจายข่าวในทุกวันพุธของสัปดาห์ทุกหมู่บ้านตลอดระยะเวลาการทำงาน ในส่วนของโรงเรียนที่เป็นภาคีร่วมในการดำเนินงานโรงเรียนต้นแบบ จะดำเนินการเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคแบบครบทุกขั้นตอน คือมีการสร้างแกนนำนักเรียนให้มีความรู้ เรื่องของการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การรู้ขั้นตอนในการเรียกร้องสิทธิเมื่อได้รับพิษภัยหรือผลกระทบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเฝ้าระวัง  การรายงานข่าวอาการเจ็บป่วยหรือผลกระทบต่อสุขภาพที่คนในชุมชนได้รับเป็นรายสัปดาห์เมื่อสิ้นสุดโครงการ ฯ มีการให้รางวัลกับแกนนำที่มีผลการปฏิบัติงานครบทุกสัปดาห์ การหมุนเวียนให้ความรู้หน้าเสาธงของแกนนำนักเรียน โรงเรียนเข้มงวดในการคัดเลือกอาหาร ขนม ที่จำหน่ายในโรงเรียนให้เป็นอาหารที่ดีมีคุณภาพและประโยชน์ต่อร่างกาย การจัดป้ายนิเทศ การประกวดเรียงความเรื่องของ “คนสุขภาพดีเมื่อรู้จักเลือกกินเลือกใช้” องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต) เป็นภาคีเครือข่ายการดำเนินงานเรื่องของการใช้มาตรการทางกฎหมายที่ในส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้  การจัดนำเสนอผลการดำเนินงานของโรงเรียน หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต) ที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายในระดับอำเภอเพื่อให้ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการทำงาน และสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกเพื่อให้มีการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหมู่บ้าน โรงเรียน ระดับอำเภอ เกิดเป็นองค์กรที่ดำเนินการในเรื่องของการพิทักษ์สิทธิคุ้มครองประชาชนในเรื่องการบริโภคสินค้าที่จำหน่ายในอำเภอนครไทย ซึ่งแต่เดิมไม่มีองค์กรที่ดำเนินการหรือรับรู้ทุกข์ของชาวบ้านในเรื่องนี้ หน่วยงานภาครัฐก็ไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ด้วยข้อจำกัดของหน่วยงานที่หาผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงไม่ได้ในระดับอำเภอ ประชาชนจึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิและไม่มีความรู้ในเรื่องนี้จึงถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ    หากมีกลุ่มคนที่ทำเรื่องนี้จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพดีได้

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง