ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

กรมวิทย์โต้ข้อมูล"เส้นก๋วยเตี๋ยว"อันตรายเก่าแล้ว ส่งจนท.สุ่มตรวจในพื้นที่

by twoseadj @August,30 2008 09.33 ( IP : 222...53 ) | Tags : ข่าวสาร-ประชาสัมพันธ์

กรมวิทย์โต้ผลวิจัย"อันตรายจากเส้นก๋วยเตี๋ยว"ของ สกว.เป็นข้อมูลเก่า ส่งจนท.ลงพื้นที่สุ่มตรวจในตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ตอีกครั้ง ส่งตัวอย่างจากโรงงานหาสารปนเปื้อนคาดรู้ผลสัปดาห์หน้า

นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ถึงกรณีนักวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำรวจพบเส้นก๋วยเตี๋ยวมีสารปนเปื้อนหลายชนิดที่อันตรายต่อสุขภาพ ทั้งสารโพลาร์เกิดจากน้ำมันทอดซ้ำ สารอะฟลาท็อกซิน จากน้ำมันถั่วลิสงที่ใช้เคลือบเส้นก๋วยเตี๋ยวไม่ให้ติดเครื่องจักร รวมทั้งสารกันบูด สารส้ม อะลูมิเนียมว่า กรมวิทย์ฯ จะประสานสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อขอข้อมูลการวิจัยมาปรับปรุงระบบการตรวจวิเคราะห์เส้นก๋วยเตี๋ยวต่อไปว่าจะมีสารใดที่เป็นอันตรายบ้างเพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิทย์ฯสุ่มตรวจเฉพาะเส้นก๋วยเตี๋ยวที่วางจำหน่วยตามร้านค้าทั่วประเทศ เพื่อหาสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก ว่ามีค่าเกินมาตรฐานหรือไม่ เนื่องจากผู้ผลิตมักใส่สารชนิดนี้จำนวนมากเพื่อยืดอายุเส้นก๋วยเตี๋ยวให้นานขึ้น


"กฎหมายกำหนดให้ไม่ใส่สารกันบูดเกินกว่าค่ามาตรฐาน คือ ไม่ 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แต่ไม่ได้หมายความว่าหากเกินกำหนดแล้วร่างกายจะได้รับอันตรายจากการรับประทานเส้นก๋วยเตี๋ยวทันที เพราะจะต้องรับประทานในครั้งเดียวมากถึง 10 กิโลกรัม จึงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากได้รับสารดังกล่าวในปริมาณเล็กน้อย แต่ติดต่อกันเป็นเวลานานก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน  โดยทำให้สารพิษสะสมในร่างกายได้ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของตับและไตลดลง"

นพ.นิพนธ์กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ (29 สิงหาคม) เจ้าหน้าที่ของกรมวิทย์ฯออกสุ่มตรวจเส้นก๋วยเตี๋ยวตามตลาดสด ร้านค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 100 ตัวอย่าง ซึ่งมาจากโรงงานผลิตประมาณ 300 แห่งทั่วประเทศ เพื่อจะวิเคราะห์หาสารตามที่ผลการวิจัยของ สกว.ตรวจพบ เช่น ในกระบวนการผลิตใช้สารโพลาร์ สารอะฟลาท็อกซิน น้ำมันพืช ในปริมาณเท่าใด และน้ำมันที่ติดอยู่กับเส้นเป็นน้ำมันชนิดใด ระหว่างน้ำมันพืช น้ำมันถั่ว หรือน้ำมันเครื่องจักรที่อาจจะติดมาระหว่างกระบวนการผลิต สัปดาห์หน้าจะรู้ผล และจะขยายผลโดยสุ่มตรวจเส้นก๋วยเตี๋ยวทั่วประเทศ

นพ.มานิตย์ อรุณากูร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากการสำรวจร้านก๋วยเตี๋ยวครั้งล่าสุดเมื่อกลางปีที่ผ่านมา พบว่ามีร้านก๋วยเตี๋ยวกว่า 75,000 แห่งทั่วประเทศส่วนใหญ่ใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงที่เสี่ยงปนเปื้อนสารอันตราย อย่างเช่น มีการใช้สารกันเสียชนิดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน ร้อยละ 22  ผักต่างๆ ที่ใช้เป็นส่วนผสม อาทิ ถั่วงอก คะน้า และต้นหอม พบมีสารกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนร้อยละ 4-11 มีการใช้น้ำส้มสายชูไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 26 และพบสารพิษอะฟลาท็อกซินที่เกิดจากเชื้อราในพริกป่น ถั่วปน ร้อยละ 18 ซึ่งทั้งหมดต่างเพิ่มอัตราเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งมากขึ้น

"ส่วนข้อมูลการวิจัยของ สกว.เป็นข้อมูลเก่าเก็บตัวอย่างมาตั้งแต่ปี 2549-2550 แต่เพิ่งมาเปิดเผยข้อมูลในปี 2551 ซึ่งหากมีการสุ่มตรวจขณะนี้จะรู้ว่ามีเส้นก๋วยเตี๋ยวที่มีสารปนเปื้อนเกินมาตรฐานกำหนดลดลงจากผลการสำรวจของ สกว. อย่างแน่นอน"

นพ.มานิตย์กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา อย.ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวอย่างมาก โดยได้จัดโครงการอบรม "การผลิตก๋วยเตี๋ยวให้ปลอดภัยและได้มาตรฐาน" ทั่วประทศ พร้อมจัดหลักสูตรอบรมโรงงานผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวขนาดใหญ่ที่ส่งจำหน่ายทั่วประทศ มีทั้งสิ้น 13 แห่ง โดยมีนักวิชาการ นักโภชนาการ ให้ความรู้เรื่องสุขอนามัย เทคนิคและวิธีการผลิตที่ปลอดภัย การคัดเลือกวัตถุดิบที่สะอาด ปลอดภัย และถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อพัฒนาเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานการผลิตที่ดี (จีเอ็มพี)

                                                                                                                                    ที่มา:มติชนออนไลน์ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง